บทนำ : อย่าทำตัวเป็นปัญหา

บทนำ : อย่าทำตัวเป็นปัญหา วันที่ 7 เมษายน รัฐสภาเปิดสมัยวิสามัญอีกครั้ง

บทนำ : อย่าทำตัวเป็นปัญหา

วันที่ 7 เมษายน รัฐสภาเปิดสมัยวิสามัญอีกครั้ง มีวาระการประชุมที่รออยู่ชัดๆ คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ค้างอยู่ที่มาตรา 9 และยังมีญัตติที่พรรคการเมืองกำลังจะยื่นให้พิจารณา นั่นคือ ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ประสงค์จะยื่นในวันที่ 7 เมษายน คือพรรคพลังประชารัฐ เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จำนวน 13 มาตรา 5 ประเด็น ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ นั้นมีความเคลื่อนไหวของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และยังมีพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

การประชุมสมัยวิสามัญนี้เปิดท่ามกลางกระแสข่าวการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางรัฐสภาซึ่งเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญน่าจะมีมาตรการป้องกันและหาวิธีการให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถขับเคลื่อนงานของตัวเองไปได้ ถือเป็นการปฏิบัติงานท่ามกลางโรคระบาด ซึ่งรัฐสภาเคยดำเนินการมาแล้วโดยปลอดภัย และเชื่อว่าการเปิดสมัยประชุมครั้งนี้ ทุกคนที่เข้าไปทำงานในรัฐสภาจะปลอดโรคด้วยมาตรการทางสาธารณสุขที่รัฐสภาดำเนินการ และด้วยความร่วมมือจากผู้ไปติดต่อ ซึ่งหากจำกันได้ เมื่อสมัยการประชุมที่ผ่านมา เคยปรากฏข่าวผู้ติดเชื้อโควิดไปติดต่อรัฐสภา แต่ทุกอย่างก็คลี่คลายด้วยขั้นตอนและมาตรการที่วางเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ในสมัยการประชุมนี้ สิ่งที่อยากให้รัฐสภาประสบความสำเร็จในการดำเนินการคือการเป็นกลไกการลดความขัดแย้งทางการเมือง โดยที่ผ่านมารัฐสภาเคยเสนอตัวเปิดการประชุมเพื่อหาหนทางลดความขัดแย้ง กระทั่งนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ในช่วงท้ายกลับปรากฏว่า รัฐสภาไม่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การลดความขัดแย้งลงไปได้

Advertisement

ในการประชุมครั้งนี้ แม้จะเริ่มต้นสมัยการประชุมที่ยังต้องพิสูจน์ว่ารัฐสภาเป็นกลไกในการลดความขัดแย้งและหาทางออกทางการเมือง หรือจะเป็นตัวเร่งให้ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้น แต่เมื่อรัฐสภาเปิดสมัยการประชุม ย่อมเป็นโอกาสของประเทศที่จะใช้สถาบันฝ่ายนิติบัญญัตินี้ในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองและลดความขัดแย้ง หรืออย่างน้อยก็อย่าให้ฝ่ายนิติบัญญัติกลายเป็นตัวจุดประกายให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัว เพราะหากเป็นเช่นนั้นประชาชนจะหมดที่พึ่ง และออกไปร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและรัฐสภาเกิดการเปลี่ยนแปลง

สำหรับแนวทางการลดความขัดแย้งทางการเมืองนั้นไม่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกต่อไป เนื่องจากในสมัยการประชุมรัฐสภาที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ต้องร่วมกันศึกษาและหาหนทางแก้ไขกันมาแล้ว เพียงแต่การขับเคลื่อนให้ไปสู่ทางออกไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากรัฐบาลและรัฐสภามีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ไม่ยึดติดเก้าอี้เหมือนดั่งที่ประกาศไว้ และมีความมุ่งหมายสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติจริง การดำเนินการตามแนวทางสู่ความสมานฉันท์ที่เคยศึกษาและตกลงร่วมกันยังสามารถใช้ได้อยู่ และสามารถดำเนินการให้เห็นได้ภายในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image