อาชญากรรม เกิดจากบุคคลจิตไม่ปกติ ที่อยู่ร่วมกับชุมชน

อาชญากรรม เกิดจากบุคคลจิตไม่ปกติ ที่อยู่ร่วมกับชุมชน

อาชญากรรม
เกิดจากบุคคลจิตไม่ปกติ
ที่อยู่ร่วมกับชุมชน

ปัจจุบันปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนเกือบทุกวันว่าเกิดคดีอาชญากรรมอันเกิดจากบุคคลจิตไม่ปกติ เช่นเป็นคนวิกลจริต เป็นผู้ติดสุรา หรือยาเสพติดเกินขนาดทุกวันเป็นเวลานานจนทำให้สมองรวมทั้งสภาพจิตใจไม่สามารถควบคุมได้ หรือไม่รู้สภาพการกระทำของตนว่าทำอะไรลงไปแล้วก่อเหตุร้าย เช่นทำร้ายบุคคลในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ ถึงบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตเป็นที่เศร้าสลดใจ ทำร้ายหรือฆ่าบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการรังควานก่อความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านเป็นเวลานาน แม้เจ้าหน้าที่จะเข้ามาระงับเหตุส่วนใหญ่ก็เพียงแต่นำไปควบคุมตัวเพื่อสงบอารมณ์ จากนั้นก็ปล่อยตัวกลับมาอยู่บ้าน ก่อความเดือดร้อนหวาดกลัวแก่สังคมต่อไป และในที่สุดบุคคลเหล่านี้ก็จะกระทำความผิดร้ายแรงดังกล่าวมาข้างต้นในที่สุด ฯลฯ

ดังนั้น นอกจากจะมีกฎหมายลงโทษบุคคลจิตไม่ปกติที่ก่อเหตุร้ายแรง เราจำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวบุคคลดังกล่าวไปรักษาบำบัดทางจิตแล้วตั้งแต่ต้นเพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายแก่ชุมชน รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็น

แต่เดิมกฎหมายสำคัญในประเทศไทยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับบุคคลจิตไม่ปกติอยู่ 2 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวกับคดีอาญา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติถึงการรับโทษอาญาผู้กระทำผิดที่จิตไม่ปกติ โดยมาตรา 65 บัญญัติว่า

Advertisement

“ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

ดังนั้น บุคคลจิตไม่ปกติเพราะจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน และได้กระทำผิดในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ บุคคลนั้นถือว่าเป็นผู้กระทำผิดอยู่ เพียงแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญาเท่านั้น

Advertisement

การวินิจฉัยว่าผู้กระทำผิดที่มีจิตไม่ปกตินั้นจะพิจารณาเฉพาะในขณะกระทำผิดว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เท่านั้น แม้หลังกระทำผิดเขากลับมารู้ผิดชอบเหมือนบุคคลทั่วไป เขาก็ยังได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 65 เช่นเดิม

ดังเช่นเคยมีตัวอย่างคดีอาญาที่มารดาและป้ามีอาการวิกลจริต พูดจาไม่รู้เรื่อง สวดมนต์ลั่นบ้านทั้งวัน และมารดาได้ใช้ให้ป้าเอามีดทำร้ายบุตรสาวของตนซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ของป้าจนบุตรสาวถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนได้ส่งบุคคลทั้งสองไปให้จิตแพทย์ตรวจวินิจฉัย ต่อมาแพทย์ได้มีความเห็นว่าบุคคลทั้งสองเป็นคนวิกลจริตและกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ พนักงานอัยการพิจารณาผลการตรวจวินิจฉัยของจิตแพทย์ดังกล่าวแล้ว เห็นว่าบุคคลทั้งสองกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 65 วรรคแรก และทราบว่าบุคคลทั้งสองยอมเข้ารับการรักษาทางจิตอย่างจริงจัง ต่อมาได้กลับเข้าอยู่กับสังคมตามปกติ

เหตุที่รัฐต้องทำความตกลงกับผู้กระทำผิดให้เข้ารับการรักษาก็น่าจะเป็นเพราะว่าได้มีการสั่งไม่ฟ้องและขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารนำตัวผู้กระทำผิดที่มีการป่วยทางจิตเข้ารับการรักษาได้ การที่รัฐจะบังคับผู้ป่วยทางจิตเข้ารับการรักษาย่อมไม่สามารถกระทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 28 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ฯลฯ” ดังนั้น การบังคับให้บุคคลเข้ารับการรักษาจึงกระทำมิได้เพราะมีผลกระทบต่อมาตรา 28 วรรคแรกดังกล่าว นอกจากนั้นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า “ในการบริการของสาธารณสุข ฯลฯ ในกรณีที่มีผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใดจะให้บริการนั้นมิได้ ฯลฯ”

ดังนั้น การที่จะนำผู้ป่วยทางจิตไปรับการรักษาโดยบุคคลนั้นไม่ยินยอมจึงกระทำมิได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจรัฐไว้ชัดแจ้งหรือมีกฎหมายบัญญัติให้ศาลออกคำสั่งให้ส่งตัวบุคคลนั้นไปรับการรักษาจึงจะกระทำได้ ดังเช่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 48 บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า การปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษตามมาตรา 65 จะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้” จึงจะสามารถกระทำได้

สำหรับผู้มีจิตไม่ปกติที่กระทำผิดอาญาแต่ยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง มาตรา 65 วรรคสอง บัญญัติว่า ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ เช่นผู้ป่วยทางจิตดังกล่าวกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งมีโทษสูงโดยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ศาลอาจพิพากษาจำคุกเพียง 5 ปีก็ได้ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

กฎหมายอีกฉบับที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดที่มีจิตไม่ปกติ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 14 บัญญัติว่า หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็จะต้องงดการสอบสวนหรืองดการพิจารณาคดีของศาลแล้วดำเนินการส่งตัวบุคคลดังกล่าวไปรับการรักษาพยาบาลต่อไปจนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิต่อสู้คดีของผู้กระทำผิดอาญาซึ่งเป็นหลักสากลเพราะเมื่อเขาวิกลจริตไม่สามารถต่อสู้คดีได้ หากมีการสอบสวนคดีหรือพิจารณาคดีต่อไปก็ย่อมจะทำให้บุคคลเสียเปรียบในการต่อสู้คดีและไม่เป็นธรรมแก่เขาเป็นอย่างยิ่ง

กรณีผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก และเกิดเป็นคนวิกลจริตก่อนจำคุกหรือระหว่างจำคุก ศาลก็มีอำนาจสั่งให้ทุเลาการจำคุกไว้ก่อนจนกว่าอาการวิกลจริตจะหมดไป แล้วส่งให้บุคคลนั้นไปอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควร (มาตรา 246)

นอกจากนั้น หากจำเลยที่ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตและเกิดวิกลจริตก่อนประหารชีวิต ให้รอการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะหาย หากหายภายหลังหนึ่งปี ก็ให้ลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต (มาตรา 248)

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องมาตรการทางกฎหมายที่ใช้กับผู้ป่วยทางจิต ที่ได้ก่อคดีอาญาขึ้นแล้ว แต่ไม่มีกฎหมายสำหรับดำเนินการกับบุคคลจิตที่ไม่ปกติและมีพฤติการณ์จะก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้ และหลังจากได้รับบำบัดรักษาทางจิตแล้ว ก็จะต้องมีมาตรการติดตามพฤติการณ์ว่าอาจจะก่อเหตุร้ายขึ้นอีกหรือไม่ หากมีพฤติการณ์ขึ้นอีกก็จะต้องมีมาตรการดำเนินการโดยด่วนเพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายแก่ประชาชนได้ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลจิตไม่ปกติที่ไม่แสดงออกซึ่งอันตรายกว่าผู้แสดงพฤติการณ์ไม่ปกติออกมาให้เห็น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยทางจิตลักษณะเช่นนี้จำนวนมาก เช่นนักเรียนหรือนักศึกษาใช้อาวุธปืนร้ายแรงกราดยิงเพื่อนๆ รวมทั้งครู หรือมีคนจิตไม่ปกติยิงคนตามห้างสรรพสินค้าตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยบุคคลเหล่านี้ไม่แสดงพฤติการณ์ผิดปกติออกมาให้เห็นแม้กระทั่งบุคคลในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านก็ไม่ทราบ และปัจจุบันทนายความของจำเลยในสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อยมักแนะนำให้ลูกความรับสารภาพต่อศาลโดยอ้างว่ากระทำผิดเพราะมีอาการทางจิตเพื่อหวังผลการลดโทษตามกฎหมาย อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกชายป่วยทางจิตใช้อาวุธปืนยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเกือบเสียชีวิต จากการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งป่วยทางจิตรับสารภาพว่าเขายิงเรแกนเพียงเพื่อจูงใจให้นางเอกภาพยนตร์ชื่อดังคนหนึ่งให้ความสนใจเขาเท่านั้นเอง ในที่สุดคณะลูกขุนฟังว่าเขากระทำโดยมีอาการทางจิตจริง จึงชี้ขาดไม่ให้เขาต้องรับโทษอาญาแล้วให้ส่งตัวไปรักษาอาการป่วยแทน ทำให้ประธานาธิบดีเรแกนผิดหวังมากจนเกิดความคิดจะแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีของคณะลูกขุนในสหรัฐเสียใหม่

ปัจจุบันปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้ป่วยทางจิตกับบุคคลทั่วไปน่าจะลดลงได้บ้าง

เพราะประเทศไทยได้ประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 ซึ่งมีกลไกต่างๆ ในการนำผู้ป่วยทางจิตที่มีพฤติการณ์จะก่ออาชญากรรมร้ายแรงขึ้นไปรักษาพยาบาลมีขั้นตอนการติดตามผลการรักษาต่อเนื่องและมาตรการป้องกันมิให้ผู้ป่วยทางจิตก่อเหตุร้ายกับบุคคลอื่นขึ้นอีก

ดังนั้น จึงจะกล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 นี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการดำเนินการกับผู้ป่วยทางจิตมีพฤติกรรมก่อหรือจะก่อเหตุร้ายในชุมชนเท่านั้น

พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ความผิดปกติทางจิต”
ไว้ในมาตรา 3 ว่า “หมายความว่า อาการผิดปกติของจิตที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ความจำ สติปัญญา ประสาทการรับรู้ หรือการรู้เวลา สถานที่หรือบุคคล รวมทั้งอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากสุราหรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท”

จากคำจำกัดความมาตรา 3 ดังกล่าว ผู้มีความผิดปกติทางจิตนั้นมีทั้งเกิดจากอาการป่วยทางจิตหรือประสาทซึ่งเป็นโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป กับความผิดปกติทางจิตที่เกิดจากการกระทำของผู้ป่วยเอง คือเกิดจากการเสพสุราหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทจำนวนมากเป็นเวลานานๆ จนเกิดอาการทางจิต ซึ่งเราเรียกทั่วไปกันว่า อาการประสาทหรือจิตหลอนหรือมีการฟั่นเฟือน ผิด หลง จนก่อเหตุร้ายขึ้น และปัจจุบันเหตุร้ายจากอาการจากการเสพสุราหรือสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนี้น่าจะเกิดขึ้นมากกว่าเหตุอื่น

มีข้อสังเกตว่าแต่เดิมประมวลกฎหมายอาญาไม่ยินยอมให้อ้างการกระทำผิดเพราะเสพสุราหรือยาเสพติดเป็นเหตุยกเว้นโทษหรือลดหย่อนโทษดังปรากฏในมาตรา 66 บัญญัติว่า “ความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตามมาตรา 65 ไม่ได้ ฯลฯ” เช่นเสพยาบ้าหรือดื่มสุราแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศไปก่อเหตุข่มขืนหญิง หรือไปทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่นเนื่องจากฤทธิ์สุราหรือยาเสพติดก็จะอ้างความมึนเมามาเป็นเหตุไม่ต้องรับโทษหรือลดหย่อนผ่อนโทษไม่ได้ แต่ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฯ มาตรา 3 หากการเสพสุราหรือสารเสพติดนานมากเป็นประจำทุกวันจนทำลายสุขภาพทางกายและทางจิตจนกลายเป็นโรคจิต ซึ่งเข้าลักษณะของบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตถึงขั้นวิกลจริตก็อาจตีความได้ว่าเป็นผู้ป่วยอันควรได้รับการรักษาและอาจได้รับการลดหย่อนโทษตามกฎหมายเช่นกัน ซึ่งเป็นการพิจารณาทางการแพทย์

แต่ในความรู้สึกของบุคคลจะยอมรับการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่ผู้เสพยาเสพติดหรือสุราจนกลายเป็นผู้วิกลจริตหรือไม่ ไม่อาจคาดเดาได้

การบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตทั่วไปก็ต้องอาศัยหลักความยินยอมจากผู้ป่วยเสียก่อนเหมือนผู้ป่วยโรคทั่วไปที่ต้องอาศัยหลักความยินยอมจากผู้ป่วยเสียก่อน (มาตรา 21) เว้นแต่กรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง กรณีที่บุคคลนั้นมีพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายต่อสังคมตามมาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า ให้รัฐใช้มาตรการเบื้องต้นให้เข้ารับการรักษาได้คือ (1) บุคคลที่ภาวะอันตรายหรือ (2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา รัฐก็สามารถใช้มาตรการบังคับให้ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาเพื่อป้องกันเหตุร้ายได้ทันที โดยพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ภาวะอันตราย” หมายความว่า พฤติกรรมที่บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตแสดงออกโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

“ความจำเป็นต้องรับการรักษา” หมายความว่า สภาวะของผู้ป่วยซึ่งขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมในการบำบัดรักษา และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว

เนื่องจากผู้ป่วยทางจิตที่มีภาวะอันตรายจะก่อเหตุร้ายแก่บุคคลอื่นๆ มักจะอยู่ในชุมชนต่างๆ รวมทั้งในชุมชนนอกเมือง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการกับบุคคลดังกล่าวเพื่อนำตัวไปบำบัดรักษาอาจกระทำได้ล่าช้าจนก่อเหตุร้ายขึ้นแล้ว ซึ่งนับว่าไม่ทันการณ์ ดังนั้น มาตรา 23 จึงบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนช่วยแจ้งข้อมูลให้แก่รัฐว่า “ผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์เชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะตามมาตรา 22 ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยไม่ชักช้า”

สำหรับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากประชาชนหรือพบบุคคลที่มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะก่อเหตุร้ายด้วยตนเอง ก็มีอำนาจนำตัวบุคคลนั้นไปยังสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานบำบัดรักษาโดยไม่ชักช้า เพื่อรับการวินิจฉัยและประเมินอาการเบื้องต้นโดยไม่โดยไม่ชักช้า (มาตรา 24)

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการสรุปกลไกหรือมาตรการที่สำคัญๆ ในการดำเนินการกับผู้ป่วยทางจิตที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปรักษาบำบัดเพื่อป้องกันเหตุร้ายต่อประชาชน แต่มีข้อสังเกตว่าแม้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 มีมาตรการในการดำเนินการกับบุคคลดังกล่าวทั้งก่อนก่อเหตุร้ายและหลังก่อเหตุร้ายไว้เป็นอย่างดี แต่ไม่ค่อยปรากฏข่าวให้ทราบว่า ได้มีการใช้มาตรการที่สำคัญดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นประจำในประเทศไทยที่มีกฎหมายฉบับต่างๆ นับพันฉบับ

แต่ปัญหาสำคัญมักเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 อาจจะเกิดหลายประการ เช่นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องอาจไม่ทราบถึงความสำคัญของมาตรการสำคัญต่างๆ เหล่านี้เท่าที่ควร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีอำนาจหน้าที่ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมนั้นมักจะมีประชาชนร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนอยู่เสมอว่า เมื่อมีคนจิตผิดปกติแสดงพฤติการณ์จะก่อเหตุร้ายแก่บุคคลในบ้านหรือในชุมชนและไปแจ้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด โดยอ้างว่ายังไม่ได้กระทำผิดซึ่งหน้าไม่มีอำนาจจับกุมหรือจับกุมไปแล้วก็ต้องปล่อยตัวกลับ จนบุคคลดังกล่าวฆ่าหรือทำร้ายบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลในชุมชนจึงไปจับกุมดำเนินคดี

การที่ตำรวจอ้างเช่นนั้นเห็นได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการดำเนินการกับบุคคลจิตไม่ปกตินั้นมีกฎหมายให้อำนาจดำเนินการมากมายทั้งประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายยาเสพติด และพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจทุกแห่งด้วย

อนึ่ง การซักซ้อมแนวทางปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางจิตนั้น ควรดำเนินการร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่น เช่นเทศบาล เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ฯลฯ

นอกจากนั้นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่ไม่เพียงพอทางราชการก็อาจใช้วิธีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการอื่นๆ ให้ร่วมปฏิบัติการตามหน้าที่ได้เพราะมาตรา 3 บัญญัติว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีคุณสมบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงอาจอาศัยอำนาจตามมาตรา 3 แต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เช่นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)

ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนส่งเสริมงานด้านสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่ายกย่องอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งแรก อสม. ก็ได้เสียสละเข้าช่วยเหลือดูแลประชาชน จนทำให้โรคติดต่อดังกล่าวได้สงบลงและได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพสูงประเทศหนึ่งในโลก อสม. ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชนต่างๆ จะช่วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันเหตุร้ายแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยโรคจิตได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน ประการสำคัญที่สุดคือประชาชนในชุมชน ที่ทางราชการควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ได้รับทราบกลไกสำคัญๆ ของพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 รวมทั้งขั้นตอนและวิธีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อนำตัวผู้ป่วยทางจิตที่น่าจะก่อเหตุร้ายไปเข้ารับการบำบัดรักษาได้ทันท่วงที ก่อนก่อเหตุร้ายอันน่าสลดใจขึ้นให้เห็นเป็นประจำดังเช่นที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

เชื่อว่าหากมีการบูรณาการจากภาคประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐในการบังคับใช้พระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2552 ดังกล่าวข้างต้น ปัญหาอาชญากรรมอันเกิดจากผู้ป่วยโรคจิตที่อยู่ร่วมกับสังคมก็คงลดลงและชุมชนก็จะมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ศ.พิเศษ กุลพล พลวัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image