พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (2)

พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (2)

พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน (2)

สถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นตามลำดับ คู่ขนานไปกับวิกฤตโควิด-19 รอบสามยังพุ่งทะยานต่อไป
กลุ่มพลังการเมืองนอกสภาจับมือกับพรรคฝ่ายค้านยกระดับขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระลอกใหม่ ขณะที่พันธมิตรกลุ่มราษฎรยังเดินหน้ากิจกรรม ยืน หยุด ขัง กระจายออกไปหลายจังหวัดเรียกร้องให้อนุญาตประกันตัวแกนนำกลุ่มราษฎรออกจากที่คุมขัง

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่กำลังดำเนินไปนี้ การศึกษาของชาติ อนาคตของเด็กและเยาวชน ยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องตระหนัก ติดตาม ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน

เหตุนี้จึงต้องว่ากันต่อเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ทั้งฉบับของรัฐบาลและของภาคประชาชน รอรับการประชุมรัฐสภาวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ หากไม่เลื่อนออกไปอีกหรือเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นเสียก่อน

Advertisement

โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผมทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำบทสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับรัฐบาล ว่า เน้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานศึกษาและครู เป็นเป้าหมายอันดับต้นของการยกร่างกฎหมายครั้งใหม่นี้

การให้ความอิสระคล่องตัวและสร้างความเข้มแข็งแก่สถานศึกษา กับการปรับระบบการผลิต การใช้และการพัฒนาครูทุกประเภท ทุกระดับ เป็นจุดคานงัดสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ไม่อาจรีรอ เรื่องมาก ต่อไปอีกได้แล้ว

Advertisement

ประเด็นเรื่องครูปรากฏชัดเจนในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับของภาคประชาชน (มาตรา 82) ขณะที่ฉบับของรัฐบาล ไม่ได้กำหนดชัดไว้ตรงมาตราใด

เลยเป็นเหตุให้คณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อีกกลุ่ม คือ ชุดของสมาชิกวุฒิสภาด้านการศึกษากับนักการศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ทวงถาม โดยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 จ (3) เขียนไว้ชัด ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน

รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

นอกจากนี้ยังถามต่อไปอีก ถึง (4) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัดและปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่

คณะทำงาน ส.ว.ด้านการศึกษา เสนอให้บัญญัติเรื่องกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ กับ โครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการไว้ให้ชัด ว่าจะต้องทำอย่างไรในกฎหมายใหม่

ประเด็นว่าด้วยกลไกการผลิต คัดกรอง และพัฒนาครู กับการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับนั้น ผมเห็นด้วยพันเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นว่าด้วยโครงสร้าง ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไรนัก เพราะจะทำให้งานหลักเสีย

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับของรัฐบาล เขียนเรื่องนี้ไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 106 ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.นี้ โดยจะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเป็นไปอย่างมีเอกภาพ และสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุเป้าหมายตาม พ.ร.บ.นี้

ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ
ตรงบทเฉพาะกาลที่ยกมาให้อ่านกันนี่แหละครับ น่ากังวลว่า หลังกฎหมายนี้ออกมาใช้ได้จริงๆ กระทรวงศึกษาธิการจะกลับมาสาละวนกับเรื่องโครงสร้าง จะปรับยุบ โยกย้ายแท่งบริหารกันอีกครั้งใหญ่ ให้จบภายในสองปี ตามหลักการ Single Command

ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชน มาตรา 57 เสนอให้มีคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา นั่นเท่ากับ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 3 เมษายน 2560 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

มาตรานี้ของฉบับภาคประชาชนจะมีผลให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศที่ถูกหัวหน้า คสช.ยุบทิ้งไปจะกลับฟื้นคืนขึ้นมาใหม่

เรื่องโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ ประเด็นเดียวนี้ จะถกเถียงกันจนหาจุดลงตัวได้ยากแล้ว

จึงน่าหวั่นวิตกว่า จะทำให้ภารกิจการปฏิรูปหลักว่าด้วยเรื่องครูและกระบวนการเรียนการสอน เกิดความล่าช้าและเสียหายอย่างบทเรียนที่ผ่านมา

โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image