หลวงพ่อคูณ‘ทานบารมี’อันยิ่งใหญ่ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา และได้เช่า “รูปหล่อหลวงพ่อที่พูดได้” จากมือหลวงพ่อเอง แต่ก่อนท่านจะมอบให้ท่านได้ลงอักขระยันต์ที่หน้าอกเบื้องซ้ายด้วยปากกาเมจิกสีน้ำเงิน ผู้เขียนจะกราบไหว้บูชาทุกค่ำและจะเปิดเสียงท่าน “พร” ทุกครั้ง “ความรู้สึก” สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะรู้สึกว่าท่านหลวงพ่อยังมีชีวิตอยู่ อยู่กับเราด้วยสุ้มเสียงของท่านกับคำให้พรทำให้
ผู้เขียนมี “พลังจิต” ไม่ว่าจะยามทุกข์-ยามสุข ก็จะเกิดปีติและรู้สึกได้ว่าชีวิตยังอยู่ ให้มี “วิริยะอดทนสู้ชีวิตต่อไป ทำคุณประโยชน์ให้สังคมทั่วไป ครอบครัว และตัวเราเป็นอันดับสุดท้าย จนกว่าเราจะหมดกำลังด้วยวัย ด้วยสังขารไม่อำนวยแล้ว” เพราะชีวิตของหลวงพ่อคูณคือ “ต้นแบบ” ของบุคคลชนบท ลูกชาวนา บวชเรียน ท้ายสุดท่านช่วยสังคม ชุมชน ประเทศไทยและคนต่างชาติได้อย่างมหาศาลสุดที่จะกล่าวได้หมด ด้วยส่วนตัวแม้ไม่ได้ใกล้ชิดเป็นลูกศิษย์ แต่ด้วยจริยวัตรของหลวงพ่อ ผู้เขียนเคารพศรัทธากราบไหว้มาอยู่จนถึงปัจจุบัน ก็ขออนุญาตเผยแผ่ “ชีวประวัติของหลวงพ่อคูณ” จากหนังสือ “อาจาริยานุสรณ์” พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) แม้ท่านจะจากพวกเราไปนานแล้วเกือบ 6 ปีเต็ม เชื่อว่าหลวงพ่อยังอยู่ในความทรงจำของแผ่นดินไทย คนไทยทั้งประเทศและตลอดไป ไม่มีวันลืมเลือน ความว่า…

หลวงพ่อคูณ เกิดในชื่อและนามสกุลทางโลกคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตของนายบุญ นางทองขาว ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 2 คนคือ นางคำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ และนางทองหล่อ เพ็ญจันทร์

ชีวิตในวัยเด็ก : โยมแม่เสียชีวิตตั้งแต่หลวงพ่ออายุได้ 11 ขวบ โยมพ่อได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัดบ้านไร่ เพื่อให้เรียนหนังสือกับพระสงฆ์พระอาจารย์ที่วัดทั้ง 3 ท่าน ตั้งใจสอนอย่างจริงจังและดุมาก ทำให้หลวงพ่อตั้งใจเรียนจนได้มีความรู้มาถึงปัจจุบันนี้

ชีวิตวัยรุ่น : ในวัย 16 ปี หลวงพ่อได้ออกจากวัดบ้านไร่ไปอยู่ในความอุปการะของน้าชายและน้าสะใภ้ หลวงพ่ออยากเป็นนักแสดงเพลงโคราช หรือที่เรียกว่า “หมอเพลง” ตามความนิยมของคนหนุ่มสาวโคราชสมัยนั้น จึงได้เดินเท้า 5 วัน 5 คืน พร้อมคนในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งไปยังบ้านมะระ ตำบลดอนชมพู อำเภอโนนสูง ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ “ครูสน” ได้ความรู้และบทเพลงเกี้ยวพาราสีจากครูมา 1 บท จากนั้นได้ตัดสินใจลาครูกลับบ้าน

Advertisement

หลวงพ่ออยากคบนักเลงดูบ้าง นักเลงสมัยนั้นเป็นที่เกรงขามได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่จึงได้ลองคบกับนักเลงโตตามหมู่บ้าน นักเลงเหล่านั้นนอกจากจะทำตัวเกะกะระรานผู้อื่นแล้ว ยังขโมยสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ไปฆ่าชำแหละเนื้อมาแบ่งปันกันอีกด้วย แต่เดชะบุญที่หลวงพ่อมีจิตสำนึกที่ดีงาม สามารถแยกแยะความดีความเลวได้ จึงไม่ได้ถลำตัวรักษาตัวตนให้รอดพ้นจากวัยอันตรายได้อย่างปลอดภัย

ชีวิตชาวนา : น้าชายและน้าสะใภ้มีอาชีพทำนา เป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงกายเป็นหลัก หลวงพ่อได้ช่วยน้าทั้งสองทำงานตามกำลังความสามารถโดยตลอด จนวันหนึ่งด้วยร่างกายที่ปวดระบมไปทั้งตัวจนสุดที่จะทนได้ จึงได้ทอดกายนอนพาดบนคันนาเป็นเวลานาน ได้ยินน้ำสะใภ้พูดว่า “ถ้าไม่ไหวก็ไปบวชเสีย” หลวงพ่อจึงตอบไปว่า “น้าคอยดูเด้อ หากฉันได้บวชแล้ว ขอรับรองว่าฉันจะไม่ยอมสึกเป็นอันขาด จะบวชจนตายและแหละ”

ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ : เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ปีวอก พระอุปัชฌาย์ (พระครูวิจารยติกิจ) ให้ฉายาว่า “ปริสุทฺโธ” หลวงพ่อให้ศึกษาพระธรรมวินัยจาก “หลวงพ่อคง พุทฺธสโร” และเป็นศิษย์ “หลวงพ่อแดง” ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งหลวงพ่อได้ตั้งใจฝึกปฏิบัติเป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ

Advertisement

บวชตลอดชีวิต : ครั้งแรกที่บวชตั้งใจจะบวชเพียง 3 พรรษา แต่ภาพความยากลำบากในอดีตของตนเอง และผู้คนในบ้านเกิดทำให้ต้องครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่า “ทำอย่างไรจะช่วยให้คนเหล่านั้นพ้นทุกข์ได้”

“อันตัวกูก็ต่ำต้อยน้อยค่าอย่างนี้ ถ้าสึกออกไปจะทำอะไรให้คนในแผ่นดิน ลำพังการเลี้ยงตัวเองก็จะเอาตัวไม่รอด แต่การบวชเรียนถือศีลอยู่ หากมีความรู้มีคุณธรรม อาจจะช่วยเหลือเกื้อกูลพวกเขาให้พ้นวิบากกรรมได้มากกว่า” หลวงพ่อจึงได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า จะอุทิศถวายชีวิตบวชเพื่อพระพุทธศาสนาตลอดไป

วัดบ้านไร่ : อดีตและปัจจุบัน

ในครั้งที่หลวงพ่อได้ร่วมธุดงค์กับหลวงพ่อคง ท่านได้รับการสอนวิชาพุทธาคมและวิชาไสยเวทเพิ่มเติม หลวงพ่อได้ธุดงค์ไปในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงได้ธุดงค์ไปยังเขตประเทศลาวและกัมพูชาอีกด้วย ทั้งธุดงค์แบบรูปเดี่ยวหรือสหธรรมิก แล้วแต่สถานการณ์ ครั้นถึงปี พ.ศ.2495 หลวงพ่อได้เดินทางกับภูมิลำเนาและได้จำพรรษาที่ “วัดบ้านไร่” มาโดยตลอด และตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อจำพรรษาที่วัดบ้านไร่ได้อุทิศแรงกายและสติปัญญาพัฒนาวัดให้มีความเจริญรุ่งเรือง เพื่อให้ประชาชนซึ่งยากไร้ที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดได้พ้นจากความทุกข์ยาก เป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของประชาชนทั่วทั้งประเทศ

การพัฒนาชุมชนรอบวัด : นอกจากวัดบ้านไร่แล้ว หลวงพ่อได้มีเมตตาเผื่อแผ่ถึงผู้ตกทุกข์ได้ยากทั่วประเทศ โดยได้สนับสนุนให้มีการสร้างอาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอาคารเรียน โรงพยาบาล รถยนต์ สระน้ำ มูลนิธิต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายจนมิอาจจำแนกรายชื่อได้หมดสิ้น และมิอาจประเมินค่าได้ เพราะมีมูลค่ามหาศาล

จนถึงปี พ.ศ.2512 : ได้ไปจำพรรษาที่วัดสระแก้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสะดวกในการรักษาอาการอาพาธ หลังจากนั้นหลวงพ่อได้เมตตาเดินทางไปจำพรรษาในหลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค ให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีโอกาสสร้างบุญสร้างกุศลอีกด้วย ก่อนที่หลวงพ่อจะเดินทางกลับวัดบ้านไร่อีกครั้งในปี พ.ศ.2538 และจำพรรษาที่วัดบ้านไร่จวบจนมรณภาพ

เมตตาจิตอันยิ่งใหญ่ : เมตตา เมตตา และเมตตา ใครขอร้องให้หลวงพ่อช่วยทำอะไร ถ้าทำได้ ท่านก็เมตตาทำให้ทุกคน หลวงพ่อจะพูดว่า…“มันมาขอร่องกู่ ให้กูทำโน่นทำนี่ ให้กูเหยียบ กูก็เหยียบให้มัน จั๊กกูจะขัดใจมันไปทำไม มันจะได้สบายใจ” แม้แต่วัตถุมงคลหลายประเภทซึ่งหลวงพ่อไม่ได้มีเจตนาจะสนับสนุนในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากทำแล้วประชาชนอยู่ดีมีสุขหลวงพ่อก็ไม่ขัดใจใคร

ดังนั้น บ่อยครั้งที่ได้เห็นภาพหลวงพ่อฝังตะกรุด เคาะหัว เป่ากระหม่อม เหยียบโฉนดที่ดิน เจิมรถยนต์ เจิมอาคารบ้านเรือน และอีกมากมาย ที่หลวงพ่อเมตตาทำให้ “คนเราเมื่อมีเมตตาให้กับผู้อื่น เขาจะให้ความเมตตาตอบสนองต่อเรา ถ้าเราโกรธเขา เขาก็จะโกรธเราตอบเช่นกัน ความเมตตานี่แหละ คืออาวุธที่จะปกป้องตัวเราเองให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง เป็นอาวุธที่ใครๆ จะนำเอาไปใช้ก็ได้ จัดว่าเป็นของดีนักแล”

สมณศักดิ์ : 12 สิงหาคม พ.ศ.2535 : เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระญาณวิทยาคมเถร 10 มิถุนายน พ.ศ.2539 : เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี 12 สิงหาคม พ.ศ.2547 : เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระเทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

“เอกลักษณ์” ของหลวงพ่อคูณ :

คำพูด “กู มึง” หลวงพ่อให้เหตุผลของการพูดคำนี้ว่า “กู แสดงให้รู้ว่า กูมีความจริงใจกับพวกมึง แสดงความเป็นกันเอง รักใคร่ สนิทสนม ไม่ต้องมีพิธีรีตอง พูดตรงไปตรงมาอย่างกู เรียกว่า ไอ้นาย ก็แปลว่า กูรักกูเอ็นดูเหมือนลูกเหมือนหลานไม่เกี่ยวกับยศถาบรรดาศักดิ์อะไร”

การนั่งยองๆ : หลวงพ่อให้คำตอบว่า “การนั่งยองๆ มันคล่องตัว สะดวกคล่องแคล่วรวดเร็ว การเคลื่อนตัวไม่ว่าจะลุก จะนั่ง จะเดิน ก็สะดวกและกูก็นั่งมาจนล้น รู้สึกมันสบายดี”

การอาพาธของหลวงพ่อ : นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ หนึ่งในทีมแพทย์ที่ได้ดูแลหลวงพ่อเล่าว่า โรงพยาบาลนครราชสีมามีโอกาสได้ดูแลหลวงพ่อตั้งแต่ปี 2536 ต่อมาปลายปี 2539 หลวงพ่อมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงได้ทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจที่โรงพยาบาลศิริราช และต่อมาได้ทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ ปี พ.ศ.2543 จนอาการดีขึ้นตามลำดับ ปี พ.ศ.2547 หลวงพ่อมีภาวะหลอดเลือดในสมองแตก ได้รับการผ่าตัดฉุกเฉินที่ศิริราช ต้องพักรักษาตัวอยู่นาน 3 เดือน ก่อนกลับไปฟื้นฟูร่างกายต่อที่วัดบ้านไร่ หลวงพ่อยังมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเหลืออยู่ จึงต้องใช้เก้าอี้รถเข็นในบางครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2554 หลวงพ่อเกิดภาวะติดเชื้อในปอดต้องพักรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนานถึง 9 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2555 จึงได้กลับไปพักรักษาตัวต่อที่วัดบ้านไร่ โดยมีทีมสหวิชาชีพร่วมกันดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด จนระยะสุดท้ายของท่าน เมื่อ 15 พฤษภาคม 2558 ท่านเกิดภาวะลมรั่วในปอดอย่างเฉียบพลันส่งผลให้ปอดและหัวใจหยุดทำงาน หลวงพ่อคูณได้มรณภาพอย่างสงบเมื่อเวลา 11.45 น.ของวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 สิริรวมอายุได้ 91 ปี นับจากวันนั้นถึงเวลานี้รวมระยะเวลาที่ท่านมรณภาพล่วงเวลานับเกือบ 6 ปี (อีก 1-2 เดือน)

“บำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่”

ด้วยการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็น “ครูใหญ่” ท่านได้กล่าวว่า “เมื่อกูตายแล้ว กูกลัวว่าศพของกูนี่แหละจะเป็นภาระยุ่งยากของลูกหลาน จะเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะคนที่มาหากู ฝากตัวเป็นศิษย์มีมากมายหลายประเภท มีทั้งดีทั้งเลว ละโมบ โลภมาก มาแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ นานา โดยไม่กลัวบาปกรรม กูจึงขอให้โรงพยาบาลมารับเอาศพไปภายใน 24 ชั่วโมง และหลังจากสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าแล้วก็ให้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่ท่านอื่นๆ” หลวงพ่อจึงจัดทำ “พินัยกรรมอันล้ำค่า” ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นับว่าเป็นการบำเพ็ญทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image