พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน(1) โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

รัฐสภากำหนดเปิดประชุมสมัยสามัญประจำปี 2564 วันที่ 22 พฤษภาคมนี้ นอกจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ค้างมาตั้งแต่การประชุมสมัยวิสามัญต่อให้จบแล้ว ญัตติร้อนที่จ่อรอคิวต่อทันที คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันข้ามในสาระสำคัญ

ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ยืนยันหลักการปิดสวิตช์ ส.ว.ยกเลิกมาตรา 272 เลิกอำนาจวุฒิสมาชิกโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่พลังประชารัฐพรรคแกนนำ ไม่กล้าแตะต้อง อ้างว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ส.ว.คงไม่เอาด้วย ทำให้มีเสียงสนับสนุบไม่ถึง 84 เสียง

ผลการลงคะแนนจะออกมาในรูปไหน อีกไม่กี่วันคงได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว. ซึ่งความเห็นแตกเป็นสองขั้วเช่นกัน ส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับการยอมตัดทิ้งอำนาจของตัวเอง

ร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จะทำให้บรรยากาศในสภาและนอกสภาร้อนฉ่าขึ้นมาได้ กำลังถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมรัฐสภาในลำดับต่อไป คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ที่จะออกมาใช้แทนฉบับเดิม พ.ศ.2542

Advertisement

ร่างกฎหมายฉบับนี้มีที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ทำให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งภายใน 2 ปี เดือนพฤษภาคม 2562

นับจากนั้นมาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ต่อมาถูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ หลายชั้น หลายขั้นตอน กระทั่งล่าสุดผ่านที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อไม่นานนี้

รวมเวลาการทำคลอด ช่วง กอปศ.ใช้เวลายกร่าง 2 ปี รัฐบาลพิจารณา 2 ปี รวม 4 ปี รัฐสภาจะใช้เวลาอีกกี่ปี จะเกิดเหตุการณ์อะไรทำให้เวลายืดยาวออกไปเท่าไร ยังไม่มีใครคาดหมายได้ว่าจะจบออกมาใช้บังคับเมื่อไหร่

ที่น่าสนใจไม่ได้มีเฉพาะร่างของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคนักการศึกษาและเครือข่ายติดตามปัญหาการศึกษา ในนามของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.) ได้ยกร่างขึ้นอีกฉบับหนึ่ง เป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาภาคประชาชนคู่ขนานกันไป

ฉบับของภาคประชาชน หากมีวาสนาได้รับเกียรติเข้าไปประสบพบเจอกับฉบับของรัฐบาลในรัฐสภา จะเกิดปรากฏการณ์ ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่ถูกตีตกไปหรือไม่ อีกไม่นานคงได้เห็นกัน

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ มีจุดเด่น จุดด้อย จุดเหมือน จุดต่างกัน หลายเรื่องทีเดียว นักการศึกษาเห็นพ้องและเห็นต่างกันหลากหลาย น่าสนใจติดตามอย่างยิ่งว่าสุดท้ายแล้วในเรื่องนั้นๆ ผลการพิจารณาของรัฐสภาจะออกมาอย่างไร

เรื่องหนึ่งที่ผมขอยกมาเป็นตัวอย่าง ว่าด้วยการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมทางการศึกษา ไปสู่ภาคประชาสังคม

ฉบับของรัฐบาล บัญญัติให้คณะบุคคลอาจตั้งเป็นสมัชชา สภา กลุ่ม หรือหมู่คณะ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ เสนอแนะ อุดหนุนให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงได้

ฉบับของภาคประชาชน บัญญัติให้มีสภาการศึกษาจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ 11 ข้อ

เทียบเคียงสองฉบับเฉพาะประเด็นนี้ ฉบับของรัฐบาลเปิดช่องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมทางการศึกษารวมตัวกันภายใต้หลักการความสมัครใจ ไม่บังคับว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร ขณะที่ฉบับภาคประชาชนเป็นไปภายใต้หลักการมีสภาพบังคับ ต้องมีสภาการศึกษาจังหวัดทุกจังหวัด

ข้อแตกต่างระหว่างหลักการภาคสมัครใจกับภาคบังคับ ควรมีข้อยุติอย่างไร หลักการใดเกิดประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาส และการพัฒนาคุณภาพได้ดี มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า จึงเป็นประเด็นที่ผู้มีอำนาจหน้าที่บัญญัติกฎหมายสำคัญนี้ พึงหาข้อมูล ข่าวสาร รับฟังความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง นำมาพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ผู้เรียนต้องได้รับเป็นอันดับแรกเป็นสำคัญ

อีกประเด็นหนึ่งในฉบับภาคประชาชน ได้แก่ ให้ผู้บริหารระดับสูง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สถานศึกษา กรรมการ อนุกรรมการฯ แสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน

ให้มีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตและพัฒนาครูในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีกองทุนพัฒนาครู มีโรงเรียนสำหรับการผลิตครูและสถาบันพัฒนาคณาจารย์

ข้อเสนอใหม่ๆ ในกฎหมายฉบับภาคประชาชน ล้วนเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งในการหาข้อยุติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องออกมาแสดงจุดยืนความคิดในทุกโอกาสที่ทำได้ ไม่ปล่อยให้สมาชิกรัฐสภาเพียง 750 คนเท่านั้น เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตาย กำหนดชะตากรรมระบบการศึกษากับอนาคตของเด็กและเยาวชน ซึ่งพวกเขาต้องมีชีวิตอยู่กับโลกยุคใหม่ต่อไปอีกนาน

ครับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาทั้งสองฉบับ ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าเสวนาแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันอีกหลายจุด โดยเฉพาะประเด็นการจัดการโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ สัปดาห์หน้าค่อยว่ากัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image