เดินหน้าชน : ระดมสมอง โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

ต้องยอมรับว่า ยังไม่มีอะไรแน่นอนกับการเผชิญหน้าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาแล้ว 16 เดือน จะปราบให้อยู่หมัดเมื่อใดนั้น ไม่มีใครตอบได้ แม้ความพยายามของโลกที่เร่งผลิตวัคซีนป้องกันการแพร่เชื้อออกมาแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีคำตอบอยู่ดี

ฟังคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา พยายามเล่าทุกเรื่องราวตั้งแต่การระบาดของโควิดถึง 3 ครั้ง ไปจนถึงการใช้มาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจาย เชื้อจากอู่ฮั่นระบาดมาถึงเมืองไทยครั้งแรก รัฐบาลตัดสินใจต้องล็อกดาวน์ตามคำเสนอของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะทำให้ตัวเลขในประเทศเป็นศูนย์ได้นาน แต่ผลที่เสียหายหนักคือเศรษฐกิจที่กู่ไม่กลับ

ระบาดหนที่สอง เกิดจากแพกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร แม่ค้าติดเชื้อคนแรกไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ แต่การสืบสวนของโรคพบว่าติดจากแรงงานต่างด้าวในตลาด แพร่กันอย่างเงียบๆ มานานจนปะทุออกมา

การระบาดหนที่สาม จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อเชื่อมโยงไปทุกที่ รวมทั้งสถานบันเทิงตามหัวเมืองใหญ่ๆ โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษก่อให้เกิดคลัสเตอร์ทองหล่อ มีผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ

Advertisement

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน ขณะที่ตัวเลขติดเชื้อยังแค่หลักร้อย นายกฯบอกว่า รัฐบาลกำลังหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกิดความสมดุลระหว่างเรื่องสุขภาพกับเรื่องเศรษฐกิจ จนพูดว่า “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” ต้องหาทางแก้ไข และเป็นช่วงของการกลับภูมิลำเนาในเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่เป้าหมายยังอยากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพี โตที่ 4%

ส่วนผลการประชุมของ ศบค.ชุดใหญ่ ล่าสุด ซาวเสียงจากภาคเอกชนต่างก็พึงพอใจในระดับหนึ่งที่ไม่มีมาตรการ “ล็อกดาวน์” หรือ “เคอร์ฟิว” เหมือนอย่างที่รองนายกฯคนหนึ่งออกมาบอกก่อนหน้าวันเดียวว่าอาจมีล็อกดาวน์บางจังหวัด

เท่ากับว่า รัฐบาลรับฟังภาคเอกชนที่ส่งเสียงดังขึ้นในระยะหลัง ไม่ต้องการให้ล็อกดาวน์อีก จะทำให้ภาคธุรกิจพังพาบ แม้ครั้งนี้จะมีธุรกิจบางประเทศทั้งภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ และอีกหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักก็ตาม แต่ล้อขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ยังเดินไปได้อยู่

Advertisement

จะมีโอกาสแค่ไหนหลังจากนี้ หากการทำงานของรัฐบาลผ่าน ศบค.จะยอมให้นักธุรกิจหรือภาคเอกชนได้มีโอกาสเข้าร่วมเสนอในเวที ศบค.ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในเมื่อนายกฯ รับฟังรัฐมนตรีว่าการที่คุมนโยบายเศรษฐกิจกันมามากแล้ว น่าจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนเอกชนเข้ามีส่วนร่วมเสนอนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจังไปด้วย

ตามที่ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย พยายามส่งสารไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ภาคเอกชนหรือตัวแทนหอการค้าจังหวัดมีโอกาสหารือผ่านผู้ว่าฯทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีบริบทของเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป

ที่น่าสนใจอย่างมาก ในวันที่ 19 เมษายนนี้ คณะกรรมการหอการค้าไทยจัดประชุมระบบทางไกลกับผู้บริหารระดับซีอีโอ รวม 40 บริษัทใหญ่ในประเทศไทย เป็นการระดมความคิดจัดทำ 3 ภารกิจเร่งด่วนให้เกิดขึ้นจริงใน 99 วัน คือ 1.เร่งรัดการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดให้กว้างขวางและเร็วที่สุด 2.การเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือและพยุงธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และ 3.การเร่งแก้ไขกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังจากโควิดคลี่คลายแล้ว

ถือเป็นโอกาสสำคัญของรัฐบาลที่กำลังได้คนฟากธุรกิจช่วยคิด สนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ตามสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิดที่นับวันแต่จะเสียเวลาให้กับเชื้อร้ายนี้ไปเรื่อยๆ ขออย่าเป็นแค่รอผลการหารือและข้อเสนอแนะจากซีอีโอที่พร้อมจะส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเท่านั้น แต่รัฐบาลควรส่งคนเข้าไปร่วมรับฟังด้วยเลย

การระบาดรอบ 3 ไม่ถึงขั้นประเทศต้องกลับมานับหนึ่งกันใหม่ เพราะด้วยวิธีคิด การระดมสมองเพื่อร่วมจัดการปัญหาแบบองค์รวมอย่างนี้ เชื่อว่า ประเทศไทยจะได้คำตอบที่ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น หากจะต้องอยู่ร่วมกับโควิดไปตลอดก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image