เดินหน้าชน : ย่ำอยู่กับที่ โดย นายด่าน

ส่อเค้าจะมีปัญหาตั้งแต่ยังไม่ประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ฉบับใหม่ ที่ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังผ่านความเห็นชอบจาก ครม.มาแล้ว

และคาดว่าจะเสนอที่ประชุมรัฐสภาอย่างเร็วเดือนพฤษภาคมนี้

เพราะล่าสุด กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนออกมาคัดค้านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับล่าสุดใน 2 ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก คัดค้านกำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ ว่า “หัวหน้าสถานศึกษา” แทนคำว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน” ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

Advertisement

โดยกลุ่มที่ออกมาคัดค้านมองว่าเป็นการลดศักดิ์ศรี ลดสถานะทางสังคมอย่างมาก แม้จะเปิดช่องให้เปลี่ยนคำเรียกอื่นได้

แต่เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นกฎหมายแม่กำหนดให้เรียกหัวหน้าสถานศึกษา

กฎหมายลูกจะต้องออกมาคล้อยตามกฎหมายแม่ จะกำหนดนิยามศัพท์ที่ให้คุณค่ามากกว่ากฎหมายแม่ไม่ได้

Advertisement

ประเด็นที่สอง คัดค้านการยกเลิกการใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู โดยห่วงว่า อาจเปิดช่องให้ใครก็ได้เข้ามาเป็นครู โดยไม่ต้องจบศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์โดยตรง แล้วคนเหล่านี้จะมีจรรยาบรรณวิชาชีพหรือไม่

ทั้งสองประเด็นที่เป็นสิ่งที่ผู้คัดค้านต้องอธิบายให้สังคมได้เข้าใจถึงความจำเป็นของการคงของเดิมเอาไว้

โดยเฉพาะเรื่องของชื่อเรียกผู้บริหารสถานศึกษา มีความสำคัญแค่ไหนกับการศึกษาไทย

เพราะเอาเข้าจริง ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงมา 3 ครั้งใหญ่ๆ แล้ว เริ่มแรกได้เปลี่ยนจากครูใหญ่เป็นอาจารย์ใหญ่ และเปลี่ยนตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

จึงเกิดคำถามว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลอะไรต่อคุณภาพการศึกษาไทยและนักเรียนบ้าง

ก่อนหน้านี้ราวปี 2562 มีการออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ที่เสนอให้ใช้ชื่อตำแหน่ง “ครูใหญ่” แทน “ผู้อำนวยการโรงเรียน” แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาตีตก ส่งกลับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เริ่มกระบวนการใหม่อีกครั้ง

ขอหยิบยกข้อคิดเห็นของ อรรถพล อนันตวรสกุลอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกพูดถึงประเด็นนี้ได้น่าสนใจว่า “แม้จะเปลี่ยนคำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียน แต่คำถามคือรูปแบบและระบบการทำงานเป็นอย่างไร เปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เดิมผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกัน สนับสนุนทุกอย่างในโรงเรียนให้ทำงานไปด้วยดี แต่ขณะนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนกลับทำหน้าที่รับฟังคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น ได้ถอยออกมาจากห้องเรียน

“คำที่ใช้เรียกไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าปรับเปลี่ยนคำเรียกแล้วระบบการทำงานเหมือนเดิมคือ ไม่มายุ่งกับการเรียนการสอนเน้นการบริหารโรงเรียน และทำตามคำสั่งจากส่วนกลางเท่านั้น ถือว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี”

หากการเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียน ทำให้การศึกษาไทย มีคุณภาพที่ดีขึ้น เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่คงเห็นด้วย

แต่หากทุกอย่างยังย่ำ อยู่กับที่ หรือแย่ลง ก็น่าขบคิด ว่าจะเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาทำไม

ฉะนั้นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… ฉบับใหม่ ที่รอปรับแก้ก่อนเสนอเข้าสภา ควรต้องทบทวนเรื่องเหล่านี้อีกรอบหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image