สะพานแห่งกาลเวลา : คู่แข่งของกูเกิล โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

กูเกิล ในเวลานี้ถือเป็นธุรกิจด้านไอทีที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดบริษัทหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนถึงขณะนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่ามีบริษัทไหนที่สามารถ “ครอบงำ” อินเตอร์เน็ตได้มากเท่ากับกูเกิลอีกแล้ว

บางคนอาจแย้งว่าคำว่า “ครอบงำ” ฟังดูออกจะเกินไปสักหน่อย แต่ผมขอยืนยันครับว่า เป็นคำที่ใกล้เคียงที่สุดแล้วกับสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่

“โครม” เว็บเบราเซอร์ของกูเกิล มีส่วนแบ่งสูงถึงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดเว็บเบราเซอร์ทั้งโลก

ในขณะที่เสิร์ชเอ็นจิน ของกูเกิล ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ครองส่วนแบ่งการใช้งานการสืบค้นบนอินเตอร์เน็ตทั่วโลกสูงถึง 92 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

อย่างนี้ไม่ถือว่า “ครอบงำ” ก็ไม่ได้แล้วละครับ

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้ กูเกิล เริ่มถูกท้าทายมากขึ้นตามลำดับ เพราะส่วนแบ่งการตลาดในระดับที่ว่านี้ใกล้เคียงกับการ “ผูกขาด” อย่างยิ่ง ทำให้ไม่เพียงผู้ดูแลกฎระเบียบทางธุรกิจเริ่มตั้งข้อ “กังขา” กับกูเกิลมากขึ้นตามลำดับ หลายอย่างที่กูเกิลทำถูกกล่าวหาว่าเป็น “กลยุทธ์เพื่อต่อต้านการแข่งขัน” ที่ทำให้กูเกิลคงความสามารถในการกวาดเอาข้อมูลมหาศาลเข้ามาไว้กับตัวมากขึ้นทุกวัน

ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้จากโฆษณาของกูเกิลก็มหาศาลตามไปด้วยนั่นเอง

Advertisement

ผู้ใช้ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ กูเกิลเริ่มเข้ามา “แนะนำ” อะไรต่อมิอะไรที่เราทำบนเว็บมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาคลิปวิดีโอบนยูทูบ หรือการสืบค้นหาข้อมูลเรื่องต่างๆ ที่ต้องขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่
เสิร์ชเอ็นจิน ของกูเกิลแสดงไว้ให้เห็นเท่านั้น

แล้วก็ทำให้กูเกิล มีปัญหาเรื่อง “ไพรเวซี” ที่เป็นปัญหาใหญ่โตตามมาอีกด้วย

ทำให้ระยะหลังมานี้ มี “เบราเซอร์” ใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย ล้วนมุ่งเน้นไปที่การใช้งานที่เป็น “ส่วนตัว” ปลอดจากการติดตาม ไม่มีการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

เบราเซอร์อย่าง “ดัคดัคโก” (DuckDuckGo) คือตัวอย่างหนึ่งที่ใช้แนวทางนี้และประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง

แต่สำหรับเสิร์ชเอ็นจิน กูเกิล ยังไม่มีคู่แข่งใดๆ ที่ประกาศตัวต่อต้านการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวดังกล่าว คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือ “บิง” (Bing) ของไมโครซอฟท์ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็มีโมเดลธุรกิจ เก็บข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทำรายได้ ไม่ต่างอะไรกับกูเกิลนั่นแหละ

เสิร์ชเอ็นจินของกูเกิล ครองตลาดสูงมากถึงขนาดเบราเซอร์ ซาฟารี ของแอปเปิลที่เราเห็นกันคุ้นตาในไอโฟน ก็ยังยอมจ่ายเงินเพื่อใช้เสิร์ชเอ็นจินของกูเกิลในการสืบค้นทุกอย่างครับ

การเกิดขึ้นของ “เบรฟเสิร์ช” (BraveSearch) เสิร์ชเอ็นจินใหม่ล่าสุดจากผู้พัฒนาเบรฟ เว็บเบราเซอร์ ที่เน้นความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ จึงมีความหมายไม่น้อยสำหรับผู้ใช้

เบรนแดน ไอค์ ผู้ก่อตั้ง เบรฟ บอกว่า เบราเซอร์ของเบรฟ แต่เดิมก็กำหนดให้ค่าดีฟอลต์ หรือค่าเริ่มต้นให้ผู้ใช้งานเป็น “แอโนนีมัส ยูสเซอร์” คือไม่ต้องเปิดเผยตัวตนอยู่ก่อนแล้ว หลักการสำคัญนี้ก็จะถูกถ่ายโอนให้กับ เบรฟเสิร์ช ด้วยเช่นกัน

จะไม่มีการเก็บรวบรวมไอพี แอดเดรส ไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนตัว อย่าง อายุ เพศ รสนิยม ฯลฯ ของผู้ใช้ เพื่อนำไปหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ใดๆ ทั้งสิ้น

รายได้ของ เบรฟ เสิร์ช จึงมาจากการโฆษณาบนหน้าแสดงผลการสืบค้นเป็นหลัก ในกรณีที่ผู้ใช้เข้าใช้งานฟรีๆ แบบไม่ต้องควักกระเป๋าใดๆ กับอีกส่วนหนึ่งจะได้จากการเป็นสมาชิกใช้งานแบบเสียเงิน ซึ่งจะปลอดโฆษณาโดยสิ้นเชิง

ถามว่า ประสิทธิภาพในการสืบค้นของ เบรฟเสิร์ช จะดีเท่าและลึกซึ้งเท่ากับอัลกอริธึมของยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลหรือไม่? ไอค์ยอมรับว่า ไม่ลึกซึ้งเท่าแน่นอน เพราะกูเกิล
นั้นเข้าไปตรวจสอบเนื้อหาทั่วทั้งเว็บ จัดทำดัชนี เว็บนับเป็นล้านล้านเว็บมาแล้วหลายทศวรรษ แต่หากเทียบลำดับผลการสืบค้นช่วงต้นๆ แล้ว ไอค์ยืนยันว่า ผลลัพธ์ก็ออกมาคล้ายคลึงกันนั่นแหละ

ประเด็นที่สำคัญก็คือผลลัพธ์ของการสืบค้นด้วย เบรฟเสิร์ช เป็นธรรมชาติมากกว่า ปลอดจากอิทธิพลของโฆษณาและเป็นการสืบค้นในฐานะผู้ใช้ “นิรนาม” จริงๆ

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการก็คือ เบรฟเสิร์ช ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่เป็นการต่อยอดจาก เสิร์ชเอ็นจิน สัญชาติเยอรมันอย่าง “เทลแคท” (Tailcat) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “คลิคซ์” (Cliqz) เสิร์ชเอ็นจิน เยอรมัน ที่เบรฟเข้าไปซื้อกิจการมาเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ดัชนีเว็บพื้นฐานที่เทลแคททำเอาไว้ พร้อมกับเทคโนโลยีเบื้องหลังมาต่อยอดให้สามารถเก็บข้อมูลและปรับแต่งผลการสืบค้นแบบ “นิรนาม” ให้ดีขึ้นต่อไปได้โดยเร็ว

เบรฟเสิร์ช นอกจากจะมีพื้นฐานดีไม่น้อยดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อดีตรงที่มีเว็บเบราเซอร์เป็นของตัวเองด้วยอีกต่างหาก

แต่ เบรฟเสิร์ช จะต่อกรกับกูเกิลได้ดีและนานขนาดไหน ยังต้องรอดูคำตอบกันต่อไปครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image