ภาพเก่าเล่าตำนาน : กองทัพญี่ปุ่นไปทำอะไร…ใน‘ลำปาง’ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

คนไทย…แทบไม่เคยได้ยินเรื่องราวว่า ลำปาง เคยเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน

7 ธันวาคม พ.ศ.2484 กองทัพลูกพระอาทิตย์นับหมื่นบุกขึ้นฝั่งอ่าวไทย…เล่าขานกันไปชั่วลูกชั่วหลานมิรู้เบื่อ

ทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่ายาวราว 430 กิโลเมตร สะพานข้ามแม่น้ำแคว… มีเชลยศึกฝรั่งสังเวยไม้หมอนรถไฟตายไปราว 1.5 หมื่นคน ดังไปทั่วโลก เพราะทหารญี่ปุ่นจับเชลยศึกชาวออสเตรเลีย สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และชาวเอเชีย มากกว่า 6 หมื่นคน มาเป็น “ทาส” สร้างทางรถไฟ

ฮอลลีวู้ด นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ชื่อ The Bridge on River Kwai เมื่อปี พ.ศ.2500

Advertisement

หลังสงครามสงบ…รัฐบาลออสเตรเลียส่งเจ้าหน้าที่มาสืบค้น หาร่องรอย หากระดูกของเชลยศึกทหารออสเตรเลีย เขียนประวัติศาสตร์ สร้างสุสานจารึกชื่อทหารนับหมื่นนาย

กาญจนบุรี…กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว

คนไทยทราบข้อมูลทั้งหลาย เพราะออสเตรเลียมาค้นคว้า เรียบเรียงให้ มีแม้กระทั่งรูปถ่าย ออสเตรเลียมาดูแล “ช่องเขาขาด” (Hellfire Pass) ที่ทาสเชลยศึกสงครามเจาะช่องเขาให้รถไฟผ่าน…

Advertisement

กองทัพญี่ปุ่นมายกพลขึ้นบก 7 พื้นที่ตามชายฝั่งอ่าวไทย ทหารไทยที่ตั้งอยู่พื้นที่ใกล้เคียงยิงต่อสู้ ปกป้องเอกราช ของแผ่นดินไทย ทหารไทยเสียชีวิตจากการทำหน้าที่

7 ธันวาคม พ.ศ.2484 ราวเที่ยงวัน…มีคำสั่งให้ทหารไทยหยุดยิง…ญี่ปุ่นขึ้นฝั่งได้หมด

ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าเมืองไทยทาง สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสมุทรปราการ ในเวลาใกล้เคียงกัน ญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน

รัฐบาลไทยร้องขอความช่วยเหลือไปที่รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งต่อมาไทยได้รับข้อความจาก วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ความว่า…

“…หากคุณถูกโจมตีให้ป้องกันตัวเอง การรักษาเอกราชและอธิปไตยของไทยที่แท้จริงเป็นผลประโยชน์ของอังกฤษ และเราจะถือว่าการโจมตีคุณเป็นการโจมตีตัวเราเอง…”

นี่เป็นภาษานักการทูตครับ…แปลเป็นไทยว่า… “ตัวใครตัวมันเว้ย”

ต้องเข้าใจนะครับ…เวลานั้น อังกฤษเองก็แทบจะเอาตัวไม่รอดในการทำสงครามกับเยอรมันในยุโรป และบรรดาอาณานิคมของอังกฤษ คือ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มลายู โดนกองทัพญี่ปุ่นกวาดเรียบ…

ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาในไทยหลายหมื่นนาย รวมถึงกรุงเทพฯ …

21 ธันวาคม พ.ศ.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำพิธีลงนาม ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นในพระอุโบสถวัดพระแก้ว…

ถือว่า…ไทยกับญี่ปุ่น คือ พันธมิตรร่วมรบ

มหาอำนาจญี่ปุ่น ขนย้าย ทหาร ยุทโธปกรณ์ เข้าสู่ประเทศไทย

กองทัพญี่ปุ่น กำหนดแนวทางการปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายมาเรียบร้อยแล้ว ทหารลูกซามูไรส่วนหนึ่ง เข้าไปตั้งค่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เตรียมการสร้างทางรถไฟเพื่อบุกเข้าไปในพม่าผ่านกาญจนบุรี…(จะขอไม่กล่าวถึง)

กองทัพลูกพระอาทิตย์อีกนับหมื่น…ขึ้นไปทางภาคเหนือของไทย ใช้พื้นที่ภาคเหนือของไทยเพื่อเตรียมการรุกเข้าสู่พม่า…เพื่อจะบุกเข้าอินเดีย…

ทหารญี่ปุ่นผู้แกร่งกล้า ประสานงานกับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาฝังตัว ทำมาค้าขายอยู่ในเมืองไทยเหนือจรดใต้ ส่งข่าว ทำหน้าที่เป็นสายลับมานานนับปี

กองทัพญี่ปุ่นมีข่าวกรองแม่นยำ ทะลุปรุโปร่ง ญี่ปุ่นมีสถานกงสุลที่เชียงใหม่ …พอจะทราบล่วงหน้าว่า “กองทัพลูกซามูไร” จะมาบุกไทย

ช่วงเวลานั้น…เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เป็นที่ตั้งของบริษัทค้าไม้ ตัดโค่นไม้สัก ของฝรั่ง โดยเฉพาะอังกฤษ อเมริกัน รวมทั้งบริษัทของชาวอินเดีย ชาวพม่า ชาวตะวันตกเข้ามาทำธุรกิจ ทำเงิน ทำทองมหาศาล

ภาคเหนือของไทย คือ บ่อเงิน บ่อทอง ของบริษัทต่างๆ ที่ได้สัมปทานป่าไม้ ร่ำรวย…ญี่ปุ่นเล็งเอาไว้แล้ว…

กองบัญชาการทหารญี่ปุ่น ตั้งที่ ลำปาง…

26 ธันวาคม พ.ศ.2484 มีการอออกกฎหมายให้ญี่ปุ่น เข้ายึด-ควบคุมทรัพย์สินของฝ่ายศัตรูได้ในภาวะวิกฤต

25 มกราคม พ.ศ.2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ อเมริกา

13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2485 ประกาศใช้กฎหมายให้อำนาจยึดทรัพย์สินของศัตรู ซึ่งมีผลไปถึงบริษัทของอังกฤษ อเมริกัน เนเธอร์แลนด์ ที่เป็นบริษัทของชนชาติศัตรู

มีรายละเอียดปลีกย่อย…ข้อยกเว้นที่ไม่ขอกล่าวถึง

ชนชาติศัตรูทั้งหมด…โดนกองทัพญี่ปุ่นขับไล่ออกจากลำปาง

อาคารบริษัท บอมเบย์พม่า ที่เพียบพร้อม กลายเป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่น

บริษัท เคนเนธ แม็คเคนซี (Kenneth Mackenzie) และโรงเรียนวิชชานารี แปรสภาพเป็นกองร้อยที่พักทหารญี่ปุ่น

โรงแรมซัวหลี (Xua-Li Hotel) ณ ถนนบุญวาทย์ ในเมืองลำปางกลายเป็นที่พักและที่ทำการของ “หน่วยปลดปล่อยพม่า”

กองทัพพายัพของไทยที่ตั้งขึ้นเพื่อเข้ายึดเชียงตุง เข้ายึดที่ทำการสถานกงสุลอังกฤษ ตั้งเป็นกองบัญชาการ

โรงพยาบาลแวนแซนต์วูต …(Van Santvoord Hospital) โรงพยาบาลของมิชชันนารี ถูกปรับเป็นโรงพยาบาลทหาร เปลี่ยนชื่อ เป็นโรงพยาบาลวิชิตสงคราม (ชื่อผู้บัญชาการกองพลในกองทัพพายัพ)

กองทัพญี่ปุ่นไม่ก้าวล่วงเรื่องของโบสถ์คริสต์ สถานที่ทางศาสนาใดๆ ให้กระทบกระเทือนจิตใจชาวเมืองลำปาง

อังกฤษบันทึกไว้ว่า…การเข้ายึดครองของทหารญี่ปุ่น สร้างความเสียหายกิจการ ธุรกิจทำไม้

อำนาจของ “ปืน” ทรงพลังกว่าทุกสิ่ง…

เมื่อญี่ปุ่นมีอำนาจสูงสุด…บรรดาพ่อค้าวาณิช ชาวพม่า อินเดีย ที่ทำธุรกิจในลำปาง “กลับหลังหัน” ให้การสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น

เป็นเจตนารมณ์ของกองทัพพายัพของไทย และกองทัพญี่ปุ่นในการเข้ายึดครองทรัพย์สิน… ผู้ที่ดำเนินการตามกฎหมาย คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง…ซึ่งพอจะมีบันทึกไว้ดังนี้…

อาคารบริษัท อีสต์เอเชียติก (East Asiatic) ที่อังกฤษเป็นเจ้าของ ถูกยึดไปเป็นจวน (บ้านพัก) ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

อาคารบริษัท บัทเลอร์แอนด์เว็บสเตอร์ (Butler and Webster) ถูกยึดเป็นที่ทำการเทศบาลลำปาง

อาคารห้าง บอมเบย์พม่า ถูกยึดเป็นสถานที่ราชการ

แน่นอนที่สุด การเข้ายึดครองอาคารสถานที่ทั้งปวง เป็นความขัดแย้งที่แก้ด้วยการ “ใช้กฎหมายนำทาง” โดยกองทัพพายัพร่วมมือกับญี่ปุ่น

มีข้อถกเถียงระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับทหารญี่ปุ่น เรื่องสิทธิการ “ยึดครองที่ดิน” ที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการแบบไม่มีขอบเขต

อังกฤษได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ คือ Bombay Burmah, Borneo, Anglo Thai และ Leonowen

ช่วงแรกกองทัพไทยแต่งตั้ง พลโท จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็น “แม่ทัพพายัพ” ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งไปเป็น รมว.พาณิชย์ ต้องกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ

กรกฎาคม 2485 แต่งตั้ง พลตรี จิระ วิชิตสงคราม มาดำรงตำแหน่งแม่ทัพพายัพแทน

ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ระเริงใจ

เมื่อมีทหารนับหมื่นนายทั้งไทยและญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ และประกาศสงครามกับอังกฤษ อเมริกา…กองทัพเดินได้ด้วยท้อง….ทหารต้องกินอาหาร

เกิดภาวะขาดแคลนข้าว…คณะกรรมการของกองทัพไทย-ญี่ปุ่น ส่วนราชการในภาคเหนือ ต้องเข้ามาแก้ปัญหา จัดแบ่งปันส่วนอาหาร

จะว่าไปแล้ว…ทั้งทหารไทยและญี่ปุ่นต่างก็แย่งข้าวสารและอาหารอื่นๆ เกิดการกักตุน โก่งราคา ในพื้นที่ภาคเหนือแบบเต็มพิกัด

กองทัพญี่ปุ่นจะให้ราคาข้าวสูงกว่ากองทัพไทย

เป็นข้อมูลสำหรับท่านผู้อ่านนะครับ…หน่วยทหารที่ทำหน้าที่จัดหาเสบียงอาหาร เสื้อผ้า หมอน ผ้าห่ม น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำมัน ฯลฯ คือ ทหารเหล่าพลาธิการ

หมู ปลา ไก่ น้ำปลา กะปิ หอม กระเทียม ขาดแคลนไปหมด

สินค้าที่ไม่อยู่ในความคิดแม้แต่น้อย คือ หนังสัตว์ ที่จะนำมาทำเป็นรองเท้าทหาร ซองปืน ถุงใส่สิ่งของสัมภาระ ก็เป็นที่ต้องการ

หนังสัตว์…ต้องฟอกย้อมเพื่อให้มีคุณภาพดี คงทน

และนี่คือประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ ว่ากระทรวงกลาโหมต้องจัดตั้งองค์การฟอกหนัง องค์การค้าอาหารสำเร็จรูป (อสร.) องค์การแบตเตอรี่ องค์การแก้ว องค์การทอผ้า ในกรุงเทพฯ

เพราะเวลานั้น…ไม่มีเอกชนหน้าไหนกล้ามาลงทุน…

เมืองลำปาง เป็นศูนย์บัญชาการใหญ่ สั่งการ ควบคุมการรบและความเป็นอยู่ของทหารนับหมื่นที่กระจายกันอยู่

ทหารหนุ่มญี่ปุ่นที่มาจากต่างบ้านต่างเมือง ก่อเหตุวิวาทกับชาวบ้านไม่มากนัก เพราะถูกปลูกฝังวินัยอย่างเข้มงวด

มีเหตุทหารม้าญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่ง ขี่ม้าไปตัด เก็บกล้วยของชาวสวนเพื่อนำไปกิน…ทหารญี่ปุ่นนำเก้าอี้ไม้ของพระในวัดไปทำฟืนหุงหาอาหาร…เหตุส่วนใหญ่ คือ เก็บพืชผักของชาวบ้านไปเป็นอาหารและนำไปเป็นอาหารเลี้ยงม้าจำนวนมหาศาล

ญี่ปุ่นบันทึกไว้ว่า มีซ่องโสเภณี 21 แห่งในเมือง

ต่อมา…ทหารญี่ปุ่นติดโรคจากซ่องกันระงมไปหมด “กามโรค” แพร่ระบาดไปทั่วพื้นที่หลายเมือง หลายจังหวัดในภาคเหนือ ต้องตั้งคณะกรรมการร่วมควบคุมใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน…

ขอกลับมากล่าวถึงการสู้รบที่จะเข้าไปยึดพื้นที่ในดินแดนพม่า…

มีการเจรจาลับ เพื่อให้ไทยได้รับ “รางวัล” ตอบแทนแบบจุใจ คือ กองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่นจะแยกกันบุกเข้าพม่า… สำหรับกองทัพไทยให้พุ่งเข้ายึดเชียงตุง

รัฐบาลไทยตกลงรับข้อเสนอ…

กลาโหมไทยจัดตั้ง “กองทัพพายัพ” ระดมทหารมาหลายหน่วย จากปราจีนบุรี จากโคราช มีทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ รวมทั้งกำลังทางอากาศ

เมืองลำปางซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ บก.ทหารญี่ปุ่น

24 ธันวาคม 2484 ไทยได้จัดตั้งกองทัพพายัพ มีภารกิจทำการรบร่วมกับกองทัพญี่ปุ่นในพื้นที่ตามแนวถนนตาก-แม่สอดขึ้นไป เพื่อเข้ายึดเมืองตองยี ลอยก่อ และเมืองยอง

แนวรุกที่ 2 ของกองทัพพายัพ คือ รุกจากแม่ฮ่องสอนเข้าไปจนไปจรดแม่น้ำโขง เพื่อกวาดล้างทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เข้ายึดเมืองเชียงตุง และเมืองต่างๆ ในสหรัฐไทยใหญ่หรือรัฐฉานของพม่า

กองทัพอังกฤษเผ่นหนีออกไปจากพม่าก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อกองทัพพายัพบุกเข้าไป จึงปะทะกับกองทหารจีนคณะชาติของเจียงไคเช็ค ไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก

ที่โหดสุดสุดคือ ทหารไทยต้องต่อสู้กับธรรมชาติอันแสนทุรกันดาร ดินโคลน และไข้ป่าที่ป่วย…กลืนชีวิตทหารไทยไปทีละน้อย

10 พฤษภาคม 2485 กองทัพพายัพเคลื่อนเข้ารัฐฉาน กองพลที่ 2 ของพลตรีหลวงไพรีระย่อเดช ได้รับคำสั่งให้เข้าตีเมืองสาด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงตุงประมาณ 90 กม.

เมืองสาด อยู่ห่างจากเขตแดนไทยประมาณ 90 กม. ตัวเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขา ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยใหญ่ เผ่าไทยเขิน พูดภาษาไทยที่มีสำเนียง ประเพณีคล้ายชาวล้านนา

ทหารจีนกองพล 93 ยิงต่อสู้กับทหารไทยแบบเบาบาง แล้วถอนตัวออกไป กองพลที่ 2 จึงยึด “เมืองสาด” ไว้ได้

10 พฤษภาคม 2485 กองพลที่ 4 ของพันเอกหลวงหาญสงคราม ได้เคลื่อนกำลังจากแม่สาย เชียงราย ได้รับคำสั่งให้ยึดเมืองพยาค ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมของย่านนี้ และจะเข้าตีต่อไปเมืองเชียงตุง มีเครื่องบิน 10 เครื่องร่วมปฏิบัติการ ทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ ล่วงหน้าไปก่อน

20 พฤษภาคม 2485 กองพลที่ 4 ยึดเมืองพยาคได้

กองพลที่ 3 ของพลตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) เป็น “กองหนุน” เคลื่อนตามหลังกองพลที่ 4 ไปเพื่อสนับสนุนการเข้าตีเมืองพยาค จากนั้นจะแยกเข้าตีเมืองเชียงตุงด้วย

ทหารในกองพลของ พลตรี ผิน ชุณหะวัณ ส่วนใหญ่เป็นทหารมาจากภาคอีสาน คือ อุดร และโคราช

นี่เป็นการรบด้วยวิธีรุก ตามตำราวิชาทหารเป๊ะ

ที่หมายสุดท้ายที่ทุกหน่วยต้องไป คือ เมืองเชียงตุง

17 พฤษภาคม 2485 กองทัพพายัพปิดล้อมเมืองเชียงตุงสำเร็จ

5 มิถุนายน 2485 เจ้าบุญวาสน์วงศ์ษา ณ เชียงตุง ข้าหลวงนครเชียงตุง พร้อมด้วยกรมการเมืองได้เดินทางมาพบพลตรี ผิน ชุณหะวัณ เชิญพลตรีผิน นำกองพลที่ 3 เคลื่อนเข้าสู่นครเชียงตุง

รัฐบาลไทยมีเฮ…รับทราบ…กองทัพพายัพยึดเชียงตุงได้

สถาปนา “รัฐฉาน” ขึ้นเป็น “สหรัฐไทยเดิม” และแต่งตั้ง พลตรี ผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งข้าหลวง พร้อมกับเลื่อนยศขึ้นเป็น “พลโท”

ญี่ปุ่น…ใจถึง พึ่งได้ ไม่โยเย

20 สิงหาคม 2486 เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ลงนามร่วมกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้การยอมรับการผนวกสหรัฐไทยเดิมเข้าเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย

นี่คือ “รางวัลตอบแทน” ที่รัฐบาลไทยเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น

สถานการณ์ตีลังกากลับหัว…วิมานทลายที่เชียงตุง

15 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

22 กันยายน 2488 ไทยจำต้องส่งมอบเชียงตุงและเมืองในการปกครอง ให้กับกองพลที่ 7 ของอินเดีย (ลูกน้องอังกฤษ)

รัฐบาลไทยยุติการครอบครอง “สหรัฐไทยเดิม” …ถอนทหารกลับ

หลังจากนี้อังกฤษได้เข้ามามีบทบาทในการผนวกดินแดนนี้เข้ากับประเทศพม่าในเวลาต่อมา…

(เด็กหนุ่มทหารลูกพระอาทิตย์ไปตายนับหมื่นคนในพม่า…ที่เหลืออีกนับหมื่น ถอยทัพออกมา…รอดตายที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน…)

เมืองลำปาง คึกคัก มีชีวิตชีวา เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ…ที่สมควรให้ลูกหลานได้รับทราบนะครับ

Waseda.repo.nii.ac.jp. Chapter V Lampang during World War II: Government Policy …ภาพจาก mgronline.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image