บทนำ : ครอบครัวเข้มแข็ง

บทนำ : ครอบครัวเข้มแข็ง

บทนำ : ครอบครัวเข้มแข็ง

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว หนังสือพิมพ์มติชนได้ทำสกู๊ปเกี่ยวกับวันครอบครัว พบว่า ครอบครัวไทยปัจจุบันยังมีความเข้มแข็งเกินมาตรฐาน โดยนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์ความเข้มแข็งของครอบครัวล่าสุดปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 56,972 ครอบครัว แบ่งเป็น ครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 82.24 ครอบครัวขยาย ร้อยละ 15.43 และครอบครัวลักษณะพิเศษ ร้อยละ 2.26 ภาพรวมพบว่า ครอบครัวไทยมีระดับความเข้มแข็ง ร้อยละ 85.60 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 68.40 โดยมีดัชนีความเข้มแข็ง คือ พึ่งพาตนเองมากที่สุดถึงร้อยละ 97.67 รองลงมาคือทุนทางสังคม ร้อยละ 94.97 ทำบทบาทหน้าที่ครอบครัว ร้อยละ 91.08

ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้ครอบครัวไทยอ่อนแอลง โดยนางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ที่ปรึกษางานด้านพัฒนาครอบครัว และกระบวนการด้านครอบครัวอิสระ ซึ่งเป็นเอ็นจีโอทำงานด้านครอบครัว ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ของครอบครัวซับซ้อน เช่น ก่อนการระบาดพบแนวโน้มที่ครอบครัวย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง แต่ตอนนี้เป็นการย้ายถิ่นกลับชนบท ซึ่งเป็นการกลับไปแบบไม่มีงานทำ อีกทั้งมีข้อจำกัดทางเงินออม ทำให้ได้รับผลกระทบ

นางฐาณิชชาระบุว่า สถานการณ์ครอบครัวจะรุนแรงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งมากขึ้น การจัดการในครอบครัวไม่ดี การจัดสอบหลายสนามของเด็ก พบว่าทำให้เด็กป่วยซึมเศร้ามากขึ้น ขณะนี้มีความพยายามทำงานกับพ่อแม่เพื่อให้ปรับตัวเอง สื่อสารเชิงบวกในบ้าน มีการช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจในครัวเรือน เพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน

Advertisement

ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้หนี้สินครอบครัวเพิ่ม ครอบครัวมีความเครียด วิตกกังวล และนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น พม.ทำเพียงลำพังไม่ได้ หลายหน่วยงานรัฐต้องมาช่วยกัน พร้อมด้วยเอกชนและภาคประชาสังคม เพราะจากประสบการณ์ทำงานด้านครอบครัวมาหลาย 10 ปี พบว่าปัญหาครอบครัวไม่เคยจบ มีแต่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ซับซ้อนยิ่งขึ้น สวัสดิการทั่วไปที่เป็นอยู่ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น ต้องจัดสวัสดิการที่สอดรับกับความเดือดร้อนนั้นๆ ด้วย

เสียงสะท้อนจากผู้ที่มีหน้าที่ดูแลสถานการณ์ของสถาบันที่เล็กที่สุดแต่มีความสำคัญที่สุดคือสถาบันครอบครัว ผู้ที่ได้สัมผัสกับปัญหาและต้องเผชิญหน้ากับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ระบาด ปัญหาสำคัญยังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตอกย้ำอยู่เนืองๆ ดังนั้น แม้ปี 2563 ความเข้มแข็งของครอบครัวโดยรวมจะเกินมาตรฐาน แต่ในปี 2564 นี้และปีถัดไป หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังกระทบต่อสถาบันครอบครัว ก็ไม่แน่ว่าความเข้มแข็งที่ดีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เรื่องดังกล่าวนี้น่านำมาขบคิดและแก้ไข เพราะถ้าสถาบันครอบครัวอ่อนแอ สังคมไทยก็จะยิ่งน่าห่วงมากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image