นิรโทษกรรม โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แกนนำองค์กรหลายกลุ่ม อาทิ คณะกรรมการญาติวีรชน พฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติฯ รวมตัวกันในนามกลุ่มไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย จัดชุมนุมที่อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 สวนสันติพร ตั้งแต่วันที่ 4, 5 เมษายน ก่อนยุติลงวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา และประกาศว่าจะกลับมาใหม่หลังสงกรานต์

เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาตัวเองลาออก ฐานผิดคำสัญญาที่เคยให้ไว้มากมาย กระทั่งล่าสุดจัดการปัญหาโรคอุบัติใหม่ไวรัสโคโรนา 2019 บกพร่องจนเกิดการระบาดระลอกสาม

ปรากฏว่าถูกแจ้งความดำเนินคดีฐานละเมิด พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุม มั่วสุมทำกิจกรรม แล้ว 32 คน ให้ไปรายงานตัวภายในปลายเดือนเมษายนนี้

สงกรานต์ผ่านไป แกนนำนัดชุมนุมต่อวันเสาร์ที่ 24 เมษายนนี้ ตามที่เคยบอกไว้ แต่จะเป็นการชุมนุมรูปแบบใหม่ New Normal ให้ผู้เข้าร่วมผ่านโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ โดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เช่าสถานที่ห้องประชุมใหญ่ พีซทีวี อนุญาตให้เฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้นที่เข้าฟัง

Advertisement

ทันทีที่มีการขยับ นั่งร้านในทำเนียบรัฐบาล คิดอะไรใหม่ไม่ออก แสดงอาการหงุดหงิด กระฟัดกระเฟียดแทนนาย ออกมาปรามและตอบโต้ อ้างโควิดอาจติดกันไปใหญ่ ไม่ตำหนิต้นตอแหล่งแพร่เชื้อและคนของรัฐทำตัวเป็นพาหะสักคำ

ทำเป็นลืมไปว่าก่อนการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแทบทุกครั้งคนของรัฐนั่นแหละพูดเป็นต่อยหอย เจตนาเพื่อเอาไว้แก้ปัญหาสาธารณสุข ไม่ได้มุ่งใช้เป็นเครื่องมือสกัดกั้นความเห็นต่าง ความเป็นจริงที่เกิดตรงกันข้าม ผู้จัดชุมนุมถูกดำเนินคดีระนาว คนแพร่เชื้อตัวจริงกลับไปนอนบ้านสบาย

สถานการณ์อีกด้าน แกนนำกลุ่มราษฎรเรียกร้องการปฏิรูปถูกจับกุมไม่ได้รับการประกันตัว อดอาหารประท้วงในเรือนจำ ขณะที่ภายนอกเกิดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยืนหยุดขัง 112 นาที เรียกร้องเลิกมาตรา 112 กระจายไปทั่วหลายจังหวัดต่อเนื่อง

Advertisement

ส่วนความเคลื่อนไหวในรัฐสภา ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกตีตกไปต้องกลัมาตั้งต้นกันใหม่ พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ยกร่างแก้ไขใหม่รายมาตรา ยืนยันให้เลิกมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.หยุดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ และแก้ รธน.ใช้เสียงเพียง 3 ใน 5 ของ 750 หรือ 450 เสียงพอ

ขณะพรรคพลังประชารัฐแกนนำไม่เอาด้วย ไม่ยอมแตะมาตราเหล่านี้ ฝ่ายวุฒิสมาชิกยังยืนยันท่าทีเดิมไม่ยอมแน่นอน เชื่อว่าปิดสวิตช์ ส.ว.ไม่มีทางสำเร็จเพราะหา ส.ว.สนับสนุนได้ไม่ถึง 84 คน หรือไม่มีเลย

ตามกำหนดการรัฐสภาจะเปิดประชุมสมัยสามัญวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ การเมืองในสภาจะร้อนแรงขึ้นอีกรอบ นอกสภารุมเร้ากดดันทุกด้าน ทั้งภัยโควิด-19 เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ดินฟ้าอากาศ เสียงเรียกร้องคงรวมศูนย์มาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะยอมง่ายๆ ด้วยการลาออก หรือยุบสภา จนเกิดมีคำถามว่า แล้วทางออกของสังคมไทยจะไปจบลงตรงไหน เมื่อไหร่ ระหว่างรอรัฐบาลครบวาระ 4 ปี 24 มีนาคม 2566

ความเคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปนี้ อีกจุดหนึ่งที่ฮือฮากันพักใหญ่แต่วันนี้เงียบหายไปจนเกือบกลายเป็นสิ่งที่โลกกำลังจะลืม คือ คณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน

ยังไม่มีบทสรุปข้อเสนออะไรออกมา เป็นขอนไม้ลอยน้ำให้รัฐบาลเกาะ พอเป็นทางเลือกให้รอดจากความล้มเหลวในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองมาตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ฉะนั้น ในโอกาสเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญอีกครั้ง จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะรัฐบาลและนั่งร้านทั้งหลาย ต้องนำมาคิดและตัดสินใจเพื่อเป็นเครื่องมือหยุดยั้งความแตกแยกในสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่แก้รัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายออกเสียงประชามติ เยียวยาแก้ปัญหาโควิด-19

นั่นคือ แนวทางนิรโทษกรรม เสนอกฎหมายให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องทางการเมือง นิรโทษคดีประเภทใด ใครเข้าข่าย ไม่เข้าข่ายบ้าง

ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องยากเลย หากฝ่ายบริหารมีเจตจำนงชัดเจนและมีความกล้าหาญ ไม่ต้องซื้อเวลารอรับผลงานจากฝ่ายนิติบัญญัติท่าเดียว ซึ่งไม่มีหลักประกันกำหนดแน่นอนว่าจะจบเมื่อไหร่

รัฐบาลควรแสดงท่าทีและแนวทางของฝ่ายบริหารผ่านตัวแทนที่อยู่ในนั้นเพื่อให้ได้บทสรุปที่ชัดเจนโดยเร็ว

นิรโทษกรรมจะเป็นเครื่องมือและหนทางคลี่คลายความขัดแย้ง ตึงเครียด ได้แทบทุกด้าน สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายลง

แนวคิดนี้บางฝ่ายอาจเห็นตรงข้ามว่า เรียกร้องไปก็เสียเวลา เสียแรง เสียสมองเปล่าๆ เพราะรัฐบาลไม่เอาด้วยแน่นอน สู้ลอยตัว โทษคนอื่น ไร้จุดยืนใดๆ ทั้งสิ้นมีโอกาสอายุยืนยาวกว่า

ขณะที่ปากก็เรียกร้องขอความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ร่วมไม้ร่วมมือ แต่อีกด้านหนึ่งก็เย้ยหยัน ปล่อยให้มือไม้กลไกรัฐเล่นงานผู้เห็นต่างระลอกแล้วระลอกเล่า

สองหน้า สองมาตรฐาน เช่นนี้ ความสงบสุข ไทยเดินหน้าไปด้วยกันจะเป็นจริงได้อย่างไร เมื่อไหร่ หากไม่นิรโทษกรรมคนอื่น เฉกเช่นเดียวกับที่เคยนิรโทษกรรมตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image