กัญชาทางการแพทย์…ความคาดหวังของสังคม

กระแสตื่นตัวเรื่องกัญชาทางการแพทย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศปลดล็อกเรื่องกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษมาเป็นกัญชาทางการแพทย์ แต่ว่ากระแสดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นในเชิงธุรกิจและสินค้าเพื่อซื้อขายกันเท่านั้นยังไม่สามารถปลุกกระแสการตื่นตัวในวงการแพทย์แผนปัจจุบันให้เป็นจริงได้ สังคมและผู้ป่วยยังคงต้องเงี่ยหูฟังความเห็นของคุณหมอว่าจะมีคำตอบอย่างไรในเรื่องนี้ สถานการณ์ที่เป็นจริงในเวลานี้ก็คือมีแพทย์แผนปัจจุบันจำนวนน้อยมากที่สนใจและสั่งใช้กัญชาเพื่อบำบัดการเจ็บป่วย เพราะส่วนมาก (เกือบทั้งหมด) ยังอยู่ในภาวะมึนๆ งงๆ และไม่เข้าใจว่าจะนำกัญชามาเป็นยาเพื่อบําบัดโรคได้อย่างไรกัน ผู้เขียนเป็นบุคคลหนึ่งในกลุ่มแพทย์ที่สนใจใฝ่รู้และใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามานาน จึงมีประสบการณ์พอสมควรที่ใคร่นำมาถ่ายทอดเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจอีกมุมหนึ่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องกัญชาทางการแพทย์ยังจุดไม่ติดในกลุ่มแพทย์ปัจจุบัน..ได้แก่

1.องค์ความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์

แพทยศาสตรบัณฑิตทั้งรุ่นเก่ารุ่นเก๋าไปจนถึงรุ่นเพิ่งจบใหม่ๆ บอกได้เลยครับว่าความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์เท่ากับศูนย์เพราะพวกเขาเรียนรู้มาเพียงว่ากัญชาคือยาเสพติดให้โทษเท่านั้นไม่มีการเรียนการสอนทั้งทฤษฎีหรือปฏิบัติว่าจะมาเป็นยาได้อย่างใด (สภาวะเยี่ยงนี้เกิดขึ้นทั่วโลกมิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในไทย) แม้ว่าผลการใช้กัญชาจะปรากฏเป็นข่าวและกล่าวขวัญอย่างมากมายแต่แพทย์ที่สนใจจะต้องขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองเท่านั้นเพราะไม่มีตำราเขียนบอกและอาจารย์แพทย์ไม่เคยสอนไว้ นี่คือปัญหาใหญ่จริงๆ ที่แพทยสภามิได้นิ่งนอนใจจำเป็นต้องขอความเห็นไปยังราชวิทยาลัยซึ่งก็คือองค์กรด้านวิชาการและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ของแพทย์และคำตอบค่อนข้างสอดคล้องกันคือยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ากัญชาจะมาใช้เป็นยาได้อย่างใด (ยกเว้นกรณีใช้บรรเทาผลข้างเคียงของเคมีบำบัด, การฉายแสงรักษามะเร็งและรักษาโรคชักที่พบได้ยากในเด็ก) การปรับตัวครั้งใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขและสถาบันคณะแพทย์ก็คือเพิ่มช่องทางบริการเข้าถึงกัญชาแก่สาธารณชนผ่านกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกรวมทั้งการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมให้ความรู้โดยตรงแก่ผู้สนใจ ความพยายามขององค์กรภาครัฐเป็นสิ่งที่ดีแต่เชื่อว่ามีอุปสรรคมากมายเริ่มแต่บุคลากรผู้จะมาสอน, ประสบการณ์การรักษาจริง, ตำราอ้างอิงที่เชื่อถือได้, ทั้งหมดนี้เกือบพูดได้เลยว่าใหม่หมด ผู้เขียนขอเอาใจช่วยและสนับสนุนให้บรรลุความสำเร็จ

ต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนเชิงวิชาการว่าทำไมความรู้เรื่องกัญชาทางการแพทย์จึงยังอยู่ในมุมสลัวยากที่จะเข้าใจ

Advertisement

กัญชามีหลากหลายนับเป็นพันสายพันธุ์ทั้งจากธรรมชาติและจากการผสมข้ามสายพันธุ์ทำให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ละสายพันธุ์จะมีอณูโมเลกุลที่ออกฤทธิ์นับหลายร้อยตัวแต่หลักๆ ที่เข้าใจกันจะมีอยู่ 2 ตัวที่เรียก THC

(ทำให้เกิดเคลิ้มจิตหลอนได้) และ CBD (ทำให้ผ่อนคลาย) นอกนั้นจะเป็นตัวประกอบให้ออกฤทธิ์ได้กว้างขวางและดียื่งขึ้น ตัวประกอบยิ่งมีบทบาทมากเท่าใดก็จะยื่งทำให้เข้าใจยากขึ้นตามไปด้วย

คนไข้แต่ละคนตอบสนองการได้กัญชาเพื่อการบำบัดที่แตกต่างกันซึ่งอาจเป็นทั้งตัวคนไข้เองหรือเพราะไม่สามารถควบคุมมาตรฐานการผลิตได้

Advertisement

ผลตอบสนองในคนไข้คนเดียวกันไม่เสถียรเช่นในปริมาณเท่านี้เคยได้ผลดีไปสักระยะก็ไม่ได้ผลเสียแล้ว ปรากฏว่ายิ่งเพิ่มขนาดกลับยิ่งแย่พอหยุดใช้ระยะหนึ่งมาเริ่มใหม่น้อยๆ ก็กลับดีขึ้นได้หรือบางคนต้องเพิ่มขนาดสูงลิ่วไปเลยจึงได้ผลซึ่งยากแก่การอธิบายให้คนไข้เข้าใจ

การได้ผลในเชิงบวกต่อสารพัดอาการและความผิดปกติเสมือนยาครอบจักรวาลแต่กลับไม่แน่นอนเสมอไปก็ยิ่งทำให้สับสนในวงการแพทย์ (ไม่เหมือนยาแก้ปวดลดไข้ ยาปฏิชีวนะ ยานอนหลับ หรืออื่นๆ ที่ได้ผลแน่นอน)

การระบุขนาดยาที่ใช้จึงกว้างมากตั้งแต่ต่ำสุด 2-3 มก..ไปถึงสูงสุดที่ 1,200 มก..หรือกว่านั้น และนี่เองเป็นเหตุให้แพทย์ไม่กล้าระบุว่าต้องใช้ปริมาณเท่าใดแต่ให้คนไข้ไปค้นหาลองผิดลองถูกด้วยตนเอง

2.ยาแผนปัจจุบันที่สั่งใช้ก็ได้ผลอยู่แล้ว

ในขณะที่ยาแผนปัจจุบันซึ่งกำลังสั่งใช้กันอยู่นี้ก็ได้ผลดีตามสภาพให้เลือกใช้หลากหลายทั้งถูกและแพงทั้งเก่าและใหม่ กลไกออกฤทธิ์ของยาก็เข้าใจตามตำราที่ร่าเรียนกันมาไม่มีเหตุผลที่จะไปเสี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่มีหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ให้เชื่อถือได้ (ส่วนมากต้องผ่านการรับรองโดย FDA สหรัฐอเมริกาเท่านั้น) การที่ต้องให้คนไข้เซ็นยินยอมรับการบำบัดด้วยกัญชาย่อมแสดงว่าแพทย์เองก็ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลไม่พึงประสงค์จนถึงอาจต้องถูกฟ้องร้องตามมาภายหลังหรือไม่

3.การเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยากัญชาเพื่อทดลองใช้

ประสบการณ์ของแพทย์ก่อนสั่งใช้ยาใหม่ทุกตัวจะได้รับตัวอย่างยาจำนวนหนึ่งมาเพื่อศึกษาและนำไปแจกให้คนไข้ลองใช้เพื่อประเมินผล แต่สำหรับผลิตภัณฑ์กัญชานอกจากต้องเรียนรู้เอาเองแล้วหากจะเริ่มสั่งใช้จริงยังต้องไปผ่านการฝึกอบรมก่อนจึงจะสั่งใช้ได้ คนไข้ที่ประสงค์จะเข้ารับการบำบัดด้วยกัญชาก็จะต้องมีใบยืนยันจากแพทย์ที่รักษาอยู่ว่าเป็นโรคนั้นนี้จริงจึงจะได้รับยากัญชา

ทั้งหมดโดยย่อนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาการนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะการเข้าถึงการใช้ที่หลายคนมิอาจเข้าถึงจึงต้องไปพึ่งพากัญชาใต้ดิน (ผิดกฎหมาย) ดังที่ทราบกันดี ยิ่งมีการปลดล็อกกัญชาก็ดูเหมือนยิ่งไปเข้าล็อกให้สินค้าบางอย่างได้อานิสงส์ไปเต็มๆ นั่นคือเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชกัญชาประเภทใบกิ่งก้านและราก การปั่นราคาสูงลิ่วไม่สำคัญเท่าคุณค่าหรือประโยชน์ที่จะได้รับว่าคืออะไร? รับเข้าสู่ร่างกายเพื่ออะไร? ดีอย่างไร? จริงหรือไม่? คุ้มค่ากับการซื้อมาบริโภคหรือไม่?

การขาดองค์ความรู้ทางวิชาการมาอธิบายจึงทำให้เกิดการเสริมแต่งเป็นวิชาเกิน วิชากู และลงท้ายอาจจะกลายเป็นวิชาโกงไปเนื่องจากผลประโยชน์เชิงธุรกิจนั้นมีมากมายมหาศาล หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก็ดี กระทรวงสาธารณสุขก็ดี น่าจะลงมาดูแลใกล้ชิดหน่อยอย่าปล่อยให้สังคมถูกเอาเปรียบเกินเลย

นพ.เล็ก นนทวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image