ภาพเก่าเล่าตำนาน : ‘หยก’หนักเป็นร้อยตัน…(มัน)อยู่ในพม่า โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สงครามยืดเยื้อที่เกิดขึ้นในแผ่นดินพม่า… ในพื้นที่รัฐกะฉิ่น (Kachin State) …มูลเหตุคือ การแย่งชิงทรัพยากรล้ำค่า

1 ในนั้นคือ “หยก” (Jade)

น้ำจืดที่ไหลมาจากภูเขาสูง ป่าไม้ อัญมณี แร่ธาตุที่เรียกว่า Rare Earth น้ำมันดิบ ก๊าซในทะเลขนาดมหึมา พื้นดินที่แสนอุดมสมบูรณ์ ฯลฯ …แผ่นดินพม่ามีพร้อมสรรพ

มาใส่ใจ สนในเรื่องของ “หยก” ในแผ่นดินพม่าครับ…

Advertisement

หยก (Jade) คือชื่อที่ใช้เรียกหิน ซึ่งเป็นอัญมณีอันล้ำค่ามากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะชาวจีนถือว่าหยกเป็นเจ้าแห่งหินมีค่าทั้งมวล

ในอดีตเข้าใจกันว่าหยกมีเพียงชนิดเดียว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความรู้ทางด้านเคมีมากขึ้นจึงสามารถแยกหยกได้เป็น 2 ชนิด คือ

เจไดต์ (Jadeite) มักมีสีเขียวเข้มสด จัดเป็นหยกชนิดคุณภาพดี อยู่ในระบบผลึกแบบหนึ่งแกนเอียง โดยธรรมชาติมักพบเป็นก้อนเนื้อแน่น ประกอบด้วยผลึกขนาดเล็กอยู่รวมกัน มีความวาวตั้งแต่แบบแก้วจนถึงแบบน้ำมัน หยกเจไดต์มีความแข็ง 6.5-7 มีสีในเนื้อเฉพาะตัว และมักไม่สม่ำเสมอ มีสีเข้มและจาง

Advertisement

เนฟไฟรต์ (Nephrite) อยู่ในระบบผลึกหนึ่งแกนเอียง โดยธรรมชาติมักพบเกิดเป็นผลึกกลุ่มที่มีขนาดเล็ก รูปเส้นใยเดียวกัน หยกเนฟไฟรต์มีความแข็ง 6-6.5 มีความวาวแบบแก้วถึงน้ำมัน

สีมีความเฉพาะตัวเหมือนหยกเจไดต์ แต่มีสีเข้มไม่เท่า และมีสีมืดมากกว่า

แหล่งแร่หยกเจไดต์ (Jadeite) ที่พบในพื้นที่ “รัฐกะฉิ่น” ทางตอนเหนือของเมียนมาเป็นแหล่ง “หยก” ที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลก

ชาวจีน…ยกย่อง บูชา-โหยหา หยกมาแต่โบร่ำโบราณ…

หยก หรือยู่ ในภาษาจีนกลาง หรือเง็ก ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คืออัญมณีที่ชาวจีนยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งคุณธรรม 5 ประการ คือ ใจบุญ สมถะ กล้าหาญ ยุติธรรม และมีสติปัญญา

ชาวจีนมีความผูกพันกับหยกตั้งแต่เกิดจนตาย ชาวจีนเชื่อว่าหยกเป็น “อัญมณีศักดิ์สิทธิ์” ที่นำมาซึ่งสิริมงคล เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย มีโชคแก่ผู้ครอบครองและทำให้อายุยืน…

ชาวจีน…เชื่อกันอีกว่า…หยกมีอำนาจคุ้มครองผู้สวมใส่ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย เป็นเครื่องรางบอกเหตุได้…

ผู้สวมใส่กำลังมีโชค หรือมีเคราะห์อย่างไร สังเกตได้จากสีของหยก หากหยกมีสีสันสดใส นั่นก็หมายความว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีโชค แต่ถ้าหากหยกมีสีหมองลง หรือมองเห็นรอยแตกร้าวชัดขึ้นก็แปลว่า เจ้าของหยกกำลังจะมีเคราะห์มาเยือน

หยกที่ชาวจีนใช้เป็นเครื่องรางมักจะแกะสลักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น ปลา เต่า จิ้งหรีด หน้าเสือ

ทางด้านการรักษาโรค… ชาวจีนเชื่อกันว่าหากกินหยกบดละเอียดจะช่วยรักษาโรคไต โรคเจ็บสีข้าง โรคโลหิตจาง โรคหอบหืด ชาวจีนศรัทธาและยกย่องอัญมณีสีเขียวล้ำค่านี้มาก

ที่สำคัญคือ ราชสำนักจีน…นิยมชมชอบหยก ประดับบารมี…

พระจักรพรรดิใช้หยกเป็นตราพระราชลัญจกร พระธำมรงค์ พระคทา หรือพระที่นั่ง

ชาวจีนทั่วไปมักจะให้ลูกหลานของตนพกหยกติดตัวไว้เสมอ ถ้าเป็นเด็กหญิงจะสวมกำไลหยก แต่ถ้าเป็นเด็กชายก็จะพกเครื่องใช้ที่ทำด้วยหยก หรือจี้พระหยก เมื่อเสียชีวิตหยกก็จะถูกฝังลงไปพร้อมกับศพ

มีการขุดพบฉลองพระองค์หยกของพระจักรพรรดิในราชวงศ์ฮั่นที่ถูกฝังร่างเมื่อราว 2 พันปีที่แล้วพร้อมหยกเคียงกาย…

ตำนานการค้นพบหยกที่แสนจะพิสดาร

ในศตวรรษที่ 13 พ่อค้าชาวยูนนานเดินทางไปค้าขายต่างเมือง ต่างถิ่น… เมื่อตอนขากลับระหว่างข้ามพรมแดน เขาหยิบก้อนหินขึ้นมาก้อนหนึ่ง เพื่อถ่วงน้ำหนักในถุงใส่สินค้า…ให้ลาเดินได้อย่างสมดุล

เมื่อกลับไปถึงปลายทาง หินก้อนนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหยกที่มีมูลค่ามหาศาล

เกิดการแตกตื่นว่ามีหยกมหาศาล-เรี่ยราด ในพื้นที่ตรงนั้น

ผู้ครองนครยูนนานส่งแรงงานทีมใหญ่เพื่อไปค้นหาหยก

เหมือนมีอาถรรพ์… แรงงานที่ไปขุดค้นเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย ไข้ป่า ป่วยตายเกือบหมดโดยไม่รู้สาเหตุ

แรงงานที่เหลือ…โดนชาวเขา-เจ้าถิ่น เข้าทำร้ายตายเกลี้ยง

หลังจากนั้น…ราชสำนักจีนหยุดส่งคนไปค้นหาหยก

กาลเวลาผ่านไปนานหลายทศวรรษ ชาวกะฉิ่นขยายเผ่าพันธุ์ มีอัตลักษณ์ตัวเอง ยืนยันว่าไม่ใช่คนจีน ประกาศครอบครองดินแดนบนที่สูง (ในขณะที่รัฐบาลพม่ากำลังรวบรวมดินแดนเป็นประเทศ)

ท่ามกลางความอัตคัด ขัดสนบนที่สูง …พระเจ้าได้ประทานสินแร่ที่มีค่าให้อาณาจักรของชาวกะฉิ่น (Kachin)

ว่ากันตามเนื้อผ้า…ตรงไป-ตรงมา ชาวกะฉิ่นประกาศตัวเป็นเจ้าของดินแดน เจ้าของหยกในดิน ที่น่าจะทำเงินกินกันไปได้นาน 7 ชั่วโคตร

หยก (Jade)… เป็นก้อนขนาดย่อมๆ เท่ากำมือ…บางก้อนน้ำหนักเป็นตัน…คือเรื่องที่พบได้มานานนับร้อยปี …นี่คือ ทรัพย์สินที่ชาวกะฉิ่นจะปล่อยให้ “ชาวพม่า” มาครอบครองดินแดนนี้ไม่ได้…

เรื่องของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ประเพณี วัฒนธรรม …ชาวกะฉิ่นมีความกลมกลืน ผูกพัน มีหน้าตาออกไปทาง “ชาวจีน”

ถิ่นที่อยู่…ก็ชิดใกล้กับจีน …แต่ก็ “ไม่ยอมรับว่าเป็นชาวจีน”

ดินแดนของกะฉิ่นมียอดเขาชื่อ คากาโบราซี (Hkakabo Razi) สูง 5,881 เมตร ถือเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…มีหิมะปกคลุมเกือบทั้งปี…สวยงาม มีเสน่ห์ …มีนักท่องเที่ยว…สร้างรายได้ให้ท้องถิ่นก้อนโตมานาน

ชามข้าวของใครก็กินในชามตัวเองสิ (เว้ย)

(แทบทุกชนเผ่าในแผ่นดินพม่าตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อปกป้องทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ต้องการทำมาค้าขายเอง ไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารพม่ามาแบ่งปัน…)

พ.ศ.2504 ชาวกะฉิ่นก่อตั้งกองทัพเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independent Army : KIA) เป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่แสวงหาความเป็นอิสระทางการเมืองและต้องการเพื่ออำนาจการจัดการที่ดินและทรัพยากร

การก่อรัฐประหารของนายพล เนวิน เมื่อ พ.ศ.2505 ทหารพยายามลดบทบาทของชนกลุ่มน้อย กองทัพเอกราชกะฉิ่นตั้งมั่นจะสู้รบต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ปกป้องดินแดนที่แสนร่ำรวย…
การแข็งข้อ…เริ่มจากการต่อสู้เพื่อความเป็นเอกราช มาเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง เคยมีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับกองทัพพม่าใน พ.ศ.2537 ทำให้ความรุนแรงลดลง
กองทัพกะฉิ่นถือไพ่เหนือกว่ากองทัพพม่า…เป็นการหยุดยิงแบบ “หล่อเลือกได้” มีอำนาจต่อรอง…
กองทัพเอกราชกะฉิ่นไม่ได้ถูกปลดอาวุธและคงมีกำลังทหารต่อไป ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าต้องการให้กลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่มปลดอาวุธก่อนการเลือกตั้ง… แต่กองทัพ
เอกราชกะฉิ่นได้ประกาศอย่างเด็ดขาดที่จะไม่ยอมปลดอาวุธ
แปลว่า…กองทัพพม่าก็ทำอะไรไม่ได้…ปราบไม่สำเร็จ
เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ การเมือง การปกครอง …ชาวกะฉิ่นค่อนข้างจะห่างเหิน เมินหมางกับรัฐบาลทหารพม่าในย่างกุ้งมาตลอด

รายได้จากการค้าหยก…ควรต้องเป็นของคนในท้องถิ่น มิใช่ต้องส่งเข้าไปปรนเปรอคนในส่วนกลาง… คนในท้องถิ่นขุดค้นหาหยก

การขุดค้นในช่วงแรกๆ ก็จอบเสียม เครื่องจักรขนาดย่อมแบบตามมีตามเกิด ก็พอมีโชคมีลาภ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

ยิ่งขุด…ยิ่งเจอ…ชาวจีน คือ ลูกค้าผู้ยิ่งใหญ่…

กองทัพพม่าส่งกำลังเข้าไปปราบปราม…กองทัพ KIA ก็ตอบโต้เต็มพิกัดด้วยสงครามกองโจร กองทัพพม่าเจอของแข็ง…

รัฐบาลทหารที่ผ่านมาหลายทศวรรษ ทั้งเจรจา ทั้งสู้รบ แต่ก็หาข้อยุติไม่ได้ เพราะกองทัพ KIA แข็งแกร่ง

กลุ่มกะฉิ่นก็มิได้เก่งคนเดียว…ผู้นำฯ ไปผูกไมตรี สร้างพันธมิตรทางการเมืองกับชาวเผ่าอีก 6 เผ่าในมณฑลยูนนานของจีน ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและรัฐกะชีนในพม่า ส่วนใหญ่มีฐานที่มั่นใกล้ชายแดนจีน…เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ชาวกะฉิ่น…ดิ้นรนทำเหมืองขนาดเล็ก …ขุดหาหยกได้อย่างอิสระแต่ต้องจ่ายภาษีนอกระบบให้กับกองทัพ KIA เป็นเกลือข้าวและเงินสด บ้างก็ขุดหาแบบ “อิสระชน” ผืนดินกลายเป็นหลุมขนมครก

ปลายยุค 1990 นายทุนของจีนขอเข้ามาลงทุนทำเหมืองหยก

บริษัทเล็กๆ และชาวบ้านที่ขุดหาหยก… ถูกบีบออกจากพื้นที่

ต้นทศวรรษ 1990 บริษัทของจีนได้รับอนุญาตจาก KIA และกองทัพให้เข้ามาการจัดการธุรกิจเหมืองหยก…

จีนทำอะไร…ต้องใหญ่ ต้องโต…เครื่องจักรขนาดมหึมาถูกนำมาใช้ทำเหมือง ขุดเจาะ หาหยกแบบ “พลิกโลก”

ผืนธรณีในดินแดนกะฉิ่นกลายเป็นบ่อขนาดยักษ์ที่น่าจะเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาวาฬได้สบายๆ (ดูภาพ)

ชาวกะฉิ่น เจ้าถิ่นอดอยากปากแห้ง… จ้องมอง หาโอกาสเข้าร่วมค้นหาในกองดินแบบแทงหวย เพื่อหาเศษชิ้นหยก ซึ่งก็พอมีลาภลอยปะทังชีวิตไปได้…

9 กุมภาพันธ์ 2557 มีข่าวกระหึ่มโลก… สำนักข่าวดีวีบีรายงานว่า ได้มีการขุดค้นพบหยก ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 37 ตัน ที่อำเภอไวก่า เขตเหมืองหยกผ่ะกาน รัฐกะฉิ่น โดยทางการพม่าได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ขุดพบหยกอย่างเข้มงวด และไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว

16 ต.ค.2559 สำนักข่าวบีบีซีรายงานกระแสฮือฮาในประเทศพม่า …ขุดพบก้อนหยกขนาดมหึมา สูง 4.3 เมตร ยาว 5.8 เมตร และคาดว่ามีน้ำหนักมากถึง 175 ตัน ในรัฐกะฉิ่น

มูลค่าที่ประเมินในเบื้องต้นสูงกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,950 ล้านบาท

เหมืองหยกที่ใหญ่ที่สุด คือ บริษัทยาดานาร์ ต่อง ตัน เจมส์ และกระทรวงเหมืองแร่เมียนมา ภายใต้ข้อตกลงร่วมทุน 60 : 40 หยกขนาดยักษ์อยู่ลึกใต้ดิน 60 เมตรในภูเขา

เหมืองหยกในรัฐกะฉิ่นเป็นแหล่งหยกที่มีค่าและใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเกือบเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งประเทศ สร้างมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 9 แสนล้านบาท) ต่อปี

มีการเจรจา (ลับ) เรื่องผลประโยชน์การทำเหมืองหยก…

ต่อมา…การค้าหยกถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมาที่แนบแน่นกับจีน ข้อมูล ตัวเลข การทำธุรกิจหยก นับแสนล้าน…เป็นความลับ ดำมืดตลอดมา ไม่ค่อยมีใครทราบ เงินก้อนใหญ่ไปไหน

กองทัพเมียนมาตั้งบริษัทและเข้าถือหุ้นในอุตสาหกรรมหยกผ่านบริษัท Myanma Economic Holdings Limited และ Myanmar Economic Corporation

ข่าวเหมืองถล่มมีคนตาย…ก็เกิดขึ้นต่อเนื่องเสมอมา…

3 ก.ค.63 ฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน เกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในรัฐกะฉิ่น ฝังร่างคนงาน 162 คนหายไปในทะเลโคลน

มวลดินขนาดมหึมาเทียบเท่าภูเขาพังถล่ม ดิน โคลนนับหมื่น นับแสนตัน ไหล กวาด กลืนชีวิตผู้คนแบบธรณีสูบในนิทานพุทธประวัติ

แทบทุกวัน… ชาวบ้านนับร้อย…ต้องคอยวิ่งเข้าหากองดินที่รถบรรทุกนำมาเททิ้งแบบไม่คิดชีวิต เพื่อมอง ควานหาชิ้นหยกที่อาจติดมากับเศษดิน เพื่อนำไปขาย หาเงิน ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง…

ในรัฐกะฉิ่น…มีเหมืองหยกราว 20 แห่ง เป็นของนายทุนจีนและทหารในกองทัพเกือบทั้งนั้น…ชาวเมืองยังยากจน ขาดการพัฒนา

แถมท้ายครับ…หลังการยึดอำนาจเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพกะฉิ่นประกาศไม่เห็นด้วยกับผู้นำกองทัพพม่า…

11 มีนาคม 2564 ทหารกองทัพ KIA ได้บุกเข้าโจมตีที่ตั้งทหารพม่า…ค่ายทหารพม่าถูกเผาทิ้ง

ประมาณกันว่า…หยกที่ขุดมาจากรัฐกะฉิ่น….คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของ “หยกเนื้อดี” ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก

หลังยึดอำนาจ…เอกชนของจีนน่าจะต้องคุยกับกองทัพพม่าและ KIA จะดำเนินธุรกิจต่ออย่างไร…

ไอ้พวกที่รบ ก็รบกันไป… ไอ้พวกที่ทำมาหากิน ก็ต้องเอาไปแบ่ง

“หินสีเขียว” ที่มีค่านับแสนล้านนี้…เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงคราม….

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image