Quick Win การศึกษาไทย – รมว.ศธ.คนใหม่ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ประกาศนโยบายทางการศึกษา 12 ข้อ กับ 7 วาระเร่งด่วน ต่อมา ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝากเพิ่มเติมสิ่งที่ควรทำอีก 6 เรื่อง เนื้อหารายละเอียดทั้งหมดเป็นเช่นไร เปิดหาอ่านจากเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการได้เลย

อ่านนโยบาย วาระเร่งด่วนของรัฐมนตรีคนใหม่และข้อฝากของรองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับงานกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ผมเห็นใจข้าราชการประจำจริงๆ เพราะเพิ่งรับนโยบาย 10 ภารกิจหลักของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปหมาดๆ ได้ไม่กี่วัน

รับนโยบายใหม่ไม่ทันไร ใหม่กว่าตามมาอีกแล้ว จะปรับตัวกันอย่างไรให้รับกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย ซึ่งเป็นปัญหาหลักข้อหนึ่งที่ส่งผลกระทบถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุณภาพการศึกษาโดยตรง

ถามว่า ทั้งนโยบายและวาระเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการฯคนล่าสุดที่กำหนดมา ทำข้อสอบถูกต้องหรือไม่

Advertisement

ตอบโดยไม่ต้องลังเลได้เลยว่า ถูกทุกข้อ จิ้มไปที่ข้อไหนล้วนถูกทั้งสิ้น

แต่ แต่ แต่ ประเด็นสำคัญ ณ สถานการณ์วิกฤตทางการศึกษาปัจจุบันและอนาคต คำตอบไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่า ทำข้อสอบนโยบายและวาระเร่งด่วนถูกกี่ข้อ หรือถูกทุกข้อ

หัวใจอยู่ที่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร นโยบายที่กำหนดจะเกิดผลในทางปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ ภายในเวลาที่มีอยู่

Advertisement

เพราะจะว่าไปแล้วนโยบายของรัฐมนตรีคนใหม่ คนเก่า สาระสำคัญส่วนใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จเนื่องจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน หนึ่งในนั้นคือ ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบายอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างที่ว่า

อีกประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย ระหว่างทำหลายเรื่อง หรือทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน แต่ไม่เห็นผลเชิงประจักษ์เลยสักเรื่อง กับเลือกทำทีละเรื่อง ให้ความสำคัญเป็นพิเศษจนเกิดผลชัดเจน แล้วค่อยทำเรื่องใหม่ต่อไป

ประการหลังนี้มิได้หมายความว่า มุ่งทำเรื่องเดียวหรือนโยบายเดียวและทิ้งนโยบายอื่นๆ ทั้งหมด เรื่องทั่วๆ ไปก็ทำ แต่ขับเคลื่อนในระดับปกติ และมุ่งเน้นเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็นจุดคานงัดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและคุณภาพตามมาจริงๆ ก่อน

ขับเคลื่อนแบบมีจุดเน้น หรือ FOCUS ชัดเจน ว่างั้นเถอะ

ในบรรดานโยบายและวาระเร่งด่วนทั้งหมดมีอยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นวาระบังคับ จำเป็นต้องทำอย่างแน่นอน ตามข้อย้ำของรองนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปการศึกษา ขอให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่
ตามกำหนดการร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาราวเดือนพฤษภาคม ถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนและเข้าวุฒิสภาต่อมา หรือต้องเข้าพิจารณาในรัฐสภาประชุมร่วมกันทั้ง ส.ส.และ ส.ว. เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

กระบวนการพิจารณาจะเข้าสภาไหน มีผลต่อระยะเวลาการทำคลอดกฎหมาย กว่าจะออกมาใช้บังคับกินเวลาอีกยาวนานอย่างแน่นอน เมื่อไล่เวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นอีกเสียก่อน จะสิ้นสุดครบวาระวันที่ 24 มีนาคม 2566 นับจากนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี กฎหมายหลักที่มีผลต่อการวางโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาไทยใหม่อีกครั้งจะออกมาใช้ทันหรือไม่ ไม่มีใครรับรองได้

ฉะนั้นภายใต้เงื่อนเวลาที่มีอยู่ ควรวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ด้วยหลักการทำเรื่องเดียวให้ได้ผล ดีกว่าทำหลายเรื่องแล้วไม่เห็นผลสักเรื่อง

ในบรรดานโยบายและวาระเร่งด่วนทั้งหมดเรื่องอะไรควรทำมากที่สุด

นโยบายข้อ 2 ครับ พัฒนาคุณภาพครูและอาจารย์ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอวาระเร่งด่วน (Quick Win) ของคณะกรรมการปฏิรูปด้านการศึกษา คือ การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน และตรงกับที่ ดร.วิษณุเสนอให้เร่งทำ วิธีเรียน วิธีสอนที่เน้นแบบ Active Learning

ทำอะไร ทำอย่างไร ใครทำ ทำเมื่อไหร่

คำตอบหาไม่ยาก หากสร้างกลไกความร่วมมือทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติขึ้นมาได้สำเร็จ ทำทั้งระบบให้สอดรับกัน ทั้งการผลิตครู การใช้ครูและการพัฒนาครู

ระดมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาสุมหัวคุยกันและตัดสินใจเคลื่อนไหวทันที ทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. อาชีวะ ก.ค.ศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และคุรุสภา

ภายใต้เวลาที่มี รัฐมนตรีใหม่ทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็น่าจะมีความหวังขึ้นบ้างแล้วครับกับระบบการศึกษาไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image