เดินหน้าชน : อหังการ-เหิมเกริม โดย โกนจา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยรายงานว่า นับตั้งแต่ นางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในสมัยแรก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าเมียนมามากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า เป็นเฉลี่ยปีละ 6,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ นางออง ซาน ซูจี ได้เข้ามาบริหารประเทศ เมียนมาได้เปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตรเป็นหลัก มาเป็นประเทศที่สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งกลายมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอและการตัดเย็บเสื้อผ้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกนี้ ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมียนมาที่เริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม

หลัง ออง ซาน ซูจี คว้าชัยชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง ทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งจีน ประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตก และสหรัฐ จะส่งผลดีต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเมียนมาทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นมาภายหลัง นายพลมิน อ่อง ลาย ทำการรัฐประหาร ประเทศเมียนมากลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ วันนี้ต้องกลายเป็น “รัฐล้มเหลว หรือ Failed State” กองกำลังรักษาความมั่นคงของเมียนมาได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 500 คน ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวยังคงทำการประท้วงต่อเนื่อง เมียนมากำลังถลำเข้าสู่การเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพมากขึ้นและปกครองได้น้อยลงในแต่ละวัน

ยิ่งผมเห็นภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งตัวแทนกองทัพไทยเข้าร่วมงานวันสถาปนากองทัพเมียนมา ขณะกองทัพนานาชาติไม่เข้าร่วมและออกมาประณามสิ่งเหล่านี้ ยิ่งคำพูดของ “บิ๊กตู่” ที่บอกว่า “ไทยสนับสนุนทหารเมียนมาตรงไหน ผมไม่เข้าใจ คงไม่มีใครที่จะไปสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน”

Advertisement

สะท้อนตัวตนของทหารที่เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศที่แยกคำว่า “ถูกต้อง-ชอบธรรม” ไม่ออก

สิ่งนี้มันกำลังสะท้อนออกมาในสถานการณ์การเมืองไทยที่มีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล

เหมือนที่ น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย มองสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในขณะนี้ว่า เริ่มใกล้เคียงกับพม่าขึ้นทุกที โดยเฉพาะการคว่ำรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นผู้ร่วมเสนอญัตติเอง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร นอกจากรัฐบาลจะไม่ให้ค่าแล้ว ยังทำการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงจนผู้ชุมนุมบาดเจ็บหลายราย

Advertisement

ด้วยความที่ พล.อ.ประยุทธ์มั่นใจว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ เพราะคงไม่ผ่านเสียง 250 ส.ว.จึงได้แสดงความอหังการด้วยการออกมาเย้ยคนไทยว่า “หากอยากตัดวงจรสืบทอดอำนาจของตัวเองให้ได้ ก็ต้องกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ก่อน แก้แล้วไม่เลือกตัวเองก็ได้ แต่ไปแก้มาให้ได้ก็แล้วกัน” ซึ่งท่าทีดังกล่าวสะท้อนถึงความลำพองของระบอบประยุทธ์ที่ไม่เคยเห็นหัวใครอยู่ในสายตา

ไม่ต่างจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย มองว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังหลงอยู่อำนาจที่ได้มาโดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน แต่ได้มาด้วยแผนการร้ายที่มีการวางไว้ เป็นการท้าทายอำนาจประชาชน มั่นใจในอำนาจที่ตัวเองมีแสดงออกถึงความเหิมเกริมในอำนาจ การออกมายอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับสืบทอดอำนาจ หากการสืบทอดอำนาจแล้วทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีความสุขไม่มีใครว่าเลย และนานาประเทศให้การยอมรับ แต่กลับกันระบอบประยุทธ์ได้อำนาจไปแล้วกลับทำลายโอกาสของพี่น้องประชาชน เศรษฐกิจประเทศพังไปหมด ประชาชนต้องอยู่อย่างอดอยากปากแห้ง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรเหิมเกริมท้าทายอำนาจประชาชน หากวันหนึ่งประชาชนหมดความอดทนน่ากลัวกว่าที่คิดไว้

แม้พิมพ์เขียวของเผด็จการทหารทั่วโลกที่มัก “อหังการ-เหิมเกริม” ใช้อำนาจกดขี่ประชาชนด้วยปลายกระบอกปืน แต่จุดจบมักคล้ายกัน

ผมก็กำลังจับตาดูจุดจบของผู้นำทหาร “เมียนมา-ไทย” ว่าจะลงเอยเช่นไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image