เดินหน้าชน : วิบากกรรม‘วัคซีน’ โดย โกนจา

ก่อนอื่นเราต้องชื่นชมประเทศไทยจัดระบบบริหารจัดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด -19 ตั้งแต่เริ่มพบการระบาด ทำให้ควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว

สถาบันโลวี (Lowy Institute) ของออสเตรเลียได้จัดอันดับให้ไทยเป็นอันดับ 4 ที่รับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุดในโลก จากทั้งหมด 98 ประเทศ เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และยืนยันความสำเร็จของการควบคุมโรคโควิด

สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังและการควบคุมโรคที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่เราต้องแลกมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ชาวบ้านประสบชะตากรรมอย่างแสนสาหัส

ทั่วโลกก็ประสบวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดเช่นกัน แต่อยู่ที่กึ๋นของผู้นำว่าจะบริหารประเทศอย่างไรให้พลิกฟื้นได้เร็วกว่ากัน

Advertisement

คำตอบอยู่ที่ “วัคซีน”

หากเราทุ่มงบจัดซื้อวัคซีน สมมุติต่อหัว 500 บาท คนไทย 67 ล้านคน เท่ากับต้องใช้ประมาณ 3.5 หมื่นล้าน ถ้าหัวละพันบาทก็ราวๆ 6.7 หมื่นล้านบาท

ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 600-700 ล้านโดส เทียบได้กับ 4.3% ของประชากรโลก ในส่วนประเทศไทย พบว่า
อัตราการฉีดต่อวันอยู่ที่ 12,676 โดส ครอบคลุมประชากรเพียง 0.2%

Advertisement

จากการประมาณการการกลับสู่ “ภาวะปกติ” ของไทย คำนวณ
จากอัตราการฉีดต่อวัน 12,676 โดส คาดว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ในการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 75% ของประชากร

เมื่อเกิดการระบาดระลอก 3 จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ มันเหมือนฝีที่แตกออกมาจากหนอง สะท้อนแนวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ทำงานเชิงรุกไม่เป็น

ตอนนี้ วัคซีนโควิด-19 ของไทยมีอยู่เพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น คือ ซิโนแวค (Sinovac) และแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca)

รัฐบาลอนุมัติจัดซื้อจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษ 26 ล้านโดส ในเดือนพฤศจิกายน และจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จากจีน จำนวน 1 ล้านโดส อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์

ประเทศไทยจัดซื้อวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ยังต้องรอกว่า 3 เดือนจากการจัดซื้อครั้งแรก กว่าจะได้เริ่มฉีดเข็มแรก

ที่ผ่านมา มีความเคลือบแคลงสงสัย เหตุใดรัฐบาลไทยจึง “ปิดกั้น” การสั่งซื้อวัคซีนจากเจ้าอื่น

เหตุใดรัฐบาลจึงทำหน้าที่ “ผูกขาด” ในการจัดซื้อวัคซีน

เหตุใดจึงต้อง “รอ” ถึง 3 เดือน กว่าจะเริ่มฉีดวัคซีน

นับตั้งแต่วัคซีนเข็มแรก ประเทศไทยฉีดวัคซีนทั้งประเทศได้เพียง 2-3 แสนโดส เท่านั้น คิดเป็น 0.4 โดส ต่อประชากร 100 คน

สิงคโปร์ฉีดไปแล้ว 26.6 โดสต่อประชากร 100 คน อินโดนีเซีย 4.7 โดส ต่อประชากร 100 คน มาเลเซีย 2.5 โดส ต่อประชากร 100 คน กัมพูชา 1.8 โดส ต่อประชากร 100 คน เมียนมา 0.7 โดส ต่อประชากร 100 คน ลาว 0.6 โดส ต่อประชากร 100 คน

เราแพ้ประเทศเพื่อนบ้าน เราถูกทิ้งห่างเป็นเท่าตัวเป็นอันดับที่
82 ของโลก เพราะความไม่มีประสิทธิภาพ และการจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล

ประเทศพ่ายแพ้ต่อความล่าช้าของรัฐบาลที่ทำงานโดยไม่รู้จักคุณค่าของ “เวลา” ต้องมาผวาปิดเมือง เศรษฐกิจพัง ประชาชนต้องสิ้นหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วันนี้เพิ่งมาคิดได้ว่าควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนร่วมกระจายวัคซีน

ปัญหาเกิดมาจากรัฐผูกขาดการนำเข้าวัคซีน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง หากเปิดให้เอกชนที่มีความพร้อม นำเข้าวัคซีนเพื่อบริการประชาชนจะช่วยคนไทยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แม้ล่าสุดจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา แต่มันก็ช้าไปแล้วหรือไม่

หากเราหวนไปฟัง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล ที่ออกมาย้ำโดยตลอดเรื่องการจัดหาวัคซีน จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนทางเลือกต่างๆ มาอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมประชากรให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายตัวไปในวงกว้าง ประชาชนสามารถดำเนินชีวิต ทำมาค้าขายได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติ

ปัญหาปากท้อง และความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการระบาดระลอก 3 ที่กำลังประสบอยู่ในทุกวันนี้ คือ วิบากกรรมของการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน คือ ความเสียหายจากการจัดหาและจัดฉีดวัคซีนอย่างล่าช้า

ระวังระบบสาธารณสุขจะล้มเหลว เศรษฐกิจประเทศจะพังหนักกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image