ภาพเก่าเล่าตำนาน : หมู่บ้าน ไมลาย… สังหารสะท้านอเมริกา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เหตุการณ์สยองที่สุดครั้งหนึ่งในสงครามเวียดนาม…ที่ช่วงแรกถูกปกปิด อำพราง ซ้ำยังสรรเสริญกึกก้อง

แต่แล้ว…พลทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่สามารถทนต่อสภาพ “จิตหลอน” ได้…จึงได้นำเรื่อง “ความจริง” ของการสังหารโหดมาตีแผ่ กลายเป็นไฟนรกรุมเร้ากองทัพ…เป็นจุดเปลี่ยนของสังคมอเมริกัน

เมื่อรับการร้องเรียน กองทัพสหรัฐไม่เพิกเฉย สอบสวน พบความจริง ยอมรับ…แล้วแถลงต่อสังคม …กลายเป็นประเด็นฉาว… ขาวเป็นดำ…

16 มีนาคม 2511 ร้อยโท แคลลีย์ ผู้บังคับหมวดทหารราบในเวียดนาม สั่งการให้สังหารโหดชาวบ้าน เด็ก ในหมู่บ้าน “ไมลาย” (My Lai) รวม 504 ศพ…แล้วเผาหมู่บ้านวอดเป็นเถ้าถ่าน

Advertisement

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ขอย้อนอดีตเพื่อเป็น “ข้อคิด” …

ย้อนไปในอดีต…พ.ศ.2508 ประธานาธิบดีสหรัฐ (ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ได้รับอำนาจจากรัฐสภาให้ส่งกำลังทหารเข้าสมรภูมิเวียดนามใต้ เพื่อสนับสนุน ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ

เด็กหนุ่มผิวขาว ผิวสี และประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ทยอยส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบ เพื่อยับยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์…รวมทั้งประเทศไทย

Advertisement

สหรัฐครองความเป็น “จ้าวอากาศ” บินไปทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือ ในลาว และบางส่วนของกัมพูชาแบบโลกสะเทือน

ป้อมบินยักษ์ เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 แต่ละเที่ยวบินบรรทุก ทูตมรณะราว 30 ตัน ออกจากฐานบินอู่ตะเภาและสนามบินอื่นๆ ไปทิ้งระเบิดแทบจะทั้งวันทั้งคืน

เวียดนามเหนือมีสปอนเซอร์ใหญ่ 2 ราย คือ โซเวียตและจีน ทุ่มเทอาวุธให้ “โฮจิมินห์” ผู้นำเวียดนามเหนือ ตัวแทนคอมมิวนิสต์ “แบบไม่อั้น”

ขีปนาวุธ จรวดพื้นสู่อากาศ ที่โซเวียตผลิตได้…ถูกส่งมาให้ทหารเวียดนามเหนือ “สอย” อากาศยานของสหรัฐ…ก็ได้ผลชะงัด

อากาศยานสหรัฐถูกจรวดสอยร่วงจากฟ้า… นักบินขับไล่ นักบินทิ้งระเบิด ส่วนหนึ่งดีดตัวออกได้ รอดตาย …ทหารและชาวบ้านเวียดนามเหนือมีความสุขที่สุดที่จะไปจับตัวมาเป็นเชลยศึก แล้วแถลงข่าวไปทั่วโลก

เวียดนามเหนือ “ไม่สังหาร” เชลยศึกอเมริกัน…เก็บเอาไว้เป็น “ตัวประกัน” เอาไว้ “ต่อรอง” เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตน

ข่าวเชลยศึกอเมริกันที่ออกไปทั่วโลก คือ การทำลายขวัญ การทำลายระบบการเมือง การปกครองของสหรัฐ

พ่อ-แม่ ของเด็กหนุ่มนับแสนนาย ที่ถูกเกณฑ์ให้มารบในเวียดนาม ได้ดูข่าวโทรทัศน์ หงุดหงิด โกรธเคือง เริ่มตั้งคำถามว่า …ทำไมคนอเมริกันที่ห่างออกไปครึ่งโลก…ต้องไปตายในเวียดนาม (วะ)

นักการเมืองในสภาในวอชิงตัน ส่วนหนึ่งหลับหูหลับตาสนับสนุนการทำสงคราม เพราะอเมริกาต้องการ “เป็นผู้นำของโลกต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์” อเมริกาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเชื่อในทฤษฎีโดมิโน

พ.ศ.2518 มีทหารสหรัฐมาทำสงครามในเวียดนามกว่า 5 แสนนาย (ไม่นับรวมในไทย)

การสู้รบที่ดุเดือด เลือดทาแผ่นดิน คือ การรบภาคพื้นดิน ในป่าเขา ที่ต่างฝ่ายต่างไล่ล่ากัน ไล่ฆ่ากัน

ยุทธวิธีหลักของสหรัฐในเวลานั้น คือ ค้นหาและทำลาย (Search and Destroy) รวมทั้งการนับจำนวนศพ (Body count)

สงครามเวียดนาม เป็นสงครามที่ใช้เฮลิคอปเตอร์มากที่สุด นกเหล็กปีกหมุนเสียงดังสนั่นฟ้าของทหารสหรัฐ คือ พระเอกตลอดกาล

ชาวบ้านในพื้นที่การรบ คือ ชาวเวียดนาม ที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า “ความคิดจิตใจ” ของเขาเหล่านั้น จะฝักใฝ่เวียดนามเหนือ หรือเวียดนามใต้

ชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจาย ในเมือง ในท้องไร่ท้องนา นับล้าน คือ เหยื่ออันน่าสมเพช ที่ทุกฝ่ายต้องการ “ข่มขู่เอาชีวิต” แลกกับ “ข่าวกรอง”

ทหารอเมริกันสูญเสียไม่น้อยจาก “กับระเบิด” ในป่า ทุกพื้นที่ที่ทหารอเมริกันจะเข้าไป จะมีกับระเบิด “วางไว้” ให้ได้ศพ หรือบาดเจ็บเสมอ

“เวียดกง” ขุดอุโมงค์อยู่ใต้ดินยาว-ลึก ทำตัวเหมือน “ทหารผี” โผล่ขึ้นมาจากหลุมแล้วหายตัวไป

กลางคืนค่ำมืด หน่วยแซปเปอร์ หรือดั๊กกง ที่ถูกฝึกมาอย่างดี แทบจะเปลือยกาย คลานเข้าหาเป้าหมายแบบไร้เสียง ใช้คีมตัดลวด ถอดชนวนระเบิด ปลดชนวนระเบิดที่ฝ่ายเราวางไว้ได้หมด เข้ามาเชือดคอเวรยาม ปูทางให้ “ทหารหลัก” เข้าตีที่หมาย

นี่คือ ยอดทหารที่โลกยกย่อง ยำเกรง…

16 มีนาคม 2511 คือ วันแห่งความสยดสยอง

ไมลาย เป็นหมู่บ้านอยู่ในจังหวัด กวางงาย (Quang Ngai) อยู่ชายฝั่งตอนกลาง (ริมทะเลจีนใต้) ของเวียดนามใต้

พื้นที่ต่างๆ ในชนบทเวียดนาม จะถูกกำหนดให้เรียก โดยใช้สี เช่นสีแดง คือ พื้นที่หลักของกองกำลังเวียดกง …พื้นที่ที่เป็นแหล่งเสบียง แหล่งข่าว จะให้เป็น “สีชมพู”

หน่วยข่าวกรองกำหนดให้ ไมลาย เป็น “Pinkville” (บ้านสีชมพู)

ไมลาย เป็นพื้นที่เพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งเสบียง ที่หลบซ่อนของเวียดกง

ในเดือนมกราคม พ.ศ.2511 กองร้อย ซี (C Company) เป็น 1 ใน 3 กองร้อย ที่ได้รับคำสั่งให้เข้า ตรวจค้น ทำลายกองพันที่ 48 ของทหารเวียดกง ซึ่งเป็นหน่วยที่ขับเคี่ยวกับทหารสหรัฐมาอย่างดุเดือดในพื้นที่

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2511 ทหารในกองร้อย ซี ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคนเนื่องจากทุ่นระเบิดและกับระเบิด ถูกซุ่มยิง สร้างความตึงเครียดให้ทหารทั้งหลาย

หน่วยข่าวกรองยืนยัน ฟันธงหนักแน่นว่า ไมลาย คือ ที่ตั้งของกองพันที่ 48 ที่เป็นข้าศึกสร้างความสูญเสียให้สหรัฐอย่างหนัก

การทำงานในสนามรบ “ฝ่ายข่าว” จะต้องแม่นยำ ชี้เป้า บอกข้อมูลข้าศึกให้ผู้บังคับหน่วยกำลังรบเพื่อเข้าทำการรบแบบไม่มืดบอด

เมื่อฝ่ายข่าว ชี้เป้า และ ผบ.หน่วยตกลงใจ ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

15 มีนาคม 2511 ร้อยเอก เออร์เนสต์ เมดินา ผู้บังคับกองร้อย ซี ประชุมสั่งการหน่วยรอง “…ในที่สุดพวกเราก็จะได้รับโอกาสในการต่อสู้กับศัตรูที่หลบหนีพวกเรามานานกว่าหนึ่งเดือน…”

คำพูดนี้ สะท้อนถึงอารมณ์ ความรู้สึกของทหารทั้งหลายที่จะต้อง “ทำอะไรบางอย่าง” ด้วยความมุ่งมั่น หนักแน่น เด็ดขาด

ทหารในกองร้อย มีภาพในใจว่า ทุกคนในหมู่บ้านไมลาย คือ นักรบเวียดกง ทหารมีอิสระที่จะยิง ยิ่งไปกว่านั้นยังระบุการปฏิบัติ ให้ทำลายพืชผลและสิ่งปลูกสร้างและฆ่าสัตว์เลี้ยง

ราว 07.30 น. วันที่ 16 มีนาคม 2511 ปืนใหญ่ ราชาแห่งสนามรบ เปิดฉากระดมยิงใส่พื้นที่ใกล้หมู่บ้านตามคำขอของทหารราบ

ชาวบ้านนับร้อยตกใจสุดขีด หอบลูกจูงหลานวิ่งหนีออกนอกหมู่บ้าน

ตำบลกระสุนตกโล่งเตียนด้วยอานุภาพแรงระเบิด เคลียร์ทุกสรรพสิ่งให้กลายเป็น “พื้นที่โล่ง” ให้ ฮ. นำทหารกองร้อยซี มาลงจอดใกล้หมู่บ้าน

ชาวบ้านที่เห็น ฮ. นับสิบลำมาลงจอด ทหารอเมริกันพร้อมอาวุธลงมา… กลับหลังหันวิ่งย้อนกลับเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อซ่อนตัวจากทหาร

หมวดที่ 1 ของกองร้อย ซี นำโดยร้อยโท วิลเลียม แคลลีย์… ฮ. ไปลงจอดทางตะวันตกของหมู่บ้านย่อยที่รู้จักกันในชื่อ ซอมลาง (Xom Lang)

ราว 07.50 น. ผู้หมวดแคลลีย์นำกำลังไปทางตะวันออกของหมู่บ้าน

ทหารของหมวด 1 ไม่พบการต่อต้าน เคลื่อนที่ต่อ เข้าไปในหมู่บ้านไมลาย ทหารกราดยิงทุกคนที่พบเห็น ผู้หมวดหนุ่มออกคำสั่งให้ทหารกวาดต้อนกลุ่มผู้หญิง เด็กและชายสูงอายุถูกรวมตัวกันแล้วสาดกระสุน “สังหารหมู่”

ทหารยังข่มขืนสตรีในหมู่บ้าน หมวดที่ 2 เคลื่อนที่ไปทางเหนือ หมวดที่ 3 ตามหลังทำหน้าที่เผาทำลายบ้าน และยิงผู้รอดชีวิต

เวลาผ่านไปถึงราว 09.00 น. หมวด 1 ของผู้หมวด แคลลีย์ สังหารพลเรือนเวียดนามมากถึง 150 คน ที่ถูกต้อนเข้าลงไปในคูน้ำชลประทาน

จ่า รอน เฮเบิลร์ (Sgt. Ron Haeberle) ช่างภาพของหน่วยบันทึกเหตุการณ์… ภาพขาวดำที่ถ่ายไว้ได้ …ทหารกำลังตั้งคำถามกับนักโทษค้นหาทรัพย์สินและเผากระท่อม

(ช่วงแรก… ภาพเหล่านี้ ไม่ได้รับการยอมรับจากกองทัพ หากแต่ไปตีพิมพ์ในนิตยสาร Cleveland Plain Dealer and Life ในช่วงหลัง)

ภาพที่ปรากฏ…เกลื่อนไปด้วยศพของผู้หญิง เด็กและทารก

ขณะที่การสังหารหมู่กำลังดำเนินต่อไป นายดาบ ฮิวจ์ ทอมป์สัน นักบิน ฮ. บินวนเหนือหมู่บ้านเพื่อสังเกตการณ์

เมื่อเห็นเหตุสังหารหมู่แบบชัดเจน ทอมป์สัน นำ ฮ. บินโฉบไประยะใกล้ สั่งให้พลปืนของ ฮ. เตรียมใช้อาวุธเพื่อขัดขวางการกระทำของทหารหมวด 1 พูดทางวิทยุกับผู้หมวดแคลลีย์ ให้หยุดการกระทำ

พลทหาร ลอว์เรนซ์ คอลเบิร์น (Colburn) พลประจำปืนของ ฮ. และจ่า เกล็น อังเดร ทอตตา เตรียมใช้อาวุธจาก ฮ. ยิงทหารอเมริกันที่กำลังสังหาร เผาหมู่บ้าน

ทอมป์สัน วิทยุแจ้ง ฮ. ที่เหลือให้เข้ามาช่วยสนับสนุน ยกขนพลเรือนชาวเวียดนามออกจากพื้นที่

เวลาผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ถึงเวลา 11.00 น. ผู้บังคับกองร้อย ร้อยเอก เมดินา สั่งให้ทหารในกองร้อยยุติภารกิจ

ผู้กองรายงานความสำเร็จให้ผู้บังคับบัญชาทราบว่า…เวียดกงถูกสังหารจำนวนมาก…ภารกิจเสร็จสมบูรณ์

หน่วยเหนือปลื้มสุดสุด…ให้คำชมว่า นี่คือความสำเร็จในการกวาดล้างเวียดกง

24 เมษายน 2511 พ.อ. เฮนเดอร์สัน ผู้บังคับการกรม แถลงข่าวความสำเร็จ… สรุปว่ามีพลเรือน 20 คนถูกสังหารโดยบังเอิญที่ไมลาย จากการยิงปืนใหญ่ระหว่างกองกำลังสหรัฐและเวียดกง และแถลงแบบไม่ไว้หน้าว่า…รายงานของ นายดาบ ทอมป์สัน นักบิน ฮ. เป็นเท็จ

เหตุการณ์วันนั้น ถูกปรับแต่ง บิดเบือน ทุกฝ่ายเชื่อรายงานสนิทใจ

เรื่องโกหก สลดหดหู่ทั้งหมดนี้…“แตกดังโพละ” เพราะพลทหาร 1 คนเขียนจดหมายถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการตรวจสอบ รื้อฟื้นคดี หาความจริง…

พลปืนเฮลิคอปเตอร์ ริดเดนฮาวร์ (Ronald Ridenhour) เขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เพื่อนของเขาจากกองร้อย ซี มาบอกเล่าการสังหารพลเรือนอย่างบ้าคลั่ง…

ริดเดนฮาวร์ เริ่มสอบถาม สืบค้นด้วยตัวเอง พบว่า…“นี่เป็นเรื่องจริง” หากแต่เขายังเป็นทหารในกองทัพ…เขาจะรอจนกว่าปลดออกจากกองทัพ

เมื่อปลดประจำการ…เขาเขียนจดหมายถึงสมาชิกรัฐสภาราว 20 คน เลขาธิการรัฐสภา และถึงกระทรวงกลาโหม และบุคคลสำคัญอีกหลายคน โดยบอกเล่า “ความจริง” ที่หมู่บ้านไมลาย

พันเอก วิลเลียม วิลสัน ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบหาความจริง โดยตระเวนไปพบกับทหารทั้งหลายที่ปลดประจำการ…

ความจริงปรากฏ… เป็นข่าวใหญ่ดังทะลุฟ้าในอเมริกา…

การสอบสวนในภายหลัง อาศัยภาพของ ช่างภาพ เฮเบิลร์ที่เคยถูกปฏิเสธ… ภาพที่น่าสยดสยอง …ถูกนำไปสู่ศาลทหาร

ผลการพิจารณาคดีที่ร้อนแรงที่สุด ถูกเปิดเผยต่อชาวอเมริกัน

ใช่ว่ากำลังพลทั้งหมดจะ “เห็นชอบ” การสังหารหมู่

ในการสอบสวนพิจารณาคดีในภายหลังพบว่า ทหารช่าง 3 นาย พยายามขัดขวางและให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ไปซ่อนตัว ทหารทั้ง 3 นายได้รับเหรียญกล้าหาญ

นักบินเฮลิคอปเตอร์ นายดาบ ฮิวจ์ ทอมป์สัน ให้การต่อศาลว่า

“… เรามองเห็นทหารกำลังใช้ปืนกราดยิงชาวบ้าน คนชรา ผู้หญิง เด็ก นอนตายจำนวนมาก เราตัดสินใจวิทยุบอกให้ผู้หมวดหยุดยิง…ไม่เช่นนั้นเขาจะใช้ปืนกลบน ฮ. ยิงใส่ทหารสหรัฐอเมริกาด้วยกันเองหากจำเป็นต้องทำ”

วันนั้น …นายดาบ ฮิวจ์ ทอมป์สัน ตัดสินใจบินเข้าไปสกัดการสังหารหมู่และช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้รับเหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดกองทัพสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีพลปืนกลบนเฮลิคอปเตอร์ สิบเอก ลอเรนซ์ เมนเลย์ โคลเบิร์น (Lawrence Manley Colburn) ที่ได้รับเหรียญกล้าหาญหลังพยายามเข้าขัดขวาง

ผู้หมวดหนุ่มเลือดเดือด วิลเลียม แคลลีย์ ยอมรับผิด การก่อเหตุสังหารหมู่ ส่วนทหารคนอื่นอีก 26 นายไม่ถูกดำเนินคดี

การสังหารหมู่กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ภาพถ่ายถูกนำมาเผยแพร่ตีแผ่ความจริง …ชาวอเมริกันก่อตัวต่อต้านสงครามเวียดนาม

… หลังเหตุโศกสลด… สื่อมวลชนตามไปทำข่าวเพิ่มเติม พลทหารเวอร์นาโด ซิมป์สัน (PFC. Varnado Simpson) พลปืนเล็ก สังกัดกองร้อยซี สารภาพว่า…เขาคือหนึ่งในทหารที่กราดยิงเด็กเล็ก ต่อมาเขากระทำอัตวิบากกรรมฆ่าตัวตายในปี พ.ศ.2540

จ่า เคนเน็ธ ฮอดเจ็ต (SGT. Kenneth Hodges) สารภาพว่าตนเองได้ข่มขืนผู้หญิงชาวเวียดนามในระหว่างการสังหารหมู่ที่ไมลาย

จ่า แกรี่ ดี. โรสเชวิส (SGT. Gary D. Roschevitz) สารภาพว่าใช้ระเบิด เครื่องยิงลูกระเบิด M79 สังหารประชาชน ข่มขืนผู้หญิงชาวเวียดนาม

ศาลตัดสินคดีแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2514 เขาต้องได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ลดโทษให้ เป็นการกักตัวในบ้านพักเป็นเวลา 3 ปี

เมื่อพ้นโทษแล้ว เก็บตัวเงียบไม่ขอพูดถึงเหตุการณ์ นานนับสิบปี…

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2552 เขาปรากฏตัวเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 66 ปี โดยกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมแห่งหนึ่งในเมืองโคลัมบัส มลรัฐจอร์เจีย กล่าว “ขอโทษ” ต่อสาธารณชน ระบุทำไปตามคำสั่งของคนที่มีอำนาจสูงกว่าเท่านั้น

“ไม่มีวันไหนเลยสักวันที่ผมไม่ได้รู้สึกสำนึกผิดว่าเกิดอะไรขึ้น …ผมรู้สึกผิดกับชาวเวียดนามที่ถูกฆ่าตาย ครอบครัวของพวกเขา และทหารอเมริกันและครอบครัวที่เข้าเกี่ยวข้อง ผมขอโทษจริงๆ” แคลลีย์กล่าว…

มีคนเสียชีวิตจากการสังหารหมู่ที่หมู่บ้านไมลาย 504 คน ซึ่งมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กๆ

เขาออกมาพูดครั้งนั้น… ตามคำร้องขอของเพื่อนๆ ในสโมสรกีวานีส (Kiwanis Club) มลรัฐจอร์เจีย เป็นสมาคมอาสาสมัครที่ทำงานช่วยเหลือคนทั่วโลก

ภาพถ่ายของชาวบ้าน เด็ก ผู้หญิง ผู้เสียชีวิตที่นอนตายเกลื่อน…ไม่สามารถนำมาแสดงได้ เพราะผิดจรรยาบรรณ น่าหดหู่ …ลองค้นหาทางอินเตอร์เน็ตนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image