ที่เห็นและเป็นไป : แล้วจะอยู่ยังไง

ที่เห็นและเป็นไป : แล้วจะอยู่ยังไง

ที่เห็นและเป็นไป : แล้วจะอยู่ยังไง

มีถ้อยความหนึ่งที่ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ “คนด่าทั้งประเทศ นายกฯไม่ได้ยิน แต่คนเดียวนินทากลับได้ยิน”

ความหมายก็คือ เสียงด่าโดยเปิดเผย เปิดหน้าเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีกลับไม่ให้ความสนใจ

แต่ที่ทำคือสั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีร่วมทุกคน ตรวจสอบความคิด ความเห็นในสื่อออนไลน์ เช่น เฟชบุ๊ก แล้วมารายงาน

Advertisement

เรื่องการถูกนินทา นายกรัฐมนตรีเอาเป็นเอาตายถึงขนาดขู่ว่าจะยึดโควต้ารัฐมนตรีของคนนินทามาเป็นโควต้าของตัวเอง

เหมือนกับว่า “พล.อ.ประยุทธ์” รับมือกับคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เครือข่ายว่านเครือที่แสดงความไม่พอใจได้ แต่สำหรับคนที่ใกล้ชิดและทำงานด้วยกันจะต้องมีแต่คนที่ “ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน ตามนั้นครับนาย” เท่านั้น

หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่พอทำความเข้าใจได้ว่า “ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเชื่อมั่นในความดี ความเก่งของตัวเองมาตลอด”

Advertisement

ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะเกิดจาก “คนรอบตัว” รู้จัก พล.อ.ประยุทธ์ดีว่า “เป็นผู้ที่พอใจในเรื่องดีๆ ของตัวเองเท่านั้น รับไม่ได้กับการถูกมองในทางไม่ดี” พวก “คนรู้ใจ” เหล่านี้ถึงร่ายคำป้อยอให้ฟังตลอด ไม่มีใครกล้าจะเอ่ยเตือนถึงความผิดพลาด เพราะต่างรู้ว่ามีโอกาสจะซวยเอา

เมื่อคนแวดล้อมเห็นแค่ความดี ยกย่องเชิดชู ในความเก่งกล้าสามารถตลอด ความเชื่อที่ว่าตัวเองเป็นคนดีคนเก่งที่ถูกกรอกหูอยู่ทุกวี่วัน จึงเป็นเกราะปกป้องให้มั่นใจว่าเสียงตำหนิติเตียน ก่นด่านั้นเป็นความเพ้อเจ้อของพวกอคติ

ตัวเองไม่เป็นเช่นนั้น ยังเป็นผู้นำที่เก่ง กล้า สามารถอยู่ตลอด ใน “ความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งถูกครอบงำจากคำยกยอปอปั้นของคนใกล้ชิดนั้น”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อผลงานในการบริหารจัดการที่สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ ล้มเหลว จนดูจะสร้างความเสียหายมากมายต่อประเทศชาติ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างสาหัส ชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคสมัยใด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีทางยอมรับได้เลยว่าเป็นความอ่อนด้อยในความสามารถของตัวเอง คำยกยอปอปั้นให้เชื่อว่าตัวเองเก่ง ตัวเองดีที่คนรอบตัวพ่นเข้าหูอยู่ตลอดย่อมปกป้องไม่ให้จิตใจได้สัมผัสถึงความจริงที่เป็นคนละเรื่องกับคำของคนใกล้ชิด

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลายล้วนถูกตีค่าเป็นอคติ และจ้องทำลาย

ยิ่งเหล่าสมุน บริวารออกหน้ารับแทน ด้วยการหาเหตุผลมาถล่มคนที่วิพากษ์วิจารณ์ และช่วยชี้ให้คนทั่วไปเชื่อความเก่ง ความดี ความเสียสละ ไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นเข้าไปใหญ่ว่าการชี้ให้เห็นความล้มเหลว ผิดพลาดนั้น เป็นการเล่นการเมืองอย่างมีอคติ

เป็นเท็จ ความจริงก็คือ “ตัวเองเก่ง ตัวเองดีเสมอ”

แต่เมื่อความจริงก็คือความจริง “ล้มเหลว ผิดพลาด” ชัดเจนว่าส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อ

จะปฏิเสธความเป็นจริงก็ไม่ได้ และพลิกความเชื่อไปเป็นอย่างอื่นยิ่งไม่ได้

จิตจึงน่าจะหาทางออกด้วยการปรุงแต่งด้วยการโทษบางสิ่งบางอย่าง

ที่ชัดคือ “ปรุงให้เชื่อว่าอำนาจที่มีอยู่ยังไม่พอ แม้จะเก่ง จะดี จะเสียสละแค่ไหน หากไม่มีอำนาจพอก็ทำงานให้สำเร็จได้ยาก”

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงต้องหาอำนาจมาเสริมให้ตัวเองไม่หยุดหย่อน

จากการที่เป็น “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดอยู่แล้ว มาเป็นประธาน “คณะกรรมการ-คณะทำงาน” ที่คิดว่าจะทำให้มีอำนาจเต็มทุกชุด จนเลยถึงให้คณะรัฐมนตรีมีมติยก “อำนาจตาม พ.ร.บ.ต่างๆ กว่า 30 ฉบับ” มาให้สั่งการ

จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอาแต่โหยหาอำนาจ ทั้งที่เรื่องที่ควรจัดการให้มีให้เกิดขึ้น คือ “ความสามารถในการบริหารจัดการ”

นี่เป็นความน่าเห็นใจอย่างยิ่ง

คนคนหนึ่งเมื่อพลังผลักดันในยืนอยู่ในหน้าที่คือ “ความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับนับถือ”

แต่พลังนั้น กลับแค่ถูกสร้างขึ้นจาก “เสียงยกยอปอปั้น” ของคนรอบข้างเพื่อเอาใจ

ในวันที่เสียงสรรเสริญชี้ให้เห็น ไปคนละทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จากความคิดว่าตัวเองมีความสามารถ เก่ง ดี และเสียสละ

“เสียงนินทาของคนใกล้ชิด” ย่อมเป็นเหมือนไฟที่ยากจะทนรับรู้

ด้วยหมายถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เคยปกป้องตัวเองว่าเป็นแค่ “เสียงของความอคติ” ได้รุกเข้ามาเป็นเสียงของคนใกล้ชิดที่ทำลายความเชื่อมั่นในเรื่อง “เก่ง ดี” อย่างรุนแรง

ท่ามกลางเสียงไม่ยอมรับ ที่นับวันยิ่งกระหึ่มด้วยคำที่ทวีความรุนแรงมากขี้นเรื่อยๆ

น่าเห็นใจอย่างยิ่งคนที่ประคับประคองความรู้สึกตัวเองให้ยืนอยู่ได้ ด้วยคำของคนใกล้ชิด

ถึงวันที่ “คนใกล้ชิดเอากับเขาด้วย” แล้วจะอยู่ด้วยอะไร

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image