ภาพเก่าเล่าตำนาน : พลเอก เจ้ายอดศึก…เป็นใคร

นี่คือ…“คนสำคัญ” ที่ทุกฝ่ายกำลังจ้องมอง “การขยับตัว” หลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจในประเทศเมียนมาที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

เป็นผู้นำกองทัพรัฐชานภาคใต้ ดำรงตำแหน่ง ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCCS) และเป็นหัวหน้ากองกำลังกู้ชาติไทใหญ่

พลเอก เจ้ายอดศึก (General Sao Yawd Serk)

ท่านสำเร็จการศึกษา รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี…พูดภาษาไทยได้ชัดเจน เคยให้สัมภาษณ์สื่อไทยนับไม่ถ้วน…

Advertisement

ใกล้ชิด สนิทกับ บุคคลสำคัญของไทย มีท่าทีชัดเจน ตรงไป-ตรงมา เป็นผู้นำทางทหาร เป็นนักการทูต นักพัฒนา

เคยปรากฏเป็นข่าวในงานรับปริญญาของภรรยาในประเทศไทย…

19 มกราคม 2563 นางอำนวยพร ยอดบัญชา หรือนางเหลินคำ หรือพี่เดือน ภรรยาของ พล.อ.เจ้ายอดศึก เข้ารับปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ณ มหาวิทยาลัยนอร์ธ-เชียงใหม่

Advertisement

หลังจากรับปริญญาแล้ว พล.อ.เจ้ายอดศึก ได้เข้าบันทึกภาพร่วมกับคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ผศ.บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวว่า นางอำนวยพรเรียนจบอยู่ในเกณฑ์ระดับดี มีความตั้งใจในการเรียนดีมาก ตั้งใจจะนำวิชาความรู้ที่ได้ไปใช้บริหารพัฒนารีสอร์ตที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ข่าวสด 19 ม.ค.63)

เจ้ายอดศึก…เป็นผู้มีบทบาทนำในหลายวิกฤตการณ์ของเมียนมา…

การสู้รบยาวนาน ยืดเยื้อกว่า 60 ปี ในแผ่นดินเมียนมา ประชาชนลำบากยากแค้น แบ่งฝ่ายสู้รบกันเอง แถมยังต้องรบกับกองทัพพม่า

สงครามในเมียนมา มีกลุ่มติอาวุธมากมาย หลายกลุ่ม จับคู่เปลี่ยนข้าง ย้ายค่ายกัน จำไม่ไหว ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

การยึดอำนาจของกองทัพพม่าครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 กลายเป็น “จุดผกผัน” ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยกระจัดกระจายต่างคนต่างอยู่…หันมา “จับมือกัน” เป็นปึกแผ่น “ขอคัดค้านการยึดอำนาจ”

ผ่านมาราว 60 วัน…พอเห็นภาพได้ว่า… กองทัพพม่ากำลังเผชิญกับ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ราว 10 กลุ่ม… การสู้รบเกิดขึ้นแล้วใน “ลักษณะจำกัด”

หลังการยึดอำนาจ พล.อ.เจ้ายอดศึก จัดประชุมทางซูม (Zoom) เป็นผู้แทนของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงต่อสังคมโลก “ไม่เห็นด้วย”

เป็น “ท่าที-ก้าวย่าง” ที่แหลมคม บาดใจต่อกองทัพพม่ายิ่งนัก

พล.อ.เจ้ายอดศึก เป็นใคร …

พล.อ.เจ้ายอดศึกเกิดเมื่อ พ.ศ.2502 ในเขตรัฐชานภาคใต้ เมื่อเป็นหนุ่มฉกรรจ์ อายุ 17 ปี เข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติแห่งชาติรัฐชาน (Shan United Revolution Army : SURA)

SURA ภายใต้การนำของเจ้ากอนเจิง (โมเฮง) ที่ต่อมาไปเข้ารวมกลุ่มกับกองทัพเมิงไต (เมืองไต) ของ “ขุนส่า” ราชายาเสพติดในอดีต

พ.ศ.2539 ขุนส่าประกาศหยุดยิง นำไพร่พลประชาชนนับหมื่นหันไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่า ส่งมอบอาวุธของกองทัพเมิงไตให้กับกองทัพพม่า

เจ้ายอดศึกที่ไม่เห็นด้วย… ขอแยกตัวออกมาตั้งกองทัพของตนเองขึ้น จากกำลังพลเริ่มแรกราว 600-800 คนในอดีต (ปัจจุบัน SSA มีกำลังทหารที่ประเมินกันว่าอาจจะมากถึง 20,000 นาย)

ศึกสงครามในเมียนมา รบกัน-หยุดพัก-เจรจา-รบกัน เกิดกลุ่มใหม่ มีองค์กรใหม่ เป็นวังวนเช่นนี้…เป็นเรื่องที่สับสนอลหม่าน…ยากที่จะจำ

ที่ไหนรบกัน ที่นั่นก็มักจะมีการแอบเจรจา ไม่ใช่เรื่องแปลก…

ในช่วงที่ เต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดีเมียนมา (ระหว่าง พ.ศ.2550-2554) เจ้ายอดศึก คือ บุคคลสำคัญที่นำสภาฟื้นฟูรัฐชาน (RCSS) เข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า ได้ตกลงในหลักการที่จะให้มีผู้แทนของ RCSS นั่งร่วมกับรัฐบาลพม่า

ชาวไทใหญ่ที่เบื่อหน่ายการสู้รบ ที่ลำบากยากแค้น…แสนจะดีใจ

คนงานอพยพชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ประเทศไทยพูดว่า “ถ้าเราสามารถสร้างสันติภาพได้ก็จะดีสำหรับคนรัฐชานเพราะเราจะได้กลับบ้าน”

การเจรจา พูดคุย ต้องมีกองกำลัง ต้องมีอำนาจต่อรอง…

กลุ่มของเจ้ายอดศึก และ รัฐบาลพม่า เคยมีปัญหาในการพูดคุย ประเด็นหลักคือ “สถานที่พูดคุย” อันเป็นประเด็นที่ไม่ไว้ใจกัน ระแวงกันมาตลอด

รัฐบาลพม่า…ประสงค์ที่จะประชุมที่ “เมืองท่าขี้เหล็ก” ซึ่งเป็นเมืองของพม่าในรัฐชานติดชายแดนไทย ในขณะที่กลุ่มของเจ้ายอดศึกยืนกรานที่ อ.แม่สาย ตรงข้ามท่าขี้เหล็กใน จ.เชียงราย

เจ้ายอดศึก เป็นผู้นำกองกำลังกลุ่มรัฐชานทางใต้ (SSA-S)

ป่าง ฟ้า เป็นผู้บัญชาการกองทัพรัฐชานเหนือ (SSA-N)

ทั้ง 2 กลุ่ม เป็นพันธมิตรกัน อยู่ในรัฐชาน เคยกอดคอกันต่อสู้กับกองทัพพม่า เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเอง เจ้ายอดศึก คือ บุคคลที่กดดันรัฐบาลของ เต็ง เส่ง ให้จัดการเลือกตั้งในเมียนมาในปี พ.ศ.2554

เจ้ายอดศึก มีความเป็นผู้นำสูง ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในความร่วมมือกับพันธมิตรที่ต่อต้านรัฐบาลพม่า ทั้งปะโอ ละหู่ มอญ ว้า ฯลฯ เดินงานการเมืองเรียกร้องให้พม่าปฏิบัติตามสนธิสัญญาปางโหลง

7 กุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็น “วันชาติไทใหญ่”

เมื่อปี พ.ศ.2554 เจ้ายอดศึก ผู้นำ SSA-S ได้เปิดพื้นที่ดอยไตแลง จัดงานฉลองโอกาสครบรอบ 64 ปี วันชาติไทใหญ่ ท่ามกลางแขกเหรื่อ ซึ่งเป็นผู้นำทางการทหาร ผู้นำทางการเมือง ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า ที่ต่างเดินทางมาร่วมในงานนี้อย่างคับคั่ง

เจ้ายอดศึก มีบารมีเปล่งประกาย ควบคุมการรบ และเจรจา

ชาวไทใหญ่ที่เคยพลัดบ้าน พลัดเมือง คนที่เคยได้รับผลกระทบจากรัฐบาลทหารพม่า…ทยอยคืนถิ่นฐาน เข้ามาอยู่ร่วมมากขึ้น

เจ้ายอดศึก…สร้างโรงพยาบาลขนาด 20 เตียง สามารถถอนฟัน ทำคลอด ผ่าตัดเอากระสุนปืนออก ห้องแล็บตรวจเชื้อ มาลาเรีย HIV วัณโรค มีจานดาวเทียมที่รับข่าวสารทั่วโลกผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนสถานีวิทยุคลื่น FM 103.25 MHz ที่ถ่ายทอดเสียงไปไกลถึงรัฐชานตอนกลาง

เจ้ายอดศึกจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติดอยไตแลง ให้การศึกษาแก่ลูกหลานคนรุ่นใหม่ของชาวไต รวมถึงกลุ่มเด็กกำพร้าชาวไทใหญ่ ที่รับเข้ามาดูแล ส่งให้เรียนหนังสือ มีการสอน 3 ภาษาคือ ภาษาไต ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

ชาวไทใหญ่เริ่มเป็นปึกแผ่น แน่นหนา ได้รับการบ่มเพาะความรู้เรื่องความเป็นมาของชาติพันธุ์ให้กับชาวไต มีเป้าหมาย “เป็นเอกราช” เป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า

เจ้ายอดศึกและภรรยา สำเร็จการศึกษาในประเทศไทย ประกาศว่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อเยาวชนในรัฐชาน

ทำอะไรก็ “ได้ใจ-โดนใจ” ประชาชนชาวไทยใหญ่และกลุ่มชาติพันธุ์ที่มารวมตัวเป็นกลุ่มเดียวกันเป็นปึกแผ่น …เพื่อทวงคืนเอกราชจากพม่า

เจ้ายอดศึกเคยให้สัมภาษณ์ว่า… แม้ว่าพม่าจะผ่านการเลือกตั้งครั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2553

เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้รับการยอมรับ…จอมปลอม

เมื่อชนกลุ่มน้อยที่กระจัดกระจาย ต่างคนต่างอยู่ มีโอกาสได้พบปะพูดคุย มีผู้นำตัวจริงเกิดขึ้น ตัวแทนชน กลุ่มน้อยไม่ต่ำกว่า 12 กลุ่ม ทั้งที่เป็นกองกำลังติดอาวุธที่เคยทำสัญญาหยุดยิง และไม่ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า รวมถึงตัวแทนจากกลุ่มการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้ประชุมร่วมกันที่ชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดตาก

โดยที่ประชุมได้มีมติตั้งชื่อกลุ่มว่า Union Nationalities Federal Council หรือ UNFC และได้แต่งตั้ง พล.อ.มูตู ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union: KNU) เป็นประธานกลุ่ม

การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่องค์กรคะฉิ่น (KIO) องค์กรการเมืองของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independent Army) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และกองกำลัง Shan State Army เหนือ (SSA-N) ได้จับมือร่วมเป็นพันธมิตรกัน

ผ่านมาตั้งแต่ ปู่ ย่า ตา ทวด ทุกฝ่ายเคยต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อสิทธิความเสมอภาค การปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย และเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐในพม่า

เรื่องปากท้อง การทำมาหากิน รายได้ ของชาวชานเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน พี่จีนที่อยู่ทางตอนเหนือ ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง เล็งเห็นการลงทุนขนาดใหญ่ในรัฐชาน

จีนไม่พลาดโอกาสทอง…โครงการท่อก๊าซธรรมชาติ และท่อน้ำมันของจีน จากทะเลอันดามัน พาดผ่านรัฐอาระกันของพม่ายาวราว 2,500 กิโลเมตร ขึ้นไปถึงมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งบางส่วนต้องผ่านรัฐชาน ก็ตกลงกันได้

จากประสบการณ์ของผู้เขียน…มั่นใจเสมอว่า ปัญหาการสู้รบ ข้อพิพาท ทั้งปวงในโลกนี้…เป็นเรื่องของผลประโยชน์ เงิน ทอง… ถ้า “ลงตัว” ก็แฮปปี้

พญามังกรจีน คิดโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ทั้งถนน เส้นทางรถไฟ จากชายแดนจีน เข้าสู่ชายแดนพม่าแบบพลิกแผ่นดิน มีผลประโยชน์พาดผ่านเขตอิทธิพลของกองกำลังของคะฉิ่น และ SSA

ท่อก๊าซและน้ำมัน งานสร้างระดับโลก ประสบปัญหาไม่น้อย แต่ก็ลุล่วงไปได้ พื้นที่ที่ท่อพาดผ่าน ประชาชนได้รับการดูแล ทำให้พื้นที่สู้รบ ยากจน กลายเป็นสนาม
การค้า ผู้คนมีงานทำ มีรายได้ กินอิ่ม นอนอุ่น…

รัฐชาน มีพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ (Golden Triangle) ที่โด่งดังระดับโลกเรื่องยาเสพติด เป็นพื้นที่ชายแดนจีน-ไทย-ลาว แม่น้ำโขงไหลผ่าน เป็นประตูสู่จีนตอนใต้ มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดม

เมียนมา มีรายได้จากก๊าซและทรัพยากรธรรมชาติ มีต่างชาติ “ขาใหญ่” คือ ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ฝรั่งเศส รวมทั้งไทย เข้าไปลงทุนแบบท่วมท้น กำลังไปได้สวย แต่ก็สะดุดหยุดลงหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

โรงงานอุตสาหกรรมของจีน ถูกเผา 32 แห่ง …ประชาชนส่วนหนึ่งเชื่อว่า จีนสนับสนุนการยึดอำนาจ…มีการขู่จะทำลายท่อก๊าซและน้ำมัน

ชนกลุ่มน้อยส่วนใหญ่…ฝังใจ เชื่อว่าการสู้รบที่ฆ่าแกงกันทุกวันนี้ เพราะกองทัพพม่าเป็นผู้รุกราน เอาเปรียบ ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพจึงต้องเริ่มจากกองทัพพม่า

ระหว่างเขียนต้นฉบับ ประชาชนในประเทศเมียนมาต่อสู้ ประท้วงอย่างหนาแน่นบนท้องถนน ในหลายเมือง ประชานชนสู้ยิบตา

ตำรวจในเมืองก็ปราบแบบ “มือหนัก” เต็มพิกัด ประชาชนเสียชีวิตไปแล้วกว่า 500 ราย ถูกจับกุมคุมขังอีกราว 2 พันคน เจ้าหน้าที่ของรัฐนัดหยุดงาน บ้านเมืองโกลาหล สหรัฐ และประเทศต่างๆ ในยุโรป สั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตของตน ทยอยออกนอกประเทศ…มันคือ สัญญาณร้ายของแผ่นดิน

การสู้รบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ในป่าเขา ชนบท กองทัพอากาศพม่านำเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดในที่มั่น ชุมชนกะเหรี่ยงที่ติดกับชายแดนไทย จ.แม่ฮ่องสอน

ราชการไทยต้องรับมือกับผู้หนีภัยสงครามพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน

การ “จับกลุ่ม-รวมกำลัง” ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเมียนมา กำลังดำเนินต่อไป มีมาเพิ่มอีก 3 กลุ่ม

… ปลายเดือนมีนาคม 2564 กองทัพของอาระกัน (AA) กองทัพของกลุ่มทะอาง (Ta Ang) และกลุ่ม MNDA ประกาศขอเข้าร่วมกับกลุ่มของเจ้ายอดศึก

“รัฐบาลคู่ขนาน” (CRPH) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ร่างโดยรัฐบาลทหาร …เรียกเสียงเชียร์จากทุกกลุ่มชาติพันธุ์

ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก…“ไม่ง่าย ไม่หมู” เหมือนเหตุการณ์ปี 1988

เจ้ายอดศึก ผู้ถือหางเสือของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร กำลังคิดอะไร จะกำหนดทิศทางการต่อสู้ จะเดินหมากตัวไหนอย่างไร

เหตุการณ์ตรงนี้…คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด…อาจจะพลิกโฉมหน้า “ระบอบการปกครอง” ของประเทศนี้ไปชั่วนิรันดร์

ชาวพม่าประกาศว่า… “นี่ไม่ใช่สงครามของกลุ่มชาติพันธุ์ กับ กองทัพพม่า…

มัน คือ สงครามระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับ ฝ่ายเผด็จการ…”

ขอแถม…เป็นข้อมูลของเจ้ายอดศึกนะครับ…

24 พ.ค.2562 พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) ได้มาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ วัดแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมมารดาที่เสียชีวิต พร้อมลูกหลาน รวมทั้งสิ้น 8 คน

คนไทยที่เป็นเพื่อนบ้าน…ขอภาวนาให้ทุกฝ่าย พูดจาตกลงกัน แบ่งปัน สร้างความสงบสุขให้แผ่นดิน ลูกหลาน…

ช่วงเทศกาลสงกรานต์… ขอ “สันติภาพ” จงเกิดขึ้นในแผ่นดินเมียนมา

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image