จริยธรรมในรัฐสภา… โดย เฉลิมพล พลมุข

ความเป็นรัฐบาลที่บริหารประเทศชาติบ้านเมืองโดยคณะรัฐมนตรีในประเทศนั้นๆ ย่อมต้องส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตประชากรของประเทศในบริบทต่างๆ ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงได้ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือตำแหน่งอื่นใดที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการ ทั้งบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ สิ่งสำคัญยิ่งนอกเหนือความรับผิดชอบต่อหน้าที่แล้ว คุณธรรม ศีลธรรม มโนสำนึกจริยธรรมของนักการเมืองย่อมต้องมีในระดับสูงตามไปด้วย

รัฐบาลในชุดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จากสถานภาพผู้บัญชาการทหารบก ได้ทำการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เมื่อช่วงใกล้เกษียณอายุราชการ ด้วยเหตุผลก็คือบ้านเมืองในขณะนั้นรัฐบาลชุดก่อนบริหารประเทศชาติที่ขาดความโปร่งใส มีทุจริตคอร์รัปชั่นเอื้อในอำนาจและผลประโยชน์ในพวกพ้องญาติพี่น้อง ประชาชนทั่วไปมีการประท้วงรัฐบาลปิดถนน สนามบิน ทำเนียบรัฐบาล มีการใช้อาวุธสงครามทำให้สถานที่ราชการ ประชาชนที่บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตายไปหลายคน

การบริหารประเทศในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ใช้ในการปกครองประเทศโดย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารราชการมาตั้งแต่ทำการรัฐประหารมาถึงปัจจุบัน อีกไม่นานนักก็ครบในวันเวลาเจ็ดปี ช่วงเวลาดังกล่าวคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศเป็นเช่นไร หนี้รายวัน คนตกงาน ยาเสพติด คนหลบหนีเข้าเมือง การฆ่าตัวตาย อาชญากรรายวัน ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่า คดีความในศาลปกครองที่เกี่ยวเนื่องกันหน่วยงานราชการกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งข้าราชการประจำ นักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับชาติบ้านเมือง สิ่งหนึ่งที่สื่อได้นำเสนอมาเป็นช่วงระยะก็คือ พฤติกรรมของนักการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับจริยธรรม…

จริยธรรมในความหมายของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็คือการบริหาร การปกครองหรือการดำเนินกิจการงานสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติบ้านเมือง นักการเมืองต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่นต่อจุดหมายและใฝ่ดีต่อสังคมในด้านธรรมาธิปไตย ต้องประกอบไปด้วยธรรมะและอัตถะ เล็งเห็นผลถึงระบบเศรษฐกิจที่ทั่วถึง เพียงพอ
หรือเล็งเห็นผลถึงการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในกิจการบริหารประเทศ โดยเฉพาะหลักการของจักรวรรดิวัตร…

Advertisement

หลักจักรวรรดิวัตรประกอบด้วย ให้การช่วยเหลือสงเคราะห์ประชาชนในประเทศที่มีความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้าให้ได้รับความสุข สร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ เกื้อกูลต่อปราชญ์ นักคิด นักบวชผู้ที่ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม หักห้ามถึงความโลภ อำนาจผลประโยชน์ในบรรดาพรรคพวกเพื่อนพ้อง ญาติพี่น้อง และอคติที่เกิดขึ้นในจิตใจกระทบไปถึงการบริหารราชการของประเทศชาติบ้านเมือง

วันเวลาที่ผ่านมาสื่อในสังคมไทยเราได้นำเสนอที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมายของบ้านเมือง อาทิ การยุบพรรคและตัดสินทางการเมือง การคอร์รัปชั่น เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน นักการเมืองหลายคนต้องหนีคดีความไปยังต่างประเทศ หลายคนถูกจองจำอยู่ในเรือนจำที่ต้องรับโทษที่ได้กระทำความผิดเอาไว้ เราท่านในฐานะประชาชนคนไทยทั้งประเทศเมื่อถึงครั้งคราใดที่จำต้องออกไปใช้สิทธิทางการเมืองด้วยการลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้คนส่วนหนึ่งได้ออกไปใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งโดยคาดหวังว่า จักได้นักการเมืองที่ดี คนดี ซื่อสัตย์สุจริต ทำงานการเมืองเพื่อแผ่นดินเกิดด้วยสุจริตธรรม วันเวลาดังกล่าวผ่านไป เราท่านได้พบความผิดหวังจากการคาดหวังในเรื่องดังกล่าว คำถามหนึ่งก็คือ เมื่อใด เวลาใดสังคมไทยเราจักได้นักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ เข้าไปทำงานในรัฐสภาเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง…

กรณีที่สำนักงานคณะกรรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณากรณีกล่าวหาบุกรุกที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ร้องไปยัง ป.ป.ช.ที่เห็นว่า น.ส.ปารีณาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบุกรุกที่ดิน กรณีจงใจที่จะกระทำความผิดทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ซึ่งให้มีอำนาจไต่สวนจริยธรรมของนักการเมือง สำหรับโทษข้อหาดังกล่าวจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. โดยเมื่อศาลฎีการับฟ้องจะต้องพิจารณาตัดสินว่าต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่… (prachachat.net)

Advertisement

และกรณีที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ได้ถามนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาถึงการให้มีลงมติวาระสามด้วยการขานชื่อใช่หรือไม่ นายชวนตอบว่า ใช่ครับ นายชาดาจึงได้พูดกลับไปว่า “ผมคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ศรีธนญชัย โกหก ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก พรรคภูมิใจไทยไม่ได้เล่นละครตบตาประชาชน เพราะไม่จำเป็นต้องแคร์ใคร ไม่ต้องรักษาอำนาจให้ใคร เกมแบบนี้มันไม่ถูกต้อง…” หลังจากนั้นนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ก็ได้เดินวอล์กเอาต์ออกนอกห้องประชุม…

นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติดังกล่าว ได้กล่าวถึงการกระทำของ ส.ส.ดังกล่าวที่ใส่ความ ให้ร้ายทำให้ตนและ ส.ส. ส.ว. 474 คนเสียหายต่อชื่อเสียง ยังประณามรัฐสภาว่าเป็นสภาโจ๊ก ทำให้ผิดต่อข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข้อที่ 12 “สมาชิกและกรรมาธิการต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท เสียดสี หรือใส่ร้ายป้ายสีบุคคลใด หรือนำเอาเรื่องที่เป็นเท็จมาอภิปรายแสดงความเห็นในที่ประชุมหรือที่อื่นใด…”

ตนในฐานะของผู้เสียหายจะเรียกร้องให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้สอบสวนการกระทำ ให้ดำเนินการรับผิดชอบตามมาตรฐานในการดูแลควบคุมสมาชิกพรรคให้มีจริยธรรมและมารยาททางการเมือง…(thairath.co.th)

หากเราท่านได้ติดตามพฤติกรรมทางจริยธรรมของนักการเมืองไทยเราหรือนักการเมืองในบางประเทศ ก็ได้พบเห็นภาพที่ ส.ส. รัฐมนตรีได้ใช้วาทกรรม ตรรกะเหตุผลโต้แย้งฝ่ายตรงกันข้ามทั้งภาษาสุภาพและตรงกันข้าม มิรวมถึงการขว้างปาสิ่งของ เก้าอี้ และการทะเลาะทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน บางคนนั่งหลับ ดูคลิปโป๊ หลีกหนีการประชุมที่ต้องแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง คำถามหนึ่งที่ตรงไปยังเขาเหล่านั้นก็คือ เขาเหล่านั้นเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนของราษฎรอย่างแท้จริงหรือไม่ สมกับค่าตอบแทนเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือเงินอื่นใดหรือไม่ มิอาจจักรวมถึงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อหลักการควร-มิควร ถูก-ผิด ดี-ชั่ว

ผู้เขียนรวมถึงท่านผู้อ่านหลายท่านที่ได้กระทำหน้าที่ของตนเอง ทั้งประกอบหน้าที่การงานด้วยสุจริตธรรม การดำรงตนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ เงินรายได้ที่ได้มาทำการเสียภาษีประจำปีอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานราชการหรือประเทศชาติร้องขอให้ช่วยในกิจกรรมต่างๆ ของชาติบ้านก็ได้เข้าร่วมในภารกิจดังกล่าว การลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่แทนตนทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศชาติก็ได้ใช้สิทธิออกเสียงตามรัฐธรรมนูญทุกประการ

คำถามหนึ่งก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญในสังคมไทยเราที่ผ่านมาในจำนวนยี่สิบฉบับตั้งแต่ฉบับแรกได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 และฉบับปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 หรือเมื่อสองปีที่ผ่านมาแล้ว เหตุบ้านการเมืองในวันเวลานี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยถึงมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนู มาตรา 256 (1)

ในคำวินิจฉัยดังกล่าว เห็นว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง…

การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของรัฐสภาไทยในครั้งนี้ ฤาว่าจะอยู่ในดินแดนสนธยาหรือเมืองแห่งเขาวงกต ที่ถูกออกแบบทางหนีทีไล่ของพฤติกรรมของนักการเมือง ทั้งในเกมหมากรุก หมากล้อม ที่ต้องใช้วันเวลาที่ยาวนานพร้อมทั้งงบประมาณหลายพันล้านบาท การได้มาของนักการเมืองที่สุจริตธรรมในสมัยหน้ารัฐบาลหน้า ยังคงวนเวียนทั้งอุดมการณ์ทางการเมืองและความสำนึก ศีลธรรม จริยธรรมของนักการเมืองไทยอย่างแท้จริงหรือไม่…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image