ภาพเก่าเล่าตำนาน : พม่า… ดินแดนแห่งเจดีย์ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอเปลี่ยนบรรยากาศจากเหตุสลดใจ การสังหารเพื่อนร่วมชาติ… เหตุการณ์สู้รบในพม่า… ไปพูดถึงเรื่อง “เบาสมอง” กันบ้างครับ

โบราณนานมา…นับพันปี… ชาวพม่ายึดมั่นว่า… การสร้างเจดีย์ คือการสร้างรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้า อันจะเป็นเกียรติยศ เป็นบุญ เป็นกุศลแรงกล้าสำหรับผู้สร้าง

เมือง พุกาม (Bagan) ในยุคที่รุ่งเรือง มีการสร้างเจดีย์ไว้นับพันแห่ง…สร้างโดยทุกชั้นชน นับแต่พระราชา เรื่อยลงมาจนถึงชาวนาชาวไร่

หลักฐานชี้ชัดในคติความเชื่อนี้ คือ จารึกที่เจดีย์ชเวกูจี ของพระเจ้าอลองซีตู กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์พุกาม ที่เคยตรัสว่า “การสร้างเจดีย์ย่อมได้บุญมาก… ข้าฯ ปรารถนาจะสร้างทาง เพียงเพื่อข้ามไปสู่แม่น้ำแห่งสังสารวัฏ เพื่อผู้คนทั้งมวลจะเร่งข้ามไปกระทั่งบรรลุถึงนิพพาน ข้าฯเองจะข้ามไป และดึงผู้ที่จะจมน้ำให้ข้ามไปด้วย…”

Advertisement

เมืองพุกาม ตั้งอยู่ในเขตมัณฑะเลย์ เป็นเมืองที่ได้รับการขนานนามว่า “ทะเลแห่งเจดีย์”

อาณาจักรพุกาม เป็นถิ่นที่อยู่ของคนในยุคแรกของแผ่นดินพม่า

เดิมเป็นเมืองเล็กๆ ….เมื่อก้าวมาถึงยุคของพระเจ้าอโนรธา มีพระนิกายเถรวาทองค์มาเผยแพร่ธรรมให้แก่พระเจ้าอโนรธา

Advertisement

พระเจ้าอโนรธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ต้องการให้ชาวเมืองพุกามเลิกนับถือผีซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ให้หันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้เดินทางเพื่อไปขอพระไตรปิฎกกับพระเจ้ามนูหะ ที่เมืองสะเทิม (มอญ)

พระเจ้ามนูหะปฏิเสธ….ทำให้พระเจ้าอโนรธา สั่งกองทัพไปตีเมืองสะเทิมแตกและได้นำพระไตรปิฎก รวมทั้งพระ ช่างฝีมือ และทาสอีกนับหมื่นกลับมาที่พุกาม ช่วงที่พระเจ้าอโนรธาครองราชย์นั้น (33 ปี)

ช่วงเวลานั้น คือ ยุคทองของการสร้างเจดีย์

มองไปทางไหน มีแต่เจดีย์… เล่ากันว่า…ในสมัยนั้น เคยมีเจดีย์มากกว่า 4,000 องค์ (ปัจจุบันเหลือประมาณ 2,000 กว่าองค์)

กษัตริย์ทุกพระองค์ ล้วนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประสงค์จะสร้างเจดีย์เพื่อเสริมสิริมงคล

เจดีย์แห่งแรกของพุกามคือ “เจดีย์ชเวซีโกน” สร้างโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม

ธรรมเนียมการสร้างเจดีย์…. “เจดีย์องค์ใหญ่สุด” จะเป็นเจดีย์ที่กษัตริย์ทรงสร้าง และองค์ที่มีขนาดเล็กถัดมา เป็นการสร้างโดยเหล่าขุนนาง อำมาตย์ ลดหลั่นลงมาตามบรรดาศักดิ์….

พ.ศ.1830 อาณาจักรพุกามถึงคราวล่มสลายลง

กุบไลข่าน จอมทัพแห่งมองโกล ยกทัพมายึดครองอาณาจักรแห่งนี้ ชาวเมือง พระสงฆ์ หนีสงคราม ทิ้งพุกามไว้เบื้องหลัง จนนำไปสู่ความล่มสลายของอาณาจักรพุกาม กลายเป็นเมืองร้าง

(ผู้เขียนเคยได้คุยเป็นการส่วนตัวกับเพื่อนนายทหารพม่า ได้รับทราบว่า ช่วงเวลานั้น ต้นไม้น้อยใหญ่ ถูกตัดโค่นลงอย่างหน้าใจหาย แผ่นดินพุกาม ที่แห้งแล้งอยู่แล้ว เกิดสภาพแห้งแล้งเลวร้ายลงไปอีก กลายเป็นทะเลทราย เพราะนำไม้ไป
‘เผาอิฐ’ เพื่อนำมาก่อสร้างเจดีย์)

มีนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจ พบว่าเจดีย์ที่พุกามสร้างด้วยอิฐ ต่างจากปราสาท หรือเทวสถานในอาณาจักรขะแมร์โบราณ ที่สร้างด้วยศิลาทราย

สถาปัตยกรรมของเจดีย์ในพุกามอันน่าทึ่ง… ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะมอญและอินเดีย ทาส ชาวเมือง ช่าง เก่งการก่อสร้างขนาดใหญ่

โครงสร้างพระวิหารจะมีแกนสี่เหลี่ยมทึบตรงกลางเพื่อรับน้ำหนัก จึงสามารถขยายขนาดให้กว้างออกไป มีระเบียง และเจาะช่องทางเดินสู่แกนกลางได้ทั้งสี่ด้าน

ทุกช่องจะนำไปสู่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ ต่างจากโครงสร้างของขอมที่ใช้ผนังรับน้ำหนัก สถาปัตยกรรมพุกามยังเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆ ในภูมิภาค …รวมไปถึงสุโขทัย และเมืองในไทย (ขณะนั้นยังไม่มีประเทศ)

เอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพม่า คือการใช้อิฐในการก่อสร้าง โดยอิฐพม่าจะมีขนาดใหญ่ เรียงกันสนิทจนแทบไม่เห็นรอยต่อ เนื่องจากช่างจะขัดอิฐให้เรียบก่อนนำมาประกบกัน

ภาพจิตรกรรมเก่าแก่บนผนัง และงานแกะสลักหินของพม่าก็ประณีตสวยงามไม่แพ้ที่อื่น

การก่อสร้าง… ต้องใช้แรงงานมหาศาล ตลอด 243 ปีของอาณาจักรพุกาม จึงมีหมู่เจดีย์มากมายหลายพันองค์

ความฝังใจของชาวพม่า คือ พุกามเป็นดินแดนที่มีพระพุทธเจ้าสถิตทุกหนแห่ง เป็นเมืองของผู้มีบุญโดยแท้

ผู้เขียนเองมีคำถามในใจมานาน เกี่ยวกับ “เทคนิคการก่อสร้าง” เจดีย์ ศาสนสถาน วัด ที่ตระหง่าน คงทน แข็งแรง ทนแดด ทนฝน ทนแรงลม… มีอายุยืนยาวอยู่ได้หลายร้อยปี

มี คำถาม-คำตอบ….ที่คุณธีรภาพ โลหิตกุล ที่เขียนลงในกรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 5 กันยายน 2559…. ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดต่อ ดังนี้ ครับ…

ผ่านมา 900 กว่าปี ทำไมเจดีย์ที่พุกามส่วนใหญ่ยังคงทน ?

ประการแรก…. พื้นดินพุกามเป็นดินปนทราย ทั้งๆ ที่มีแม่น้ำอิรวดีไหลผ่าน แต่มีเทือกเขาทอดตัวยาวเหยียดเป็นกำแพงป้องกันลมมรสุมจากอ่าวเบงกอล จนพุกามจัดเป็นเขตเงาฝน (Rain Shadow) มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 30 นิ้วต่อปี ภูมิอากาศจัดอยู่ในประเภทแห้งแล้งกึ่งทะเลทราย (Dry Zone) มีความชื้นน้อย ไม่เอื้ออำนวยให้วัชพืชเติบโตไปทำลายโบราณสถานได้เหมือนปราสาทตาพรหมในกัมพูชา

ประการต่อมา….ภูมิปัญญาในการเรียงอิฐของช่างสมัยพุกาม ทำให้โครงสร้างของวัดและเจดีย์มีความแข็งแกร่ง คงทน อีกทั้งชาวพม่ายังเคารพสักการะศาสนสถานอย่างเคร่งครัด มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลวัดและเจดีย์ดังมีภาษิตที่ชาวพม่าพูดกันติดปากว่า

“พึ่งเจดีย์ อายุยืน พึ่งธรรมะ โทสะหาย ขณะเดียวกันก็หวาดกลัวคำสาปแช่งของบูรพกษัตริย์แห่งพุกามที่ว่า มันผู้ใดทำลายเจดีย์และศาสนสถาน มันผู้นั้นจะไม่ได้พานพบพระศรีอาริยเมตไตรยไปเจ็ดชั่วโคตร…”

เจดีย์ที่พุกาม มีสถานะเป็นวัดด้วยหรือไม่ ?

ในเมืองไทย เจดีย์จะอยู่คู่กับวัด แต่ที่พม่า ธรรมเนียมการสร้างเจดีย์ที่มีมาแต่สมัยพุกาม เจดีย์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในวัด หมายความว่า ศาสนสถานที่เราเรียกรวมๆ ว่า “เจดีย์” (Pagoda) นั้น จำแนกเป็น

สถูป (Stupa) ภาษาพม่าเรียก “เซดี” (Zedi) เช่น ชเวสิกองเซดี

เป็นเจดีย์ก่ออิฐตัน ผู้คนกราบไหว้อยู่รอบๆ ได้ แต่เข้าไปข้างในเจดีย์ไม่ได้ รูปทรงเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นทรงระฆังคว่ำแบบมอญ และ

วัด (Temple) ภาษาพม่าเรียก “เซดีพญา” (Zedi Phya) เช่น อานันทวิหาร หรืออานันดาพญา เรียกอีกอย่างว่า “เจดียวิหาร” คือเป็นทั้งเจดีย์สำหรับกราบไหว้บูชา และเป็นวิหารสำหรับทำกิจกรรมทางศาสนา คือเป็นวัดด้วย ภายในจึงมีห้องคูหาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ให้คนเข้าไปกราบไหว้บูชา นั่งสมาธิ หรือทำพิธีกรรมต่างๆ ได้

วัดและเจดีย์ในพุกาม ยังมีพระจำพรรษา หรือมีคนเฝ้าอยู่หรือไม่ ?

รัฐบาลทหารพม่าในอดีต ยกฐานะ “พุกาม” เป็นคล้ายอุทยานประวัติศาสตร์ โดยให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเมืองโบราณพุกาม ย้ายไปอยู่เมือง “ยองอู” หรือ “พุกามเมืองใหม่” แต่อนุญาตให้มีพระจำพรรษาในวัด หรือเจดีย์วิหารองค์สำคัญ อาทิ อานันทวิหาร และอนุญาตให้มีผู้ดูแลเจดีย์องค์สำคัญ อาทิ ชเวสิกอง ฯลฯ เท่านั้น ที่จะอาศัยอยู่ในพุกามเมืองเก่าได้

ชาวพม่าวันนี้ ยังสืบทอดธรรมเนียมการสร้างเจดีย์ของชาวพุกามหรือไม่ ?

ทุกวันนี้ หากเดินทางไปในชนบทของพม่า จะพบว่ามีชาวบ้านเดินถือขันเงินใบใหญ่ มาชวนเชิญให้ผู้สัญจรผ่านทางร่วมทำบุญสร้างเจดีย์ หรือไม่ก็บูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ในหมู่บ้าน จึงกล่าวได้ว่ายังสืบทอด เพียงแต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ไม่อาจสร้างเจดีย์ได้มากมายเหมือนในอดีต

แผ่นดินไหวในพม่าเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 สร้างความเสียหายให้พุกามเพียงใด ตามรายงานข่าวมีเจดีย์กว่า 100 องค์ ที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่รุนแรงเหมือนแผ่นดินไหวที่เนปาล ซึ่งทำให้โบราณสถานบางแห่งพังทลายลงมา แต่ที่พุกาม โครงสร้างของเจดีย์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย

มีเพียงบางแห่ง ปลียอดหักพัง ซุ้มประตูทางเข้าทรุดตัว และบางองค์ อัญมณีที่ใช้ประดับยอดเจดีย์ร่วงหลุดลงมา กล่าวได้ว่าเสียหาย แต่ไม่ยับเยิน ที่นักวิชาการห่วงคือ ภาพจิตรกรรมล้ำเลอค่าที่อยู่ในเจดีย์ ยังไม่มีการสำรวจว่าเสียหายแค่ไหน และโครงสร้างของเจดีย์บางองค์ยังแข็งแรงพอจะให้ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวเข้าไปภายในได้ดังเดิมหรือไม่….

นี่เป็นข้อมูลที่มีคุณค่ามากครับ…

ชาวพุกาม….มีวิถีชีวิตแบบชนบท ชาวบ้านยังคงใช้วัวลากเกวียนและไถนาทำไร่ โดยพวกเขาจะปลูกถั่วเป็นหลัก ผลผลิตขึ้นชื่อของพุกามคือ “น้ำมันถั่ว” นอกจากนี้ ก็มีการทำน้ำตาลจากต้นตาล และมีอาชีพเลี้ยงแพะ บางหมู่บ้านไม่มีน้ำประปาเข้าถึงทางรัฐบาลจึงขุดบ่อน้ำบาดาลให้ชาวบ้านไว้กินไว้ใช้

ชาวพุกามยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด และจะไม่แต่งงานกับคนเชื้อชาติหรือศาสนาอื่น วัดทุกที่เมื่อจะเข้าไป..ต้องถอดรองเท้า

ผู้คนที่นี่ยังคงรักษาขนบประเพณีดั้งเดิม ผู้ชายนุ่งโสร่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่น ประแป้งทานาคาบนแก้ม ไปวัดก็แต่งตัวเรียบร้อย นุ่งผ้าลายดอกเข้าชุดสีสันสวยงาม บางคนก็เทินข้าวของไว้บนศีรษะ

พุทธศาสนา เป็นที่ยอมรับกันในดินแดนใกล้เคียงในภูมิภาคแถบนี้ การสร้างเจดีย์ …พัฒนา ก้าวเข้าสู่วัฒนธรรม มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียโบราณ เกิดเป็น “ศิลปกรรม” ส่งต่อ ขยายตัว มีรูปลักษณ์แตกต่างกันขึ้นอยู่กับยุคสมัย

ผู้คนติดต่อไปมาหาสู่ ค้าขาย อพยพกันไป-มากัน ทำให้เกิดการถ่ายรับเกิดแรงบันดาลใจด้านรูปแบบ และคติความเชื่อมต่อระหว่างดินแดน

สำหรับชาวไทยคุ้นเคยกับคำว่า “เจดีย์” สื่อความหมายถึง “ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ” และยังเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์

คำว่า “เจดีย์” มี “คำขยาย” เพื่อบ่งบอกถึงรูปแบบและลักษณะ เช่น เจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งเป็นทรงระฆังขนาดใหญ่ (บางแห่งเรียกว่า เจดีย์ทรงลังกา) เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม มียอดเป็นทรงที่ดูคล้ายรูปดอกบัวตูม บางครั้งก็เรียกกันว่า “เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” และเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ปรางค์”

ขอนำพาท่านผู้อ่านแวะไปที่อินเดีย…แหล่งกำเนิดศิลปกรรมเจดีย์ ที่มีอิทธิพลทางความคิด ขยายตัวออกมายังพม่า ไทย ฯลฯ

พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีส่วนในการสร้างเจดีย์มหาศาลในอินเดีย ซึ่งเป็นที่สักการบูชามาถึงทุกวันนี้….คนไทยรู้จักดี…

“เจดีย์ศรีมหาโพธิ” ที่พุทธคยา สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ สันนิษฐานว่า เริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอโศก เจดีย์องค์นี้สร้างต่อเติมแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีความสูง 180 ฟุต

ราวพุทธศตวรรษที่ 7 พระมหาเจดีย์ได้รับการบูรณะซ่อมแซมและดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง

พระถังซำจั๋ง นักบวชจากแผ่นดินจีนที่เข้าไปศึกษาพุทธศาสนาในชมพูทวีปเมื่อราว 2 พันปีที่แล้ว บันทึกเอาไว้ว่า “ตัวอาคารล้อมรอบด้วยทองแดงชุบ ประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายอันวิจิตร ประดับด้วยทอง เงิน มุก และรัตนะต่างๆ ด้านขวาซ้ายประตูนอกเป็นซอกๆ คล้ายห้อง ด้านซ้ายมีรูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้านขวาเป็นพระเมตไตรยโพธิสัตว์ รูปเหล่านี้ทำด้วยเงินขาวสูง 60 ฟุต….”

ภายในพระมหาเจดีย์มี “พระพุทธเมตตา” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะปาละ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม รอบบริเวณมีเสาหินที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอโศก มีรั้วล้อมรอบไว้อย่างแข็งแรง ด้านตะวันตกของพระมหาเจดีย์เป็นโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลก ผู้มีศรัทธาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินทางมาสักการะกันอย่างมิขาดสาย

ที่ผ่านมา….คนไทยเดินทางไปสักการะสถานที่แห่งนี้น่าจะหลายแสนคน เพราะเดินทางง่าย สะดวก และมีวัด มีพระสงฆ์ไทยอยู่ในพื้นที่

กลับมาที่ ประเทศพม่า ที่เป็นดินแดนแห่งเจดีย์นับพันองค์….

ศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในพม่า คือ เจดีย์ชเวดากอง ที่สวยงาม อลังการ์ งามสง่ายิ่งนัก อยู่ในกรุงย่างกุ้ง…

ในแผ่นดินพม่า มีเจดีย์ใหญ่-น้อย…ตั้งแต่เหนือจรดใต้

รัฐบาลทหารพม่าที่ผ่านมา เพียรพยายาม 25 ปี เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก….แต่ถูกคัดค้านมาตลอด

พ.ศ.2562 พุกาม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองโบราณและได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็น “แหล่งมรดกโลก” มีวัตถุ สิ่งก่อสร้างราว 3,500 ชิ้น ที่จะได้รับการปกป้องดูแล

ที่ผ่านมา….มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกมาเยือน มีรายได้มหาศาลแบบน้ำซึมบ่อทราย…ช่วงนี้ (เหตุความไม่สงบในประเทศ) คงต้องเงียบเหงา เศร้าซึมกันทั้งประเทศ….

ไม่รู้ว่า…จะซึม-เศร้า…ยาวนานไปอีกนานแค่ไหน….

คนไทยทั้งผองขอแสดงความรัก ห่วงใย ไมตรี …ขอให้บังเกิด “ความสงบสุข-สันติภาพ” ในเร็ววันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image