‘สี จิ้นผิง’ประกาศชัยชนะ ‘จีนหลุดพ้นความยากจน’

‘สี จิ้นผิง’ประกาศชัยชนะ’จีนหลุดพ้นความยากจน’

‘สี จิ้นผิง’ประกาศชัยชนะ‘จีนหลุดพ้นความยากจน’

ปักกิ่งจัดงานประกาศเกียรติคุณเกี่ยวกับจีนหลุดพ้นความยากจน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นประธานในพิธี โดยประกาศว่า “ประเทศจีนได้รับชัยชนะหลุดพ้นจากความยากจนโดยทั่ว” บัดนี้ ชนบทรวม 9,899 แห่ง ได้หลุดพ้นจากความยากจน อำเภอ 832 แห่ง และหมู่บ้าน 1.28 แสนแห่ง ก็หลุดพ้นจากความยากจนเช่นกัน ปัญหาความยากจนระดับท้องถิ่นโดยรวมได้รับการแก้ไข บรรลุภาระหน้าที่การขจัดความจนของจีนอย่างแท้จริง

สี จิ้นผิง พรรณนาว่า “นี่คือประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์โชติช่วงราวปาฏิหาริย์ในโลกมนุษย์”

สี่สิบปีที่ผ่านมา แผ่นดินใหญ่มีประชากรในชนบทจำนวน 7.7 ร้อยล้านคน ที่หลุดพ้นจากความยากจน ตามมาตรฐานของธนาคารโลก การลดจำนวนคนจนของประเทศจีน เมื่อเทียบกับทั่วโลกในระยะเวลาเดียวกันมากกว่าร้อยละ 70

Advertisement

ถือเป็นความสำเร็จที่บรรลุก่อนเป้าหมายของสหประชาชาติ (2030) ถึง 10 ปี

ทว่า จีนก็ยอมรับว่า การพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่มีความสมดุลอันเกิดจากเงื่อนไขพื้นฐานของประเทศ ฉะนั้น หลังจากขจัดความจนในชนบท จีนจะแก้ไขปัญหาไม่สมดุลระหว่างท้องถิ่นกับชุมชนเมือง ตลอดจนแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างไร

คือ “การบ้าน” อันหนักยิ่ง และเป็นการท้าทายอย่างยิ่ง

Advertisement

ความยากจนเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของจีนมานาน แม้หลังการปฏิรูปเปิดประเทศ 40 กว่าปี ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรได้รับการปรับปรุงดีขึ้น แต่ถึงสิ้นปี 2012 ในขณะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่สองของโลก แต่คนจนยังมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 ของโลก

ครั้นเมื่อย่างเข้าศตวรรษที่ 21 จีนได้ทำการปรับมาตรฐานแห่งความยากจนถึง 2 ครั้ง

1.โดยเริ่มตั้งแต่รายได้ต่อคนต่อปีจาก 1,000 หยวนเป็น 2,300 หยวน

2.ปี 2020 กำหนดมาตรฐานการลดความยากจนเกินกว่า 4,000 หยวน โดยให้หลักประกันในเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม น้ำดื่มที่บริสุทธิ์ พัฒนาการศึกษา สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และที่อยู่อาศัย

วิธีการแก้จนของนานาประเทศ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นลดภาษีให้แก่คนจน เพิ่มภาษีคนรวย

แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศจีนไม่ใช้มาตรการการคลังมาแก้ปัญหาความยากจน หากเป็นวิธีการที่แตกต่างกับประวัติศาสตร์ของโลก คือเป็นมาตรการแก้จนที่มีระบบ มีแบบแผนโดยการสร้างงานให้แก่ประชาชนในด้านสาธารณูปโภค เป็นต้นว่า ถนน ประปา ไฟฟ้า สื่อสาร ฯลฯ เมื่อมีงานก็มีเงิน และเงินก็ไหลเวียนอยู่ในประเทศ

หลังจากนั้นก็เชิญต่างชาติเข้ามาลงทุน เป็นการต่อยอดให้แก่ชาวชนบท สามารถยังชีพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเคลื่อนย้ายคนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารไปอยู่ในชุมชนเมือง

ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา รัฐบาลกลาง มณฑล เมือง และอำเภอได้ใช้ทุนในการสร้างงานถึง 1.6 ล้านล้านหยวน เริ่มตั้งแต่มหัพภาคถึงจุลภาค ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านถึงครัวเรือน

ที่สำคัญคือมีผู้นำรัฐบาลทำงานอย่างจริงจัง แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นและครบวงจร มีความชัดเจนและโปร่งใส มีประสิทธิภาพ จนเรียกกันว่า “รูปแบบจีน”

แม้ว่าปี 2020 เกิดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาด และเกิดอุทกภัยในถิ่นคนยากจน

แต่ในที่สุด อำเภอที่ยากจน 52 แห่ง คนจนจำนวน 5.51 ล้านคน ก็ได้หลุดพ้นจากความยากจนสำเร็จ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศมาตรการ “4 ไม่” คือ

ไม่ละทิ้งหน้าที่ ไม่ละทิ้งนโยบาย ไม่ยกเลิกคณะทำงาน ไม่ปล่อยให้ชาวนาจนอีก

ย้อนมองอดีต เมื่อตอนเริ่มต้นปฏิรูปเปิดประเทศ “เติ้ง เสี่ยวผิง” เคยกล่าวไว้ว่า “หวังให้คนส่วนหนึ่งรวยก่อน เพื่อช่วยให้ผู้อื่นรวยตาม และในที่สุดก็จะได้รับอานิสงส์ร่วมกัน”

บัดนี้ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของเติ้ง เสี่ยวผิง ย่อมต้องถือว่าได้บรรลุไประดับ 1 แล้ว

ประเด็นจึงมีอยู่ว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะให้รวยกันทั่วหน้า

หากรัฐบาลลำพังอาศัยเงินภาษีของประชาชน มาช่วยเหลือคนที่ยังไม่รวย ให้มีหลักประกันในการดำรงชีพและการศึกษานั้น คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย

ประเด็นความเหลื่อมล้ำจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากและหนักสำหรับรัฐบาลกลางและมณฑลเมือง เพราะเป็นงานที่ยากกว่าการแก้จน จึงไม่แปลกที่ “สี จิ้นผิง” กล่าวว่า

การหลุดพ้นความยากจนมิใช่จุดสิ้นสุด หากเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิต

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image