ราชภัฏควรบูลลี่หรือไม่…

ราชภัฏควรบูลลี่หรือไม่...คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชาติบ้านเมืองนั้นๆ

ราชภัฏควรบูลลี่หรือไม่…

คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชาติบ้านเมืองนั้นๆ ระบบการศึกษาเป็นหนึ่งปัจจัยหลักสำคัญยิ่งของรัฐบาลที่ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทั้งร่างกาย สุขภาพ จิตใจ สติปัญญาความรู้ความสามารถ ทักษะในชีวิตรวมไปถึงระบบคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมอันดีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชาติบ้านเมืองในบริบทต่างๆ

ข้อมูลหรือข่าวที่ถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศหนึ่งก็คือ การให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ถึงความเหมาะสมของ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค พปชร. พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า นายชัยวุฒิจบปริญญาโทวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “คุณจบอะไร คุณจบมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือ” (มติชนรายวัน 18 มีนาคม 2564 หน้า 15)

หลังจากการประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกระแสดราม่าถึงคำและประโยคดังกล่าว จึงได้คำตอบที่ว่า “ได้ชี้แจงไปแล้ว…” และถูกถามจากผู้สื่อข่าวอีกครั้งถึงการไม่ได้มีเจตนาบูลลี่คนเรียนราชภัฏใช่หรือไม่ เขาได้ตอบว่า “ไม่มีผมไม่ได้ว่าอะไรหรอก ผมแหย่ผู้สื่อข่าว…”

Advertisement

คำพูดหรือสีหน้าท่าทางของบุคคลสาธารณะในระดับการบริหารชาติบ้านเมือง เสมือนดอกไม้และหอกดาบปืนผาหน้าไม้ที่พ่นลมออกจากปากมีทั้งผลดีและตรงกันข้าม เราท่านที่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองโดยในหลายวาระและโอกาสได้มีคำพูดจากท่านดังกล่าว อาทิ “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้, ไม่มี ไม่มี ไม่มี, เป็นผู้มีอิทธิพลอะไร แค่เดินยังไม่ไหว…”

คำพูดที่ว่า “คุณจบอะไร คุณจบมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือ…” หากเราท่านได้เห็นถึงการสัมภาษณ์ทั้งสีหน้า ท่าทาง ภาษาและการสื่อสาร ข้อเท็จจริงหนึ่งที่หลายท่านจักอดคิดถึง การบูลลี่ (Bully) ที่หมายถึงการกลั่นแกล้ง แซวแรง ให้ร้าย ยั่วยุ เยาะเย้ย นินทา ทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดทั้งกาย ใจและอื่นๆ รวมถึงเป็นการกระทำที่ไม่ดีให้อีกฝ่ายได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจ

ความหมายของคำดังกล่าวได้ซ่อนถึงสิ่งที่ผู้ที่ได้รับรู้ถึงการมีทัศนคติที่มิพึงประสงค์ไปยังผู้รับสาร การพูดหรือแสดงออกของบุคคลในระดับผู้นำของประเทศจักอยู่ในความทรงจำของทั้งสื่อและบุคคลที่ได้รับผลกระทบไปอีกนานแสนนาน

Advertisement

มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีอยู่ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศจากจำนวน 41 แห่งและในปัจจุบันมีจำนวน 38 แห่ง แรกเริ่มเดิมทีหลายแห่งได้พัฒนาการมาจากโรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนการเรือน แล้วมาเป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏและมาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน ซึ่งได้มี พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ให้ไว้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2547 จำนวน 70 มาตรา ในมาตรา 8 ได้กำหนดให้มีภาระหน้าที่ อาทิ แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย เสริมสร้างสำนึก คุณค่า ความภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติ เรียนรู้เสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ศาสนา นักการเมือง…

รวมถึงสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม สร้างความเข้มแข็งในวิชาชีพครู การผลิตและพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาในวิชาชีพชั้นสูง การร่วมมือช่วยเหลือกันระหว่างชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้าน เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำนุบำรุงทรัพยากรธรรมชาติ ศึกษาวิจัยสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน

บทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีตัวตนอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นกำลังหลักและสำคัญของชาติบ้านเมืองในบริบทต่างๆ อย่างรอบด้านทั้งการจัดการศึกษา อาทิ หลายแห่งเปิดการเรียนตั้งแต่โรงเรียนสาธิตระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับบัณฑิตศึกษาก็คือปริญญาเอก นายกสภาและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ หลายท่านได้รับเกียรติจากนายทหารระดับสูงของกองทัพ ในรอบหนึ่งปีมีจำนวนบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏในจำนวนหลายแสนคน ในอดีตที่ผ่านมารวมถึงปัจจุบันเหล่าชาวราชภัฏรู้สึกภาคภูมิใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านได้เสด็จฯไปพระราชทานปริญญาให้เหล่าบัณฑิตราชภัฏอย่างต่อเนื่องมาในหลายทศวรรษ

ข้อเท็จจริงหนึ่งเหล่าบรรดา ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส.ว.รัฐมนตรีหลายคนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือวิทยาลัยครูในสมัยก่อนก็มีอยู่หลายคน จำนวนศิษย์เก่าที่จบจากโรงเรียนสาธิตในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหลายคน ไปศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นเป็นบุคลากรสำคัญของชาติ อาทิ แพทย์ วิศวกร สถาปัตย์ เหล่าบัณฑิตหรือศิษย์เก่าหลายคนไปรับราชการเป็นครู อาจารย์หรือมีตำแหน่งในระดับผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ทั่วประเทศ บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตในการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับชุมชนและท้องถิ่นที่เอื้อต่อระบบการศึกษาในภารกิจของมหาวิทยาลัย

การบูลลี่ที่อยู่ในระดับทั้งสังคมโลกและประเทศต่างๆ ทั้งการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ การศึกษาทั้งจากความคิด ความเชื่อ ความรู้ ทัศนคติที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตกาลส่งผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน หลายครั้งครากลายเป็นความขัดแย้งกันตั้งแต่ระดับบุคคลไปถึงระดับประเทศชาติและภูมิภาคของโลก อะไร สิ่งใดที่ผู้นำของประเทศจักต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการครองใจคนทั้งชาติไปตลอดรอดฝั่งอย่างน่าชื่นชม

กรณีดังกล่าวสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ที่ผู้นำของรัฐบาลควรให้เกียรติแก่สื่อมวลชนทั้งกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ใส่สื่อมวลชนที่นั่งอยู่แถวหน้าภายหลังการแถลงข่าว และกรณีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงแม้ว่าสองกรณีดังกล่าวได้รับการขอโทษในเวลาต่อมาก็ตาม ข้อสังเกตหนึ่งที่เราท่านเข้าถึงได้ก็คือ ผู้ถูกตั้งคำถามมีสิทธิที่จะปฏิเสธจากการตอบคำถามนั้นๆ

การตอบโต้ของภาวะผู้นำในระดับชาติถูกมองว่าเป็นการเพิ่มความขัดแย้งในสังคม การไม่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผู้ที่ทำงานด้านสื่อก็ต้องการข้อเท็จจริงในการนำเสนอต่อประชาชน อะไรสิ่งใดคือความเหมาะสม ควร-มิควร ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ขณะเดียวกันชาติบ้านเมืองในการนำของรัฐบาลก็ต้องการความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติบ้านเมืองที่ต้องเดินตามรัฐธรรมนูญและแผนยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปี…

การดูถูกเหยียดหยามในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหากเกิดจากชาวบ้านกับชาวบ้านทั่วไปอาจจักดูเสมือนว่า เป็นความขัดใจหรือขัดแย้งระหว่างบุคคลที่มิได้มีผลกระทบในภาพกว้าง แต่หากเป็นพฤติกรรมการบูลลี่จากระดับผู้นำของประเทศไปยังภาพรวม กรณีจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือ… ดูเสมือนว่าจักเป็นตราบาปทั้งระดับเจ้ากระทรวงในปัจจุบันก็คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหาร ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่รวมไปถึงบุคคลที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจบการศึกษาจากสถาบันดังกล่าวไปแล้วในอดีต ปัจจุบันและส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ในอนาคต ที่ใคร องค์กรใดจักรับผิดชอบต่อการบูลลี่ดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ทั่วประเทศในขณะนี้ก็คือ อัตรากำลังหรือสัดส่วนของข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนอยู่ในนัยสำคัญ หมายถึงพนักงานมหาวิทยาลัยหลายคนมีความรู้ความสามารถทั้งจบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มีตำแหน่งทางวิชาการ ผศ. รศ. มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารกิจการมหาวิทยาลัยทั้งคณบดี ผู้ช่วยอธิการบดี รองอธิการบดีหรืออธิการบดีที่จักต้องสานต่อระบบงานได้เดินหน้าไปได้อย่างดียิ่ง ท่ามกลางความขัดแย้งภายในองค์กร ทั้งการฟ้องร้องต่อศาลปกครองในคดีความต่างๆ และความขัดแย้งในเชิงความคิด นโยบายในระดับสูงที่ควบคุม กำกับดูแลทั้งระบบรวมทั้งงบประมาณในการบริหารจัดการ

ราชภัฏ เป็นนามพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วส่งผ่านการสืบสานต่อยอดมาถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 องค์ปัจจุบัน นามดังกล่าวหมายถึง “คนของพระราชา หรือปราชญ์ของพระราชา” ข้าของแผ่นดิน องคมนตรีหลายท่านได้เป็นผู้แทนในการติดตามงานของราชภัฏที่ต้องทำงานเพื่อท้องถิ่นชุมชนไทยจากทั่วประเทศ พระนามนี้จักอยู่ในแผ่นดินแห่งสุวรรณภูมินี้ไปตลอดกาล…

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image