เดินหน้าชน : ใครจริงใจแก้ไขรธน. โดย จตุรงค์ ปทุมานนท์

ที่ประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อลงมติโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ พ.ศ. … เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา ถือว่าไม่เหนือความคาดหมาย

หลังจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล บางส่วนส่งสัญญาณมาก่อนหน้านั้นว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ก่อนที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีการทำประชามติ

สอบถามประชาชนผู้ที่มีอำนาจสถาปนาร่างรัฐธรรมนูญว่าจะให้ความเห็นชอบ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement

สุดท้ายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 3 ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …

ดูจากสัญญาณหลังจากที่ประชุมรัฐสภาพิจารณายังไม่เสร็จสิ้น โดยฝ่ายรัฐบาลและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ

เดินเกมเพลี่ยงพล้ำแพ้โหวต กมธ.เสียงข้างน้อย ในมาตรา 9 ที่ขอปรับการแก้ไขการทำประชามติจากเดิมเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี

Advertisement

เพิ่มเงื่อนไขและอำนาจการทำประชามติ เป็น 5 เงื่อนไข คือ 1.การออกเสียงที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามที่มีบทบัญญัติกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

2.การออกเสียงกรณีเมื่อ ครม.เห็นว่ามีเหตุอันสมควร 3.การออกเสียงตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการออกเสียง

4.การออกเสียงในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้ชี้แจงเรื่องให้ ครม.ดำเนินการ

5.การออกเสียงกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบการออกเสียง ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ส่งให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในมาตราอื่นๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรา 9 คณะ กมธ.ต้องกลับไปแก้ไขเนื้อหาใหม่ ให้สอดคล้องกับเนื้อหาของมาตรา 9 ที่
กมธ.เสียงข้างน้อยเสนอ

เรียกได้ว่าการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคมที่ผ่านมา คือ เสียเวลาเปล่า เพราะ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบ ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

ขณะร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ยังคงต้องรอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง และยังไม่แน่ใจว่าผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่

โดยสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ในนามของสมาชิกรัฐสภา ต่างออกมายกเหตุผลการทำหน้าที่ของตัวเองว่าทำดีที่สุด พร้อมกับตำหนิกันเองว่า

ต่างฝ่ายไม่มีความจริงใจ และตีสองหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อพี่น้องประชาชนเลย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการมากว่า 1 ปี กลับล้มเหลว ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ และยังไม่มีหลักประกันใดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้จริง

ยิ่งคำพูดและท่าทีของผู้มีอำนาจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาระบุล่าสุดว่า “ไม่อยากให้ผมสืบทอดอำนาจ ก็ไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้แล้วกัน”

ถึงวันนี้ ประชาชนเขาดูกันออกแล้วว่า ใครจริงใจ ใครตีสองหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image