ประเทศไทยกับการกดปราบข้ามชาติ

ในรายงานปีล่าสุดขององค์กร Freedom House ในปีนี้ นอกเหนือจาก Freedom in the World ซึ่งผมได้นำเรียนท่านผู้อ่านไปแล้วเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ยังมีรายงานพิเศษอีกฉบับที่ออกมาในปี 2564 นั่นก็คือ Out of Sight, Not out of Reach: The Global Scale and Scope of Transnational Repression. (2021) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยสำรวจการ “กดปราบข้ามชาติ” (transnational repression) ซึ่งพัฒนามาจากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัย Exeter ในประเทศอังกฤษ และการประชุมเชิงปฏิบัติการที่มหาวิทยาลัย Columbia สหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ.2018

ประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในรายงานฉบับนี้นั้นมีอยู่หลายเรื่อง แต่อยากจะชี้ให้เห็นมิติสำคัญสามเรื่อง หนึ่งคือ ความเข้าใจว่าปรากฏการณ์ของประชาชนที่ถูกไล่ล่า และถูกกดปราบนอกประเทศ (เผด็จการ) ของตัวเอง “อย่างเป็นระบบ” นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก

สองคือ ความเข้าใจในเรื่องทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องรัฐสมัยใหม่ และระบอบเผด็จการควรจะต้องถูกเพิ่มเติมความเข้าใจจากมิติเรื่องการกดปราบข้ามชาติ รวมทั้งมิติในเรื่องโลกาภิวัตน์ร่วมสมัย

สามคือ ความเข้าใจเงื่อนไขของปฏิบัติการทางการเมืองในการท้าทายกับมิติของการกดปราบข้ามชาติ และความเป็นไปได้ในความเป็นจริง

Advertisement

1.ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การกดปราบข้ามชาติ (transnational repression) นั้นได้รับการสำรวจและศึกษาอย่างเป็นระบบ จากการเก็บข้อมูลกรณีที่ถูกมองว่าเข้าข่าย และมีบันทึกไว้ถึง 608 คดี ที่เกิดขึ้นทั่วโลกระหว่าง ค.ศ.2014 ถึง 2020 ซึ่งหมายถึงว่าเป็นกรณีที่ถูกบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน ยังไม่นับอีกหลายกรณีที่ยังไม่ได้มีการรับรอง และบันทึกเอาไว้

นอกจากนี้ ยังหมายถึงความเกี่ยวข้องกับประเทศทั่วโลก โดยหมายถึงประเทศต้นทาง/ต้นกำเนิดของเรื่อง 31 ประเทศ และประเทศปลายทางที่การคุกคามกดปราบนั้นเกิดขึ้นถึง 79 ประเทศ และลักษณะของการจับคู่กันของประเทศ ถึง 160 ประเทศ (หมายถึงมีแบบแผนที่ชัดเจนว่า ประเทศต้นทางคือ ประเทศไหน และประเทศปลายทาง/ประเทศที่เกิดเหตุอย่างสม่ำเสมอ)

ข้อค้นพบที่สำคัญของ Freedom House มีหลายประการได้แก่

Advertisement

1.เมื่อพูดถึงการกดปราบข้ามชาติ เรากำลังหมายถึงกลวิธีที่สำคัญหลายประการได้แก่

1.1 การโจมตีทำร้ายโดยตรง (direct attacks) หมายถึงประเทศต้นทางเข้ามาจัดการโจมตีทำร้ายทางกายภาพโดยตรงต่อเป้าหมายที่อยู่ต่างประเทศ อาทิ การลอบสังหาร การจู่โจมทำร้าย การทำให้หายไป การข่มขู่ทางกายภาพ การใช้กำลังบังคับในการจับตัวเหยื่อ/เป้าหมาย

1.2 การร่วมมือกันกับประเทศอื่นๆ (co-opting other countries) หมายถึงการจูงใจให้ประเทศปลายทาง/ประเทศที่เกิดเหตุนั้นร่วมมือด้วย และให้ประเทศเหล่านั้นกระทำการกักตัว ส่งกลับอย่างผิดกฎหมาย หรือวิธีอื่นๆ ในการส่งกลับด้วยการใช้กำลังบังคับ ซึ่งบางครั้งยังรวมไปถึงการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของ Interpo; หรือตำรวจสากลที่อาจเข้ามามีส่วนในการเป็นเครื่องมือในการกดปราบข้ามชาติเหล่านี้ขึ้น ผ่านรูปแบบการขับเคลื่อนปฏิบัติการดังกล่าวผ่านระบบเอกสารต่างๆ เช่น การอ้างว่าไม่มีเอกสารเข้าประเทศ หรือการกระจายข้อมูลออกไปตามประเทศต่างๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นช่วยตามและจัดการให้

1.3 การควบคุมการเคลื่อนที่/เคลื่อนย้าย/เดินทาง (mobility controls) อาทิ การยกเลิกหนังสือเดินทาง การปฏิเสธการเข้าใช้บริการกงสุล การปิดกั้นไม่ให้เป้าหมายเคลื่อนที่เดินทาง หรือเป็นต้นเหตุให้พวกนี้ถูกกักตัว และอาจเป็นเงื่อนไขให้เป้าหมายถูกบังคับส่งกลับ

1.4 การข่มขู่ระยะไกล (threats from a distance) ประเทศข้ามแดนอาจใช้วิธีการนี้ได้โดยไม่ต้องข้ามแดนไปทำเอง เช่น การข่มขู่ออนไลน์ การสอดส่องออนไลน์ การใช้โปรแกรมสปายแวร์มาล้วงข้อมูลในเครื่องของเป้าหมาย และคนที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมาย เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำได้ง่าย เพราะทำภายในประเทศต้นทางเอง และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการกดปราบข้ามชาติในระดับชีวิตประจำวัน

2.การกดปราบข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ และเป็นระบบ กล่าวคือมีรัฐบาลของประเทศต้นทาง ที่กระทำการดังกล่าวเพิ่มขึ้น และก็มีความร่วมมือกับประเทศปลายทาง/ที่เกิดเหตุเพิ่มขึ้น มากกว่าที่เราเข้าใจกันอยู่ และมีหลายวิธีในการกดปราบตามที่ได้กล่าวไว้แล้ว

3.การกดปราบข้ามชาติในทางกายภาพมักจะเกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับประเทศปลายทาง โดยคำขอของประเทศต้นทาง ซึ่งที่พบบ่อยที่สุดก็คือ การกักตัว และส่งกลับอย่างผิดกฎหมายโดยคำขอของประเทศต้นทาง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าสองในสามของกรณีที่เกิดขึ้นมักจะใช้รูปแบบนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งมักเป็นความร่วมมือแบบลับๆ นี้เอง ที่ทำให้ระบบนิติธรรมของประเทศปลายทางนั้น ก็จะเสื่อมลงไปด้วย

4.แม้ว่าการกดปราบข้ามชาติจะถูกเปิดโปงขึ้น ก็ไม่เพียงพอที่จะให้กระบวนการดังกล่าวลดลง หรือถูกต่อต้าน และไม่สมาคมด้วยจากต่างชาติ ไม่ว่าจะกรณีการกดปราบข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับซาอุดีอาระเบีย ตุรกี รัสเซีย และจีน

5.การทำความเข้าใจภาพรวม และชนิดที่แตกต่างกันของการกดปราบข้ามชาติเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเรามักจะมองเห็นแต่กรณีทางกายภาพ โดยเฉพาะการข่มขู่เอาชีวิต

การเพิ่มขึ้นของการกดปราบข้ามชาตินี้ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างประเทศที่มักจะมีแนวโน้มที่จะไม่ต้องการให้เกิดการอพยพข้ามแดนอยู่แล้ว รวมทั้งการเสื่อมถอยลงของธรรมเนียมปฏิบัติที่มีต่อการใช้ความรุนแรงข้ามพรมแดน

ทั้งนี้ เงื่อนไขพื้นที่ที่อธิบายว่าการกดปราบข้ามชาตินั้นเกิดจากอะไรนั้นมีการอธิบายเอาไว้สามประการคือ

หนึ่ง การรับรู้ของระบอบการเมืองถึงภัยคุกคามจากผู้คนที่อพยพลี้ภัยออกนอกประเทศ การที่รัฐ หรือระบอบการเมือง โดยเฉพาะระบอบเผด็จการ ซึ่งมักจะเข้ามาใช้วิธีการกดปราบข้ามแดนนั้น เริ่มใช้วิธีการกดปราบข้ามแดนเพิ่มขึ้นก็เพราะการเติบโตของกิจกรรมต่างๆ ที่ต่อต้านระบอบเผด็จการเหล่านั้นมีเพิ่มขึ้น ทั้งจากการอพยพเดินทาง และจากการสื่อสารด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งหมายความว่าระบอบเผด็จการเหล่านั้นทางหนึ่งก็ต้องเปิดประเทศตัวเองรับเอาความเจริญและเม็ดเงิน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเผชิญกับการท้าทายมากขึ้น พวกเขาจึงเริ่มเห็นและรับรู้ถึงภัยที่พวกเขาเผชิญมากขึ้น

สอง ศักยภาพ และสรรพกำลังของระบอบการเมืองนั้นในการกดปราบ เทคโนโลยีของฝ่ายรัฐเองก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลในการติดตาม สอดส่อง และล้วงข้อมูลประชาชน

สาม การคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุนลงแรงของระบอบการเมืองนั้นในการใช้วิธีกดปราบที่ต่างกัน

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแต่ในระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาก็โดนโจมตีว่าเกี่ยวข้องกับการกดปราบข้ามชาติ เหล่านี้ด้วย ในนามของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ในกรณีของประเทศไทย ซึ่งได้รับเกียรติในการกล่าวถึง เป็นประเทศที่สองในเอเชียรองจากจีน (ซึ่งเป็นกรณีใหญ่ที่สุดจนมีบทของจีนแยกมาเฉพาะ) มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารหลายกรณี การหายตัวไปที่อธิบายไม่ได้การบังคับส่งกลับ ในหลายประเทศอาทิ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม และการจู่โจมทำร้ายในญี่ปุ่น และเรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะตั้งต้นขึ้นนับแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา และ เป็นเรื่องของการใช้ยุทธศาสตร์ในการจัดการกับผู้ที่เห็นต่างรัฐบาลทหาร และหากสืบค้นประวัติอย่างน้อย 11 กรณีที่บันทึกโดย Freedom House (นี่ยังไม่นับกรณีที่บันทึกโดยหลักฐานอื่น) ก็จะพบว่า คนเหล่านั้นเป็นคนที่มีคดีกับรัฐบาลในข้อหาการต่อต้านและเป็นภัยต่อรัฐบาล และมีหลายคดีโดนข้อหาที่รุนแรงจากรัฐบาลไทย นอกจากนี้บางกรณีนั้นการต่อสู้กับรัฐบาลจนนำมาซึ่งภัยในชีวิตนั้นเกิดจากเพียงการต่อสู้ออนไลน์ผ่านการใช้เฟซบุ๊กและยูทูบเป็นหลักไม่ใช่กำลังทางกายภาพ

นอกจากกรณีที่การกดปราบข้ามชาติไทย โดยความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางตรง และทางลับดังที่ได้รับข่าวกันมาตลอดนั้น รายงานฉบับนี้ยังพบว่ายังมีกรณีของการกดปราบข้ามชาติของกัมพูชา และลาว ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย ทั้งการกักตัวผู้พยายามลี้ภัยจากกัมพูชา และลาว ในประเทศไทย จากการร้องขอของกัมพูชา และลาว

2.เมื่อเราทำความเข้าใจเรื่องการเพิ่มขึ้นของการกดปราบข้ามชาติแล้ว สิ่งที่เป็นข้อค้นพบที่ใหญ่กว่าตัวกรณีต่างๆ ก็คือเรื่องของการถดถอยลงของประชาธิปไตย และการเติบโตขึ้นของระบอบเผด็จการ

ที่สำคัญ ระบอบเผด็จการในยุคใหม่นั้นเป็นเผด็จการที่มีเพื่อนคบด้วย เรื่องของการกดปราบข้ามแดนจึงเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ การทำความเข้าใจว่ารัฐนั้นคือ องค์กรที่ผูกขาดความรุนแรงในอาณาบริเวณพรมแดนของตนเอง คงต้องทำความเข้าใจใหม่ นอกเหนือไปจากความเชื่อที่ว่าการข้ามพรมแดนปัจจุบันเป็นเรื่องไร้รัฐ-ลอดรัฐเท่านั้น

และในอีกด้านหนึ่ง การพูดถึงโลกาภิวัตน์สามสมัยนั้น เราจะพูดถึงเฉพาะเรื่องของการอพยพเคลื่อนย้ายของทุนและคนไม่พอ แต่ต้องเข้าใจถึงการข้ามพรมแดนของอำนาจรัฐเผด็จการด้วย

3.ในการท้าทายกับการกดปราบข้ามชาตินั้น จากข้อเสนอแนะของ Freedom House เอง มักจะให้ความสำคัญทั้งกับสหรัฐอเมริกา และประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ในการพยายามกดดัน และกีดกันการค้า-กดดันประเทศที่ใช้การกดปราบข้ามชาติให้ได้ ทั้งในระดับรัฐบาล และระดับรัฐสภา รวมถึงการปรับระบบรองรับผู้อพยพ และการเข้าถึงชุมชนอพยพที่อาจเป็นเป้าหมายของรัฐบาลเผด็จการเดิม และในส่วนประชาสังคมอาจจะเพิ่มการให้ความรู้ในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารให้ปลอดภัยขึ้น รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับองค์กร
อื่นๆ ที่จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านข้อมูลความรู้ต่อต้าน/ต้านทานการกดปราบข้ามชาติ และยังรวมถึงเรื่องการวิจัยค้นคว้าเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้น

สังเกตได้เลยครับว่า ไม่มีข้อเสนอแนะอะไรให้กับรัฐเผด็จการที่เป็นผู้แสดงสำคัญในเรื่องการกดปราบข้ามชาติ

ในประการสุดท้าย สิ่งที่น่ากังวลใจก็คือ การต้องน้อมรับความจริงว่า การลี้ภัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้จะลี้ภัยสำเร็จความปลอดภัยก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือมีหลักประกันใดๆ นอกจากนั้น การลี้ภัยนั้นเอาเข้าจริงในกรณีของประเทศไทยคือเรื่องการลี้ภัยทางการเมืองนั้น ไม่ได้เป็นไปง่ายๆ แค่การข้ามจากไทยไปประเทศตะวันตก แต่ยังหมายถึงการใช้ช่องทางธรรมชาติและการต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในยุคสมัยหลังนี้ก็อาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือ/เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าวเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพราะเงื่อนไขการเชื่อมโยงและดุลอำนาจในประเทศเปลี่ยนไป

อาจจะดูหดหู่สักหน่อยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่า กรณีการหายไปของวันเฉลิมนั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสำนึกทางการเมืองของประเทศไทยมาเกือบสองปีแล้ว และทำให้เราอยู่ในสังคมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image