บุคคลที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

การพัฒนาประเทศไทย มีแผนการพัฒนาประเทศว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 12 และทิศทางการพัฒนาประเทศของเราก็มักจะตามประเทศตะวันตกไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ฯลฯ แม้แต่ประเทศแถบเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น

จากการเกษตรอุตสาหกรรม การเจริญทาง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่ยุคดิจิทัล และที่สำคัญในยุคโควิด-19 ที่ผ่านมา 1-2 ปี พฤติกรรมวิถีชีวิตการดำรงอยู่ย่อมเปลี่ยนไปอย่างมาก

ชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างกรณีโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม อันเนื่องมาจากเราจำเป็นต้องมีวิถีชีวิตใหม่ New Normal ภายใต้มาตรการหยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการใส่หน้ากาก กินร้อนช้อนส่วนตัว การเว้นระยะห่าง (Social distancing) อยู่บ้านเพื่อชาติ ไม่ออกนอกบ้าน ต่างคนต่างอยู่ ตัวใครตัวมันและสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นในฐานะผู้เกิดมานาน (ฮา) คือ การเคารพนับถือ กราบไหว้ “บุคคลหาได้ยาก” ที่กลุ่มเยาวชนเด็กรุ่นใหม่เริ่มจางขาดหายไป อันอาจมาจากการให้ความสำคัญลดน้อยถอยลงก็เป็นได้การอ่อนน้อมถ่อมตนนับเป็นจุดเริ่มต้นของคนดีครอบครัวดีสังคมดี สิ่งเหล่านี้เริ่มจางเพี้ยนไป หรือเป็นสิ่งที่เริ่มหายากมากขึ้นมีอะไรบ้าง มาดูกัน 1) บุพการี บุคคลที่ทำอุปการะก่อน 2) กตัญญูกตเวทีบุคคลผู้รู้อุปการะที่ทำแล้วและตอบแทนบุพการี : ความหมายแปลว่า “บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน” ได้แก่ บุคคลที่มีอัธยาศัยเผื่อแผ่ ประกอบด้วยพรหมวิหาร ทำประจำอยู่ในใจ ไม่คิดอยากได้แต่ฝ่ายเดียว ตั้งใจทำอุปการคุณจะมากหรือน้อยก็ตาม โดยไม่หวังตอบแทนแต่อย่างใด และไม่เกี่ยวข้องบุคคลผู้ซื้อขาย ซึ่งจะต้องมีสิ่งของแลกเปลี่ยนกับบุพการี โดยทั่วไปท่านกำหนดมี 4 ประเภท 1.บิดามารดา 2.ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ 3.พระมหากษัตริย์ 4.พระพุทธเจ้า บิดามารดาได้ชื่อว่าเป็นบุพการีของบุตรธิดา และเป็นผู้ให้กำเนิดให้เลือดเนื้อชีวิตจิตใจ ตลอดถึงการให้อาหาร ยา ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มต่างๆ เป็นต้น แก่บุตรธิดา และมีหน้าที่ต้องบำรุงบุตรธิดาให้เป็นสุขต่างๆ หลัก 5 ประการคือ 1) ห้ามมิให้ทำความชั่ว 2) สอนให้ตั้งอยู่ในความดี 3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา 4) หาคู่ครองที่สมควรให้ 5) มอบทรัพย์สมบัติให้สมัย ครู อาจารย์ อุปัชฌาย์ ได้ชื่อว่าเป็นบุพการีของนักเรียน ศิษยานุศิษย์ เพราะเป็นผู้มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนอบรมให้มีความรู้ความสามารถ จนกระทั่งตั้งตนเป็นพลเมืองดี ซึ่งมีหลักที่จะต้องปฏิบัติ 5 ประการคือ 1) แนะนำดี 2) ให้เรียนดี 3) บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง 4) ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง 5) ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย (คือ จะไปทิศไหนก็ไม่ให้อดอยาก) หน้าที่ทั้ง 5 ประการนี้ ครูอาจารย์หรืออุปัชฌาย์ต้องปฏิบัติให้บริบูรณ์ ถ้าขาดไป
แม้เพียงบางข้อบางประการก็ชื่อว่าบกพร่องในหน้าที่ของบุพการี

พระมหากษัตริย์ ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพการีของประชาราษฎร์ เพราะทรงมีหน้าที่ปกครองไพร่ฟ้าราษฎร์ผู้อาศัยอยู่ในประเทศให้มีความร่มเย็นเป็นสุข โดยที่พระองค์ต้องทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม คือ ธรรมสำหรับพระราชา 10 ประการคือ 1) ทาน 2) ศีล 3) บริจาค 4) ความซื่อตรง 5) ความอ่อนโยน 6) คอยกำจัดคนชั่ว 7) ความไม่โกรธ 8) การไม่เบียดเบียน 9) ความอดทน 10) ความไม่ผิดในทุกกรณี

Advertisement

พระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าทรงเป็นบุพการีของพุทธบริษัท เพราะทรงมีพระมหากรุณาอันกว้างขวางโดยไม่มีขอบเขต ทรงประทานพระธรรมเทศนาสั่งสอนเวไนยชน ด้วยหลัก 3 ประการคือ 1) ทรงห้ามมิให้ทำบาปทั้งปวง 2) ทรงสอนให้ทำบุญกุศลทุกอย่าง 3) ทรงสอนให้ทำจิตให้ผ่องใส

กตัญญู แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน กตเวที แปลว่า ผู้ประกาศคุณนั้นให้ปรากฏ ได้แก่ ผู้ตอบแทนคุณ รวมเป็น กตัญญูกตเวที แปลว่า ผู้รู้อุปการคุณที่ท่านทำแล้วและตอบแทน หมายความว่า ผู้ระลึกถึงอยู่เนืองๆ ซึ่งอุปการคุณที่ท่านบุพการีนั้นๆ ได้กระทำให้แก่ตน และเมื่อได้โอกาสก็ตอบแทนคุณตามควรแก่ฐานะภาวะและกาลสมัย เหมือนบุคคลที่กู้หนี้ท่านมา ครั้นได้เวลาก็ชำระหนี้ให้ท่าน คนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมชื่อว่าเป็นลูกหนี้ เช่น บุตรธิดาเป็นลูกหนี้มารดาบิดา นักเรียนศิษย์เป็นลูกหนี้ครูอาจารย์ ประชาราษฎร์เป็นลูกหนี้พระมหากษัตริย์ พุทธบริษัทเป็นลูกหนี้พระพุทธเจ้า เมื่อเป็นลูกหนี้โดยที่เป็นหนี้บุญคุณท่านอยู่เช่นนี้ จึงสมควรที่จะต้องตอบแทนคุณท่าน จึงจะเชื่อว่าเป็นการเปลื้องหนี้ได้ ผู้ที่เปลื้องหนี้ด้วยการตอบแทนคุณท่านได้แล้วคือ 1.บุตรธิดา 2.นักเรียน ศิษยานุศิษย์ 3.ประชาราษฎร์ 4.พุทธบริษัท

บุตรธิดา เมื่อระลึกถึงคุณมารดาบิดาแล้ว จึงบำรุงเลี้ยงดูและถนอมน้ำใจท่านมิให้เดือดร้อน ซึ่งมีหลักแห่งการบำรุง 5 ประการคือ 1.ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เราต้องเลี้ยงท่านตอบ 2.ช่วยทำกิจของท่าน 3.ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียง 4.ประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับมรดก 5.เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วทำบุญอุทิศให้ท่าน

Advertisement

นักเรียน ศิษยานุศิษย์ เมื่อระลึกถึงคุณของครูอาจารย์แล้ว จึงควรตอบแทนคุณของท่านตามหลัก 5 ประการคือ 1.แสดงความเคารพนอบน้อมด้วยการลุกขึ้นยืนรับ 2.คอยรับใช้ไม่ดูดายในเมื่อท่านมีธุรกิจ 3.เชื่อฟังคำสั่งสอนไม่ดื้อด้าน 4.อุปฐากบำรุงท่านด้วยการอำนวยความสุขสบายตามสมควร 5.ตั้งใจเล่าเรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

ประชาราษฎร์ เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระมหากษัตริย์แล้ว จึงควรตอบแทนพระองค์ท่านด้วยการตั้งใจประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ไม่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติที่ทรงแต่งตั้งไว้ และมีความจงรักภักดีเคารพบูชาด้วยการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทที่พระราชทานซึ่งมีประการต่างๆ

พุทธบริษัท เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงควรตอบแทนด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม กล่าวคือ ตั้งใจบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการงดเว้นจากข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงพระอนุญาตทุกประการ

เมื่อบุคคลมาระลึกถึงหนี้บุญคุณแล้ว ได้เปลื้องหนี้ด้วยการประพฤติปฏิบัติชอบตอบแทนคุณโดยควรแก่ฐานะ และถูกต้องตามประเภทดังกล่าวมา จึงได้ชื่อว่า “กตัญญูกตเวที” โดยสมบูรณ์ ผู้เช่นนี้ย่อมเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไป เพราะรู้จักคุณความดีที่ผู้อื่นทำไว้แก่ตน แล้วตอบแทนตามสมควร และผู้เช่นนี้ย่อมมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไม่เสื่อมเลย พึงดูตัวอย่างสุวรรณสามโพธิสัตว์ยอดกตัญญู ตั้งใจเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้ตาบอด แม้ถูกกบิลยักษ์ยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษสลบไปแล้วแต่กลับฟื้นคืนชีพมาได้ และดวงตาของมารดาบิดาที่บอดไปกลับสว่างมองเห็นได้ดังเดิม ด้วยเดชแห่งความกตัญญูกตเวทีแท้ๆ อนึ่ง อุปติสสปริพาชก ได้ฟังคำสอนจากพระอัสสชิเถระเพียงนิดหน่อย ตั้งใจปฏิบัติตามก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้เป็นพระอริยบุคคลทางพระพุทธศาสนา ต่อมาได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงจนได้บรรลุถึงพระอรหัตตผล นับว่าเจริญถึงขั้นสูงสุด นี้ก็เป็นผลของกตัญญูกตเวทีเหมือนกัน และเมื่อท่านทราบว่าพระอัสสชิเถระผู้อาจารย์อยู่ทิศใดก็กราบไหว้แล้วนอนผันศีรษะไปทางทิศนั้นเสมอ ทั้งนี้ ก็เนื่องด้วยความกตัญญูกตเวทีนั่นเอง

กตัญญูกตเวทิตา ความเป็นผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้วและตอบแทน เป็นเครื่องหมายของคนดี คนในโลกนี้มี 2 จำพวกคือ สาธุชน คนดี 1 อสาธุชน คนไม่ดี 1 ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่วนคนที่ขาดคุณธรรมข้อนี้ก็แสดงว่าเป็นคนไม่ดี เป็นคนอกตัญญู ใครๆ ไม่ควรคบ โบราณท่านสอนกันมาว่า “แม้แผ่นดินจะไร้หญ้า ก็อย่าคบค้าคนอกตัญญู” มีพระพุทธภาษิตว่า “ถึงจะให้แผ่นดินทั้งหมด (คือ ยกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในแผ่นดินทั้งโลก) ก็ไม่อาจที่จะให้คนอกตัญญูยินดี มีความรู้สึกบุญคุณได้” ทั้งนี้ ก็เพราะคนอกตัญญูนั้นไม่รู้บุญคุณของใครๆ แม้จะให้ทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่ในแผ่นดินทั้งหมด เขาก็ยังไม่รู้จักบุญคุณ คอยแต่จะประทุษร้ายผู้มีบุญคุณแก่คนเสียอีก “ในคราวตกทุกข์ยากก็เข้าหา ครั้นสมปรารถนาแล้วเบือนหนี บางทีก็ทำลาย” เลี้ยงคนอกตัญญูก็เหมือนเลี้ยงอสรพิษ เหมือนชาวนาช่วยเหลืองูเห่าฉะนั้น เพราะเหตุนี้ ท่านจึงห้ามมิให้คบคนอกตัญญู ไม้ผุๆ ที่ลอยน้ำมา ท่านสอนว่าให้เก็บขึ้นไว้ทำประโยชน์ได้ ส่วนคนอกตัญญูปล่อยให้น้ำพัดพาไปเสียเถิด อย่าเก็บไว้เลย

กตัญญกตเวทิตาธรรมนี้ ในที่บางแห่งเรียกว่า “สัปปุริสภูมิ” คือ เป็นภูมิธรรมของสัตบุรุษ คือ คนดี อันคนดีนั้นจะประกอบกรณีใดๆ ย่อมอาศัยธรรมข้อนี้เป็นหลักเสมอ ท่านเปรียบไว้ว่า “พื้นแผ่นดินเป็นที่รองรับ เป็นที่อาศัยของสัตว์และพฤกษาลดาชาติ ฉันใด กตัญญูกตเวทิตาธรรม ก็เป็นพื้นฐานแห่งจิตของสัตบุรุษ ฉันนั้น”

โดยสรุปว่า “บุพการีและกตัญญูกตเวทิตา” บุคคลพวกนี้ชื่อว่า “บุคคลหาได้ยาก” เพราะบุคคลผู้ที่มีหน้าที่อุปการะก่อน แต่ก็ได้ทำอุปการะก่อนก็ดี แม้ไม่มีหน้าที่ทำอุปการะก่อน แต่ก็ได้ทำอุปการะก่อนก็ดีชื่อว่า “บุคคลหาได้ยาก” เพราะคนโดยมากมีน้ำใจตระหนี่ถี่เหนียว คิดแต่จะได้ฝ่ายเดียว ไม่ยอมเสียสละ ไม่คิดทำอุปการะแก่ผู้อื่น ส่วน “บุคคลผู้ได้รับการอุปการะ” จากผู้อื่นจนได้มีความสุขความสบายแล้ว มีความสำนึกถึงบุญคุณของท่านผู้ให้อุปการะแล้วตอบแทน ให้สมควรแก่กันนั้นหาได้ยาก เพราะ “คนโดยมากมักลืมตัว” บางคนก็เพียงแต่นึกถึงบุญคุณได้แต่ไม่ยอมตอบแทน เหมือนคนกู้หนี้ทั้งๆ ที่รู้ดีอยู่ว่าเป็นลูกหนี้เขาอยู่ แต่ก็ไม่ยอมใช้หนี้ คอยหลบหน้าเจ้าหนี้อยู่เสมอ

คนที่ตั้งใจชำระหนี้บุญคุณจึงหาได้ยากจึงเป็นอันว่า บุพการีและกตัญญูกตเวทิตาบุคคล ทั้งสองพวกนี้จะได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อกันให้สมบูรณ์ควบคู่กันไปนั้น ซึ่งมีความโลภ ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ไม่อยากแผ่เผื่อเจือจานแก่ผู้อื่น ฉะนั้น การสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยความเมตตากรุณาก็ดี การรู้จักคุณแล้วตอบแทนด้วยความหวังบูชาคุณก็ดีจึงเป็นการยาก ดังนี้แล ไงเล่าครับ

หรืออาจกล่าวได้ว่า “บุคคลที่หาได้ยาก” แต่ถ้าทำได้ หรือปฏิบัติได้ ก็จะเป็น “คนดี” ตามพุทธภาษิตที่ว่า

“นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺกตฺเวทิตา” หมายความว่า “ความกตัญญูกตเวทิตา เป็นเครื่องหมายแห่งคนดี”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image