ภาพเก่าเล่าตำนาน : กะเหรี่ยง…ที่เราไม่ค่อยรู้จัก โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีทหารไทยได้รับทุนไปศึกษาในกองทัพสหรัฐอเมริกาจำนวนไม่น้อย …หลักสูตรยาว-สั้น บ้างก็ไปหลักสูตรฝึกหนักปางตายในป่า-เขา ทุกข์ทรมานแค่ไหนก็ต้องกัดฟัน ให้สำเร็จให้ได้… มีนายทหารไปฝึก…แม้กระทั่งหลักสูตร SEAL

บ้างก็ไปศึกษาแบบเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค” ใช้เครื่องมือทันสมัย บ้างก็ไปแต่งตัวหล่อนั่งเรียนกับฝรั่ง กินอิ่ม นอนอุ่น…

ทหารไทยมีทั้ง…เดินทางไปเดี่ยว เดินทางไปมากกว่า 1 คน ครั้งแรกก็จะเงอะงะ ตั้งแต่กรอกเอกสารก่อนขึ้นเครื่องบิน ระหว่างนั่งเครื่องบิน และเมื่อไปถึงปลายทางในอเมริกา

ถ้าทหารเดินทางไปอเมริกา จะมีคำสั่งเดินทาง หรือ ITO (Invitation Travelling Order) ที่กองทัพสหรัฐออกให้แนบไปกับพาสปอร์ต เป็นการอำนวยความสะดวก ไม่ถูกซักถามจุกจิก

Advertisement

ถือว่าเป็น “บุคคลที่ได้รับเชิญ” ให้มาอเมริกา

ถ้าไม่รู้จะไปไหน ทำอะไร ให้งัดเอกสารนี้มาแสดง จะไปตลอดรอดฝั่งถึงที่หมาย มีเบอร์โทรศัพท์ ระบุชื่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน…

มีทหารเกือบทั่วโลกเดินทางไป ฝึก ศึกษา ประชุมในอเมริกา ถ้าใช้ภาษาอังกฤษคล่องก็สบายหายห่วง …เมื่อถึงสนามบินในอเมริกา ถ้าต้องเดินทางต่อไปอีกอาคาร ถ้าต้องใช้รถไฟฟ้า (รถราง) รถบัส เดินไกลในท่าอากาศยาน เพื่อเปลี่ยนเครื่อง…หัวใจมันสั่นระรัว กลัวสารพัด…

Advertisement

… เรามักจะ “หยอกล้อ” กันเอง เรียกพวกเรากันเองว่า “พวกกะเหรี่ยง” หรือ “กะเหรี่ยงอย่างเรา” เป็นอันรู้กันว่า… เป็นคนที่มาจากแดนไกลโพ้น ไม่คุ้นชิน ไม่ค่อยรู้เรื่อง

ครูฝรั่งเค้าพูดยาวๆ “กะเหรี่ยง” …จะไม่เข้าใจ… ประโยคคำถามยาวๆ ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ คือ ความขมขื่น ความระทมทุกข์

เราสอนกันมาว่า…“ถ้ากะเหรี่ยงฟังไม่รู้เรื่อง… ให้ยิ้มไว้ก่อน” และถ้าจะต้องตอบแบบเท่ๆ เก๋-มีฟอร์ม…ให้กะเหรี่ยงตอบ “YES” แล้วจะประสบความสำเร็จ ไปได้ตลอดรอดฝั่ง…

เราภูมิใจที่ได้เป็น กะเหรี่ยง…แล้วจะนำเรื่องเฟอะฟะทั้งหลายกลับมาหยอกล้อ เสียดสีกันกันแบบเฮฮา เมื่อผ่านอุปสรรคไปได้… ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกเรื่อง…ทุกอย่างมีครั้งแรก… ฝรั่งเองก็ใช่ว่าจะรู้ไปหมด

มิได้เป็นการหยามเหยียด ดูแคลน “กลุ่มชาติพันธุ์-ชนเผ่า” อะไรทั้งนั้นนะครับ…เป็นความพยายามที่จะถ่อมตน ตำหนิตนเองแบบขำๆ ทำอะไรก็ผิดๆ ถูกๆ (ปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว)

ที่หายไปชัดๆ คือ ไม่มีใครเอาพวงมาลัยมาคล้องคอที่สนามบิน

คอลัมน์ ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอพูดคุย แนะนำ “กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง” ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในประเทศเมียนมา มีอาณาบริเวณติดกับชายแดนไทย เป็นกลุ่มที่มีความหลังฝังใจ มีแนวทางการดำรงสถานะ “แตกต่าง-ไม่ลงรอย” กับรัฐบาลพม่ามาช้านาน

ดินแดนทางตอนใต้ของจีน เป็นเขาสูง กว้างใหญ่ไพศาล มีมนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์อาศัยบนพื้นที่สูง อยู่บนภูเขาทั้งชีวิต มานานหลายพันปี

ชุมชนบนพื้นที่สูง กระจายตัว แยกย้ายกัน มีการผสมกลมกลืน มีการแยกกลุ่ม …เป็นพื้นที่เก่าแก่ของโลกมนุษย์ ส่วนหนึ่ง คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไทย

“กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง” มีรากแก้ว รากฝอย ขยายเผ่าพันธุ์ แผ่ซ่านไปทั่วภูมิภาค กิน อยู่ หลับ นอน มีอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่ม

ชาวกะเหรี่ยงมีประชากรราว 5-7 ล้านคน มีภาษาพูดที่เป็นสำเนียงต่างๆ มากถึงราว 20 สำเนียง โดยกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ “กะเหรี่ยงสะกอ” และ “กะเหรี่ยงโปว์” กะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กะยาห์ บเว กะยิน เบร ปะโอ

นักวิชาการสืบค้นแล้วพบว่า… ชาวกะเหรี่ยงน่าจะอพยพลงมาจากทางตอนใต้ของจีน มาถึงดินแดนที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบันเมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว บ้างก็เดินทางมาจากมองโกเลีย มุ่งหน้าลงใต้มายังบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง อิรวดี และสาละวิน

คำว่า “กะเหรี่ยง” นั้นเป็นคำที่ชาวไตและชาวพม่าใช้เรียก หมายถึงคนที่อยู่ตามภูเขาและป่า แต่พวกเขาไม่เคยเรียกตัวเองว่ากะเหรี่ยง

ในดินแดนพม่า…ชาวกะเหรี่ยง 20% เป็นชาวคริสต์ ในขณะที่อีก 75% เป็นชาวพุทธ มีชาวกะเหรี่ยงกลุ่มเล็กๆ ที่นับถือผี

กลุ่มเล็กๆ เรียก “กะเหรี่ยงดำ” เป็นมุสลิม… ในปัจจุบันมีชาวกะเหรี่ยงอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีราว 3 ล้านคน มีวิถีชีวิตเป็นชาวนา

เผ่ากะเหรี่ยง-เผ่าพม่า… ไม่เหยียบเงา ไม่เผาผีกันมาแสนนาน

ความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงและพม่า มีสาเหตุมาจากยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ…

พ.ศ.2356 มิชชันนารีชาวอเมริกันคนแรก รอนแรมบุกป่าฝ่าดงเสี่ยงชีวิตเข้าไปถึงถิ่นชาวกะเหรี่ยง (ตรงกับช่วงต้นรัชสมัยในหลวง ร.2)

มิชชันนารีสร้างมิตรไมตรีกับชาวกะเหรี่ยง ให้การรักษาพยาบาล สอนหนังสือ สอนศาสนา ทุ่มเท-ฝังตัวอยู่กับชุมชนกะเหรี่ยง …

16 พฤษภาคม พ.ศ.2371 มีชาวกะเหรี่ยงคนแรกเปลี่ยนมานับถือคริสต์ มิชชันนารีศึกษา เรียนรู้กลุ่มชาติพันธุ์ในป่าเขาในพม่า รู้แจ้งประจักษ์ว่า เผ่าไหนเป็นเผ่าไหน มุ่งมั่นทำงานเพื่ออุทิศแก่พระผู้เป็นเจ้า

“กะเหรี่ยงสะกอ” เปลี่ยนมานับถือคริสต์ง่ายกว่า “กะเหรี่ยงโปว์” เพราะ “กะเหรี่ยงโปว์” ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธอยู่ก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามาถึง

กะเหรี่ยงสะกอที่หันไปนับถือคริสต์ ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษ กลายเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้า บางส่วนออกมาจากป่า เข้ามาทำงานในเมือง ได้เรียนต่อในระดับสูง

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่เห็น “ความแตกต่าง” ของคุณภาพชีวิต เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์…

พ.ศ.2418 (ตรงกับช่วงรัชสมัยในหลวง ร.5) มีการจัดตั้ง วิทยาลัยแบพติสต์ ในย่างกุ้ง เป็นที่รู้จักกันในชื่อวิทยาลัยกะเหรี่ยง เพราะชาวกะเหรี่ยงคริสต์มาเรียนภาษาอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่สำเร็จการศึกษา มีความรู้ …ชีวิตเปลี่ยน มีอนาคตสดใส ได้เข้ารับราชการในกองทัพอังกฤษ ถือเป็นพวกของอังกฤษ มีสถานะโดดเด่นในสังคม

ในขณะที่ชาวพม่าไม่ได้รับราชการทหาร และไม่ได้เข้าร่วมในระบอบอาณานิคม กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง

ชนเผ่า “บะม่าห์ (พม่า)” ที่เขม่นอยู่กับอังกฤษ …สะสมความไม่พอใจที่กะเหรี่ยงมีอังกฤษสนับสนุน

กะเหรี่ยงผูกพันกับอังกฤษ โดยผ่านมิติทางศาสนาคริสต์และระบบการศึกษาตามแบบตะวันตก

มิชชันนารีอเมริกันทุ่มเทชีวิตจิตใจ เรียนรู้ภาษากะเหรี่ยง พัฒนาภาษาเขียนของภาษากะเหรี่ยง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ไม่เคยรู้อะไรมาก่อน ไม่รู้เรื่องเผ่าพันธุ์ตนเอง เริ่มเรียนรู้ เกิดวรรณกรรมและสิ่งพิมพ์

ใน พ.ศ.2385 มิชชันนารีแบพติสต์ ตีพิมพ์นิตยสารภาษากะเหรี่ยงสะกอ ชื่อวาทูกอ (ดวงตายามเช้า) สิ่งนี้ทำให้เกิด “ชาตินิยมกะเหรี่ยง” ขึ้น

วันเวลาผ่านไป…ชนเผ่ากะเหรี่ยง “ภักดี” ต่อชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษ แบบแนบแน่น ชาวป่า ชาวเขาพบว่าชนเผ่าตนเองล้าหลัง ดักดาน มาตลอด

คนที่รู้ภาษาอังกฤษและได้รับการศึกษา ทำให้กะเหรี่ยงสะกอก้าวหน้ากว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นกะเหรี่ยงพุทธ

กะเหรี่ยงสะกอ เป็นกลุ่มแรกที่สร้างองค์กรทางการเมืองของกะเหรี่ยง และเป็นกลุ่มที่เด่นในบรรดาขบวนการของชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด

แผลในใจ… แค้นที่ลืมไม่ลง…ไม่สามารถรักกันได้…

ย้อนไปในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 อังกฤษยึดพม่าได้หมด ในเวลานั้น… ชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นฝ่ายสนับสนุนอังกฤษ และเมื่อชาวพม่าก่อกบฏต่อต้านอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงก็อยู่ฝ่ายอังกฤษ

กะเหรี่ยง อยู่คนละฝ่าย คนละมุม กับ พม่า มาตลอด

กลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า มี 8 เผ่าหลัก (รวมทั้งเผ่าพม่า)

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกในพม่าที่จัดตั้งองค์กรทางการเมือง

พ.ศ.2424 ชาวกะเหรี่ยงจัดตั้ง สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นตัวแทนของกะเหรี่ยงทั้งหมด ไม่ว่าจะในด้านศาสนา ภาษา หรือที่อยู่อาศัย สมาชิกของสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์

พ.ศ.2482 กะเหรี่ยงพุทธ ได้จัดตั้งสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงพุทธจัดตั้งขึ้นมาประกบกัน

สมาคมของกะเหรี่ยงคริสต์ มีความใกล้ชิดกับอังกฤษ ส่วนสมาคมของกะเหรี่ยงพุทธมีความใกล้ชิดกับพม่า

กะเหรี่ยงคริสต์หลายคนที่มีผลการศึกษาดี มีหน่วยก้านดี อังกฤษก็ส่งไปเรียนต่อในอังกฤษ…

พ.ศ.2471 ดร.ซาน ซี โป นักกฎหมายชาวกะเหรี่ยง ที่สำเร็จการศึกษาจากอังกฤษเป็นคนแรก ประกาศในที่สาธารณะว่า “ต้องการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยง”

พ.ศ.2480 ได้ออกแบบ “ธงชาติกะเหรี่ยง” ชาวกะเหรี่ยงถือว่าตนเองเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งหลักแหล่งในดินแดนพม่า

กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 (ราว 1 ปีก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช) พัฒนาเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลมาครึ่งศตวรรษในพื้นที่ที่เป็นรัฐกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ ก็มิได้ฝักใฝ่จะรบพุ่งทำสงครามกับพม่า ยังรักความเป็นอิสระ มิได้มีเอกภาพในเรื่องอาณาเขตเผ่าพันธุ์ของตน

ต้นปี พ.ศ.2485 ญี่ปุ่นบุกเข้าไปในพม่า จัดตั้งกองทัพเอกราชพม่า (Burmese Independent Army : BIA) เพื่อขับไล่อังกฤษ … ญี่ปุ่น “ไม่เอา” กะเหรี่ยงเข้ามาร่วมด้วย เพราะทราบดีว่าภักดีต่ออังกฤษ

เหตุการณ์สำคัญที่เป็นนำไปสู่สงครามภายในประเทศ คือครั้งหนึ่ง… กองทัพ BIA ยกกำลังไปสังหารชาวกะเหรี่ยง กองทัพทำลายหมู่บ้าน คาดว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1,800 คน

เกิดความตึงเครียดระหว่าง “เชื้อชาติกะเหรี่ยง” และ “เชื้อชาติพม่า” ที่นายพล ออง ซาน พยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย

พ.ศ.2486 จัดตั้ง กองพลทหารกะเหรี่ยงขึ้นในเขตเทือกเขาทางตะวันออกของพม่า มีกำลังพลกว่า 1 หมื่นนาย

มีเหตุปะทะ มีการพูดคุยที่ไม่สามารถตกลงกันได้…แตกหักตลอดมา

ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2491 กองทัพกะเหรี่ยงบุกเข้าใกล้ย่างกุ้ง และต่อมากะเหรี่ยงเข้ายึดเมืองมะละแหม่ง

ชาวกะเหรี่ยงและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ฝังใจ แน่วแน่ ไม่ยอมที่จะต้องถูกบีบให้อยู่ในรัฐที่มีชาวพม่าเป็นชนกลุ่มใหญ่

ผู้นำชาวกะเหรี่ยง ซอบาอูจี… ได้เสนออังกฤษให้จัดตั้งรัฐใหม่เรียก “กะเรนิสถาน” แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้สนใจมากนัก เพราะกลัวชนกลุ่มน้อยที่เหลือจะขอตั้งรัฐอิสระแบบกะเหรี่ยง…พม่าจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ

นายพล ออง ซาน พยายามจะรวมชนกลุ่มน้อยทั้งหมดเข้าในประเทศพม่า ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2490 มีการลงนามในความตกลง “ปางโหลง” กับตัวแทนชาวไทใหญ่ ชีน (Chin) และกะชีน (Kachin) แต่ไม่มีตัวแทนจากกะเหรี่ยง

รัฐบาลพม่า จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงคว่ำบาตรการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทำให้ไม่มีเสียงของชาวกะเหรี่ยงใน ส.ส.ร.

17 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในย่างกุ้งสั่งให้จัดตั้งองค์กรป้องกันแห่งชาติ กลุ่มกะเหรี่ยงที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเริ่มการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช

14 มิถุนายน พ.ศ.2492 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงประกาศจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงอิสระ หรือกอทูเลย์ (Kaw Thoo Lei)

31 มกราคม พ.ศ.2492 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ห้าวหาญ ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่า กองทัพพม่าพยายามปิดล้อมกองทัพกะเหรี่ยงด้วยนโยบาย “สี่ตัด” (4 Cuts) ซึ่งจะควบคุมในด้านอาหาร เงินทุน การศึกษา และกำลังคน… วิธีนี้ได้ผลมาก

ในระหว่าง พ.ศ.2506-2507 มีการเจรจาสันติภาพแต่ไม่ได้ผล

ใน พ.ศ.2513 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงมีความขัดแย้งภายในกันเอง เช่น เกิดกลุ่มเทเลคอนที่ประกาศตนว่า “เป็นกะเหรี่ยงแท้”

พ.ศ.2519 โบ เมียะ (Bo Mya) ขึ้นเป็นผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เปลี่ยนข้อเรียกร้องจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐเอกราชหรือกอทูเลย์มาเป็น “สิทธิในการปกครองตนเอง”

พ.ศ.2532 มีข้อเสนอหยุดยิงที่เสนอโดยกองทัพพม่าแต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงปฏิเสธ

พ.ศ.2537 มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง…ล้มเหลว

ธันวาคม พ.ศ.2537 มีการจัดตั้ง “กองทัพกะเหรี่ยงพุทธ ประชาธิปไตย” (DKBA) …กองทัพกะเหรี่ยงพุทธ เข้ายึดค่ายมาเนอปลอว์ที่ใกล้ชายแดนไทยได้ ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพพม่า

ในระหว่าง พ.ศ.2538-2540 มีการประชุมกันหลายครั้งระหว่างทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แต่โบ เมียะไม่ยอมรับ

พ.ศ.2541 มีชาวกะเหรี่ยงสองพี่น้องฝาแฝด จัดตั้งกองกำลังพระเจ้า หรือก๊อดอาร์มี่ กลุ่มนี้ได้เข้ายึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯและโรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี แต่ถูกทหารไทยปราบเรียบ

ขอให้ข้อมูลท่านผู้อ่านที่เคารพเพิ่มเติมครับ…

พ.ศ.2527 ชาวกะเหรี่ยงนับหมื่น เริ่มทยอยข้ามพรมแดนมายังไทย ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสี่ตัดของกองทัพพม่า

ชาวกะเหรี่ยงราว 2 แสนคน ลูก เด็กเล็กแดง คนทะลักเข้าในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย

หลังจากค่ายมาเนอปลอว์แตกใน พ.ศ.2538 ผู้นำ KNU ได้ย้ายฐานที่มั่นมาอยู่ใกล้ชายแดนไทยที่ อ.แม่สอด เกิดการสู้รบบ่อยครั้ง

ชาวกะเหรี่ยงและเผ่าอื่นๆ ราว 2 แสนคนเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 7 แห่ง ตามแนวชายแดนไทย-พม่า

(มีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน ที่ได้ไปตั้งหลักแหล่งในประเทศตะวันตกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 ส่วนใหญ่ไปอเมริกา)

พ.ศ.2549 โบ เมียะ เสียชีวิต ปะโด่ มัญ ชาละพัน ได้เข้าทำหน้าที่แทนที่โบ เมียะ …แต่ถูกลอบสังหาร

ต้นปี พ.ศ.2554 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นเพียง 1 ใน 7 กองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธที่ยังต่อสู้กับรัฐบาลพม่า

12 มกราคม พ.ศ.2555 มีการลงนามในสัญญาสงบศึกระหว่างกะเหรี่ยงด้วยกันที่เมืองพะอาน

ชาวกะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งที่ต่อสู้เพื่อปกครองตนเองในพม่า ต่อมา…กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ “กลุ่มสุดท้าย” ของพม่าที่ตกลงหยุดยิงในสมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง

1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมียนมา… ทุกฝ่ายจับตา จ้องมองท่าทีของชนกลุ่มน้อยติดอาวุธอีกราว 7 กลุ่มว่าจะ “ยืนตรงไหน ?”

18 มีนาคม 2564 ปะโด่ ซอ ตอ นี (Padoh Saw Taw Nee) หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า…”จะสนับสนุนประชาชนชาวพม่า” และกล่าวว่า “ข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า” ที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ ถือว่า “เป็นอัมพาต” …

ผ่านมาแล้วราว 50 ปี…หนทางแห่งสันติภาพ…ยังอีกยาวไกล…

ผู้หนีภัยจากการสู้รบ …ยังคงตกค้างอยู่ใน 7 ค่ายในดินแดนไทยอีกราว 7 หมื่นคนเศษ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image