วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสกัดจีน The Strategic Competition Act 2021 ร่ายยาวราวหนังสือประกาศสงครามกับจีน

วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสกัดจีน The Strategic Competition Act 2021 ร่ายยาวราวหนังสือประกาศสงครามกับจีน

วุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสกัดจีน
The Strategic Competition Act 2021
ร่ายยาวราวหนังสือประกาศสงครามกับจีน

การที่คณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐได้ผ่านร่างกฎหมายยุทธศาสตร์การแข่งขัน 2021 (The Strategic Competition Act 2021) เมื่อปลายเดือนเมษายนนั้น เนื่องจากหัวหอกได้มุ่งไปยังประเทศจีน จึงเรียกกันว่า “กฎหมายแข่งขันกับจีน”

ชัดเจนยิ่งว่า พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันได้ร่วมกันต่อต้านจีนอย่างเต็มที่

หลายปีที่ผ่านมา สภาครองเกรสสหรัฐได้ผ่านกฎหมายต่อต้านจีนนั้น แม้มีมากนานัปการ แต่รวมกันทั้งหมดยังไม่เท่ากับครั้งนี้ ฉะนั้น กฎหมายการต่อต้านจีนครั้งนี้จึงยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ขนาดเรียกกันว่า “หนังสือประกาศทำสงคราม” หากให้น้ำหนักไปที่ Soft Power ล้วนๆ

Advertisement

เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ น่าเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐจะต้องลดระดับโดยพลัน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคม

การลงมติผ่านร่างกฎหมาย “แข่งขันกับจีน” ของคณะกรรมาธิการ คือเห็นด้วย 21 ต่อ 1

ดังนั้น จึงคาดว่าการที่จะผ่านเป็นกฎหมายในวุฒิสภา มิใช่เป็นเรื่องน่าห่วง

Advertisement

ทว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายปีที่ผ่านมา สองพรรคการเมืองใหญ่สอนศิลป์ไม่กินกัน เตะขัดขาในหลากหลายประเด็น แต่ประเด็นที่เกี่ยวกับจีนกลับมีความเห็นพ้องต้องกันในการใช้มาตรการแข็งกร้าว และได้รับฉันทามติจากทั้งสองพรรคอย่างท่วมท้น

จึงไม่แปลกที่ James Risch วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า นโยบายต่างประเทศของสหรัฐวันนี้และตลอดศตวรรษที่ 21 ปัญหาที่เผชิญ “จะเป็นประเทศจีน ประเทศจีน และประเทศจีน” (is going to be China, China and China)

ร่างกฎหมายมีความยาว 280 หน้า เป้าหมายหลักมุ่งตรงประเทศจีน เป็นต้นว่า พฤติกรรมราวปล้นสะดมทางเศรษฐกิจ มุ่งร้ายโจมตีประเทศอื่น เผด็จการดิจิทัล ขยายกองกำลังทหาร ความทะเยอทะยานในการรวมไต้หวัน กดขี่หิงสาพยาบาทต่อฮ่องกงและซินเจียง ฯลฯ

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ระบุมาตรการตอบโต้จีน สรุปพอเป็นสังเขปได้ว่า

ตั้งแต่ปี 2022-2027 สหรัฐจัดงบประมาณการคลังรายปีเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้

1 ตั้งงบ 15 ล้านดอลลาร์ต่อปีสนับสนุนให้ธุรกิจสหรัฐถอนตัวออกจากประเทศจีน
1 สลายห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจ
1 ตั้งงบ 75 ล้านดอลลาร์ต่อปีสนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทั้งนี้ เพื่อตอบโต้นโยบาย “1 แถบ 1 เส้นทาง” ของประเทศจีน

ร่างกฎหมายได้ให้ความสำคัญในด้าน Soft Power เช่น มติมหาชนและสิทธิการพูด

และเพื่อเป็นการท้าทายกับจีน ได้จัดงบประมาณปีละ 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อต้านตอบโต้ประเทศจีน โดยกล่าวหาจีนมีเจตนามุ่งร้ายโจมตีประเทศอื่นทั่วโลก ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2022-2026 และในเวลาเดียวกัน ก็ได้จัดงบปีละ 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนสื่ออเมริกาในต่างประเทศ สำหรับสร้างเครือข่ายสื่อสารที่เป็นเอกเทศ เพื่อตอบโต้ข่าวสารอันเป็นเท็จ

นอกจากนี้ ปี 2022 ได้ตั้งงบประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกง และมีนโยบายที่จะขยายขอบเขตไปยังซินเจียงด้วย

ในวันที่มีการแปรญัตติของร่างกฎหมาย ยังได้มีการเพิ่มเติมอีกนับ 10 ประเด็นที่ต้องมีการแก้ไข 1 ในนั้นคือ กดดันข้าราชการที่มิใช่นักกีฬาให้ทำการ “คว่ำบาตรทางการทูต” กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ร่างกฎหมายนั้น บางประเด็นข้อความยังเฝือ บางประเด็นซ้ำซาก ข้อมูลใหม่มีไม่มาก มาตรการของคณะกรรมาธิการนั้น พูดได้แต่ทำไม่ได้ เพราะขาดทุนทรัพย์ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในด้านการแข่งขันสหรัฐยังเป็นรองจีนหลายขุม

ประเด็นคือการที่สหรัฐจะใช้ทุนทรัพย์จำนวน 15 ล้านดอลลาร์ต่อปีสนับสนุนธุรกิจสหรัฐให้ย้ายฐานออกจากจีนนั้น เป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดี เพราะผลกำไรทางธุรกิจสหรัฐในประเทศจีนเพียง 1 วัน ก็เกินกว่า 15 ล้านดอลลาร์ ส่วนงบประมาณ 75 ล้านดอลลาร์สร้างสาธารณูปโภคในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

แม้ “มิตต์ รอมนีย์” 1 ในวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนให้ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ยังกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีผู้ใดยอมรับว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศจีนมิให้ก้าวสู่หนทางอันเป็นเจ้าโลก”

ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการฉบับดังกล่าว เป็นการเขียนเสือให้วัวกลัว และเป็นการแสดงให้โลกเห็นในเชิงสัญลักษณ์ แต่เนื้อแท้คือสงครามแห่งความคิด

อย่างไรก็ตาม ลำพังประเด็นไต้หวันในร่างกฎหมายก็เป็นพฤติกรรมที่เหยียบ “เส้นแดง” ของจีนอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ หมายความรวมถึงการขายอาวุธให้แก่ไต้หวันเป็นประจำ อีกทั้งกำชับให้ทำเนียบรัฐบาลและองค์กรรัฐบาลต่างๆ ควรต้องใช้มาตรฐานเดียวกับที่ปฏิบัติต่อรัฐบาลประเทศอื่นไปปฏิบัติต่อรัฐบาลไต้หวันซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และต้องใช้ภาษาการทูตและพิธีทางการทูตเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อประเทศอื่น ไม่ห้ามการติดต่อโดยตรงกับไต้หวัน

ทั้งนี้ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ปัญหาไต้หวันเป็นประเด็นที่ระคายเคืองต่อจีน ร่างกฎหมายที่ระบุให้สหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นประจำนั้นเป็นการขัดต่อแถลงการณ์ร่วมในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีนกับสหรัฐ โดยประการที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนที่แบ่งแยกมิได้ ไม่มีอธิปไตย จึงไม่มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญา การซื้อขายอาวุธ จึงเป็นการอันมิชอบ

แม้อำนาจด้านต่างประเทศของสหรัฐอยู่ในมือประธานาธิบดีก็ตาม แต่จะเดินสวนทางกับกฎหมายต่างประเทศที่ผ่านสภามิได้ นี่คือ สัจธรรมของการเมืองอเมริกา และก็เป็นสภาพบ้านเมือง (National Condition) ของอเมริกาอีกด้วย

และแม้ Max Baucua อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศจีนได้ กล่าวว่า “ท่ามกลางภาวะที่ทั้งสองประเทศขาดความเชื่อถือซึ่งกัน จึงขอให้จีน ‘เคารพสภาพบ้านเมืองสหรัฐ’ ด้วย”

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นพ้องกับท่านทูต เพราะว่า “แถลงการณ์” กับ “สภาพบ้านเมือง” นั้นประเด็นต่างกัน ไม่ว่าสภาพบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ก็ต้องเคารพ “แถลงการณ์” เพราะแถลงการณ์คือข้อสัญญาที่ละเมิดมิได้

ฯพณฯคงจะหลงประเด็น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image