อนิจจัง อำนาจ ตำแหน่ง พลังประชารัฐ ศึกษา ‘4 กุมาร’

อนิจจัง อำนาจ ตำแหน่ง พลังประชารัฐ ศึกษา ‘4 กุมาร’ มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก

อนิจจัง อำนาจ ตำแหน่ง พลังประชารัฐ ศึกษา ‘4 กุมาร’

มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก มีการเคลื่อนไหวอย่างไม่ขาดสาย “ภายใน” ของพรรคพลังประชารัฐ เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณในทางการเมือง

นั่นคือ ข่าวการเติบโตของ “กลุ่ม 3 ช.”

1 คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 1 คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

Advertisement

สะท้อนให้เห็น “ความขัดแย้ง” อันก่อหวอดขึ้น

เริ่มจากความขัดแย้งในห้วงแห่งการหาเสียงในการเลือกตั้งซ่อมที่ เขต 3 นครศรีธรรมราช ตามมาด้วยการปะทะในทางวาจาระหว่างกรรมการบริหารพรรค

ตัวละครสำคัญคือ “เลขาธิการพรรค”

Advertisement

เป็นเพราะเลขาธิการพรรคถูกบดบังบทบาทในการหาเสียงที่เขต 3 นครศรีธรรมราช เป็นเพราะมีคนจาก “กลุ่ม 3 ช.” เข้าไปมีส่วนในการจัดวาระ

ข่าวลือจึงพุ่งเข้าใส่ “เลขาธิการพรรค”

หากสรุปตามสำนวนไทยโบราณก็ต้องยอมรับว่า หากต้องการระงับ “ข่าวลือ” ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาไปยังต้นตออันมีส่วนให้เกิด “ข่าวลือ”

ถามว่า น้ำหนักของ “ข่าวลือ” มีมากเพียงใด

แม้คำตอบในเชิงปฏิเสธไม่เพียงแต่จะมาจากตัว “เลขาธิการพรรค” เอง หากแม้กระทั่ง “หัวหน้าพรรค” ก็ออกมาปัดอย่างหงุดหงิด

ถามว่าการเปลี่ยนแปลงมีความเป็นไปได้หรือไม่

หากประเมินจากท่าทีของหัวหน้าพรรค หากประเมินจากท่าทีของเลขาธิการพรรค หากประเมินจากรากฐานของเลขาธิการพรรคเอง

ความเป็นไปได้ก็มีน้อยอย่างยิ่ง

เพราะเลขาธิการพรรคมีความสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ว่าจะเป็น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะเป็น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

กระนั้น ก็ไม่ควรลืมกรณีของ “กลุ่ม 4 กุมาร”

ถามว่าสถานะในทางการเมืองของ “กลุ่ม 4 กุมาร” มีความสำคัญหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่ามีความสำคัญตั้งแต่ก่อนมีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐด้วยซ้ำ

แท้จริงแล้ว หวอดของพรรคพลังประชารัฐเริ่มที่ “ทำเนียบรัฐบาล”

ไม่ว่าการเกิดขึ้นของ “กลุ่มสามมิตร” ไม่ว่าการเดินสายเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาลของ “กลุ่ม กปปส.” ที่เริ่มจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

และเมื่อมีการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ

นายอุตตม สาวนายน ก็เดินจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็เดินจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปนั่งเป็นเลขาธิการพรรค

แต่เมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้นตาม “เป้าหมาย”

วันดีคืนร้ายตำแหน่งหัวหน้าพรรคก็ถูก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยึดไป ตำแหน่งเลขาธิการพรรคก็ตกอยู่ในมือของ นายอนุชา นาคาศัย

แม้กระทั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีก็หลุดจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ไม่ว่าคำการันตีจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ไม่ว่าคำการันตีจาก นายอนุชา นาคาศัย ในฐานะเลขาธิการพรรค

จึงต้องฟังหู ไว้หู

เส้นทางที่ นายอุตตม สาวนายน ประสบ เส้นทางที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ประสบ เส้นทางที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประสบน่าจะเป็นบทเรียน

ป็นบทเรียนต่อ นายอนุชา นาคาศัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image