เดินหน้าชน : ใกล้ปลดล็อก โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เมื่อกล่าวถึงประเด็นข้อถกเถียงกรณีกรมบัญชีกลางตรวจพบว่ามีผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพคนชราซ้ำซ้อนเงินเบี้ยบำนาญพิเศษ หรือเงินสวัสดิการช่วยเหลือตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตในหน้าที่ อันเป็นผลจากการเชื่อมโยงข้อมูลของกรมบัญชีกลางที่ตรวจสอบตามฐานข้อมูลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2563 พบว่ามีกว่า 15,000 คน ที่ต้องถูกเรียกเงินเบี้ยคนชราคืน

คนเฒ่าคนแก่ถูกเรียกคืนจำนวนเงินหลายหมื่นบาท บางคนก็เหยียบแสน หลายรายต้องผ่อนชำระคืน บางรายก็จ่ายคืนเต็มจำนวน และมีอีกมากมายที่อายุกว่า 80-90 ปี นักข่าวไปถามว่าจะทำยังไง ก็ได้คำตอบว่า จะเอาไปติดคุกก็ยอม ไม่มีปัญญาไปจ่ายคืน บางคนถึงขั้นเครียดกำเริบหนักขึ้นจากที่มีอาการความดันสูงอยู่แล้ว ส่วนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงนี่ยังทุกข์ทรมานใจ

หลายฝ่ายเห็นอกเห็นใจ เชื่อว่าเป็นการรับเบี้ยยังชีพคนชราโดยสุจริตใจ ที่สำคัญก็ไม่ใช่เรื่องระหว่าง “เจ้าหนี้” กับ “ลูกหนี้” เจ้าหน้าที่ อปท.ต่างก็กระดากใจ ที่เมื่อรับคำสั่งมาจากกระทรวงมหาดไทยให้ไปแจ้งเรียกคืนแต่ละบ้าน ต้องเตรียมคำพูดไปแจ้งกับผู้สูงอายุ เพราะขืนไม่ทำก็มีความผิดในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่

อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างมีความคืบหน้าอย่างมากในการเร่งบรรเทาความเดือดร้อนนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างมาพูดหาทางออก โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลาง ที่มองอย่างเป็นธรรมว่า เงินสวัสดิการช่วยเหลือพิเศษกับเงินเบี้ยคนชรา คนละส่วนกัน ครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกไปกับการทำหน้าที่เพื่อชาติก็เจ็บปวดพออยู่แล้ว ยามแก่เฒ่าไร้ลูกหลานที่จะมาเลี้ยงดู ก็ได้เงินจากส่วนที่ลูกทิ้งไว้ให้นี้แหละ ส่วนเบี้ยคนชราก็ชัดเจนอยู่แล้ว เป็นเงินสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐไว้ช่วยเหลือ
ผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะหยุดจ่ายก็ต่อเมื่อเสียชีวิต

Advertisement

เมื่อเร็วๆ นี้ ประภาส คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง บอกว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบเหล่านี้ให้สามารถจ่ายเงินได้ทั้งสองกรณี โดยไม่ติดขัดกับข้อระเบียบของกระทรวงมหาดไทยเอง ขณะที่กรมบัญชีกลางไม่มีอำนาจในส่วนนี้ หากทุกอย่างได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามระเบียบ และกรมบัญชีกลางได้รับเรื่องแก้ไขแล้ว ก็พร้อมจะส่งเงินให้กับกระทรวงมหาดไทยไปตามขั้นตอนจนถึงมือผู้สูงอายุตามสิทธิที่ควรได้รับทั้งสองกรณีต่อไป

อธิบดีกรมบัญชีกลางให้ความเห็นส่วนตัวว่า ผู้ที่รับเบี้ยคนชราเป็นเรื่องของส่วนบุคคลที่ควรได้รับ ส่วนสิทธิของการรับเงินสวัสดิการพิเศษของลูกที่รับราชการและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เปรียบเสมือนเป็นมรดก คนเป็นพ่อแม่ก็ควรได้รับเงินเหล่านี้ไปทั้งสองกรณี

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้วว่า กระทรวงมหาดไทยจะแก้ระเบียบที่เกิดปัญหา และได้แจ้งให้ อปท.ทั้งหมด 7,850 แห่งทั่วประเทศชะลอการดำเนินการเจรจาไปก่อน แยกเป็นผู้สูงอายุ 11,111 ราย ส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว 4,052 ราย ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการและอีกกว่า 1,700 ราย ยังไม่ได้ดำเนินการ

Advertisement

ส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพนั้น จะมีการปรับแก้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า “…ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน….”

ในส่วนของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีการประชุมไปแล้ว มีมติให้ชะลอการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จ่ายซ้ำซ้อนเอาไว้ก่อน พร้อมเดินหน้าตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงและแก้ไขระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ.2552 และ พ.ศ.2561
ในส่วนของเงินบำนาญ ที่มีอยู่ 24 ประเภท เพื่อให้ผู้สูงอายุบางกลุ่มสามารถรับสิทธิซ้ำซ้อนได้ อาทิ กลุ่มที่ได้รับบำนาญพิเศษ จากทายาทตามกฎหมาย ซึ่งก็ถือว่าเหมือนได้รับมรดก ไม่ใช่เงินจากสิทธิของตัวเอง

ฟังแล้วก็อุ่นใจแทน ทุกอย่างกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่นานเกินรอ จะได้เห็นระเบียบของกระทรวงมหาดไทยฉบับปรับปรุงใหม่ที่ปลดล็อกไปแบบยาวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image