ภาพเก่าเล่าตำนาน : มหาราชธานี..กรุงเนปยีดอ ชื่อ‘เมืองหลวง’ของประเทศเมียนมา…ที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นหู…. โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

รํ่าเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ช่วงประถม มัธยม ท่องจำได้แม่นยำว่า… เมืองหลวงของพม่า คือ ย่างกุ้ง ( Yangon )

ชื่อนี้จำได้ไม่ยาก ใช้ได้กับภาษาไทยตรงๆ ว่า “จับกุ้งมาย่าง”

ย่างกุ้ง…เป็นชุมชนเก่าแก่กว่า 2 พันปี.. ผู้คนมาตั้งรกราก ส่วนใหญ่ทำประมง คนพื้นเมือง ออกเสียงว่า ยานโกน …

พอมีหลักฐานบอกได้ว่า…ราว 1 พันปีที่แล้ว “ชาวมอญ” คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่รุ่งเรือง สูงส่งด้วยอารยธรรม รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ทางตอนใต้ ตามขอบชายฝั่งทะเลของแผ่นดินเมียนมา (ซึ่งตอนนั่นยังไม่มีประเทศ)

Advertisement

ชาวมอญที่มีอิทธิพลก่อตั้งเมือง “ดากอง” เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ซึ่งมีศูนย์รวมใจ คือ เจดีย์ชเวดากอง

ชาวมอญ เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ชอบทำบุญ รักสงบ ชอบสร้างสถานที่สำคัญทางศาสนา ในเวลานั้นมีเจดีย์ชเวดากองแล้ว (เจดีย์ดั้งเดิมอายุราว 2 พันปี) อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธ เป็นหมุดหมายสำคัญของอาณาจักรชาวมอญ และชาวพุทธในอาณาจักรใกล้เคียง

ยุคต่อมา…มีการก่อสร้างราชสำนัก ไม่ไกลจากเจดีย์ชเวดากอง จึงทำให้บริเวณดังกล่าวคึกคัก ผู้คนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มขึ้น พื้นที่เขียวขจีอุดมสมบูรณ์ด้วย ข้าว ปลา อาหาร น้ำ เดินทางไปมาหาสู่กันง่าย…

Advertisement

ในปี พ.ศ.2298 กษัตริย์ อลองพญา ผู้ก่อตั้ง ราชวงศ์คองบอง (Kongbaung Dynasty) เข้ายึดเมืองดากอง อพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน และเรียกเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้นว่า “ย่างกุ้ง”

ราว พ.ศ.2333 บริษัท อินเดียตะวันออกของอังกฤษ ได้มาเปิดโรงงาน กิจการในย่างกุ้ง ประชากรโดยประมาณของย่างกุ้งใน ปี พ.ศ.2366 มีคนประมาณ 30,000 คน

ปี พ.ศ.2384 เมืองนี้ถูกทำลายโดยอัคคีภัย วอดวายเกือบหมด…

พ.ศ.2396 อังกฤษมีชัยเหนือพม่าครั้งแรก…อังกฤษย้ายเมืองเอก…จากเมืองมะละแหม่ง (ปัจจุบัน คือเมาะลำไย) มาย่างกุ้ง

อังกฤษทำสงครามยึดแผ่นดินพม่า 3 ครั้ง ค่อยๆ รุกคืบทีละขั้น

พ.ศ.2396 อังกฤษนำกำลังเข้ายึดครองย่างกุ้งและพื้นที่ใกล้เคียง ….บริษัทของอังกฤษ เข้ามาลงทุน…พัฒนา ย่างกุ้งกลายเป็นศูนย์กลางการค้า การศึกษา การเมือง การปกครอง…

เมื่ออังกฤษปกครองพม่า…จัดการออกแบบผังเมืองให้ใหม่ โดยสถาปนิกของกองทัพบก ร้อยโทอเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ ชาวอังกฤษ ได้ออกแบบเมืองกรอบในแนวคิดแบบเมืองในโลกตะวันตก

ย่างกุ้ง กลายเป็นเมืองหลวงของพม่าที่ปกครองโดยอังกฤษ

ย่างกุ้งมีอาคาร “ยุคอาณานิคม” มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีรูปแบบเมืองยุคอาณานิคมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

เมืองย่างกุ้ง เติบใหญ่ กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่เจริญรุ่งเรือง ที่มีเสน่ห์ที่สุด คือ มีทะเลสาบ กันดอจี (Kandawgyi) และทะเลสาบอินยา (Inya Lake) อยู่ในเมือง สร้างความชุ่มชื่น อ่อนหวาน

อังกฤษยังได้จัดตั้งโรงพยาบาลย่างกุ้ง (Rangoon General Hospital) และมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (Rangoon University) ที่ยังคงเป็นมรดกมาถึงในปัจจุบัน

ย่างกุ้ง ในยุคอาณานิคมมีสวนสาธารณะ เกิดอาคารสมัยใหม่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิมได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองสวนแห่งตะวันออก”

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ย่างกุ้ง มีบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยหน้าใครในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2484) ย่างกุ้ง มีประชากรราว 5 แสนคน …. 55% ของประชากรย่างกุ้ง เป็นชาวอินเดียหรือเอเชียใต้ ที่อังกฤษนำเข้ามาเป็นแรงงาน

เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นชาวพม่า (Bamah)

ย่างกุ้ง ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาเยอะ..เป็นสนามต่อสู้ในทางการเมืองในทุกการเปลี่ยนแปลง….

พ.ศ.2491 หลังจากที่พม่าได้รับเอกราช รัฐบาลทหารพม่าที่ชาตินิยมสุดสุด เปลี่ยนชื่อ “ถนนและสวนสาธารณะ” หลายแห่งที่อังกฤษตั้งชื่อไว้

อะไรๆ ที่เป็นมรดกของอังกฤษ… ถูกเปลี่ยน ลบล้าง…

ในปี พ.ศ.2532 รัฐบาลทหารพม่าได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้กลับเป็น Yangon (ซึ่งอังกฤษมาเรียกว่า Rangoon)

ในช่วงการปกครองแบบ “ปิดประเทศ” โดยนายพลเนวิน (พ.ศ.2505-2531) พม่าขออยู่แบบโดดเดี่ยว ใช้ระบบสังคมนิยม พลเมืองยากจน โครงสร้างพื้นฐานของเมืองย่างกุ้งเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากไม่ได้รับการบำรุงรักษา

เกิดสงครามกลางเมือง รบกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และคอมมิวนิสต์

นายพลเนวิน สั่งอพยพชาวพม่า (บะมาห์) เข้ามา…ย่างกุ้งกลายเป็นเมืองของชาวพม่า ขับไล่แขกอินเดียและพวกต่างศาสนา รวมทั้งชาวจีน

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 รัฐบาลทหารมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งก็ช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานของเมืองมีความทันสมัยขึ้นตามสมควร

ผู้อยู่อาศัยใน “เมืองชั้นใน” …ถูกขับไล่ให้ไปอยู่นอกเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ อาคารหลายแห่งในยุคอาณานิคมถูกทำลายเพื่อเปิดทางให้กับโรงแรมสูงระฟ้า อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า

(มีนักธุรกิจจากไทย ไปลงทุนสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาว หลายแห่ง)

พ.ศ.2539 สภาเมืองย่างกุ้ง มองเห็นการรื้อทำลายอย่างมโหฬาร จึงทำรายงานขออนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างยุคอาณานิคมที่โดดเด่นกว่า 200 รายการ คุ้มครองให้เป็นมรดกเมืองย่างกุ้ง

ในช่วงนั้น…พื้นที่ย่างกุ้งส่วนใหญ่ยังคงไม่มีบริการขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้าไม่พอใช้ตลอด 24 ชั่วโมง น้ำประปา รวมทั้งการเก็บขยะ

ไฟฟ้า คือ ปัจจัยที่ทุกฝ่ายโหยหา… ลิฟต์ในโรงแรมจะค้างเสมอเวลาไฟดับ เครื่องปรับอากาศดับ แทบทุกกิจการต้องมีเครื่องปั่นไฟของตัวเอง…

ศรัทธาสูงสุด บริเวณที่ผู้คนคึกคักที่สุด คือ มหาเจดีย์ชเวดากอง ที่โดดเด่นจากทุกมุมมอง ชาวพุทธแน่นขนัด ไปกราบไหว้ นั่งสมาธิ บ้างก็มีจิตสาธารณะ กวาด ทำความสะอาดลานรอบเจดีย์

ทุกคนต้องถอดรองเท้า…ไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหน…

ตู้รับบริจาคเงินตั้งอยู่รอบเจดีย์ …เอ่อล้น เต็มไปด้วยธนบัตรทุกตู้…

ราว พ.ศ.2538 ติดตั้งบันใดเลื่อนไฟฟ้าขึ้นไปนมัสการเจดีย์ ต้องเดินเท้าเปล่าบนบันไดไฟฟ้า มันหวาดเสียวพิลึก…ใส่ถุงเท้าก็ไม่ได้…

ย่างกุ้ง ประสบปัญหาเช่นเดียวกับมหานครใหญ่ของโลก เริ่มคับแคบ พลุกพล่าน มีข้อจำกัดเรื่องสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า การจราจร สถานศึกษา ที่พักอาศัย โรงแรม โรงพยาบาล เบียดเสียดเยียดยัดกัน

การขยายระบบประปา ไฟฟ้า การระบายน้ำ ขยายถนน จัดระเบียบชุมชน เป็นเรื่องมโหฬารงานก่อสร้าง แทบจะต้องรื้อเมือง แล้วสร้างใหม่

ที่แออัดที่สุด คือ สถานที่ทำการของรัฐ ค่ายทหาร ตำรวจ

ราว พ.ศ.2545 พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุด ตัดสินใจที่จะย้ายเมืองหลวงออกไปจากนครย่างกุ้ง ด้วยเหตุผลเพื่อความสะดวกในการบริหารงาน คุณภาพชีวิต…

(มีเสียงนินทาว่า ท่านผู้นำไม่ชอบย่างกุ้ง เพราะเป็นมรดกของอังกฤษ)

รัฐบาลมองพื้นที่สำหรับเมืองหลวงใหม่ไว้แล้ว…

พื้นที่ขนาดมหึมาในแผ่นดินพม่า เขียวขจี ที่พิจารณาแล้ว ลงตัว สวยงาม เป็นสง่าราศีที่สุด คือ การรวม 3 เมืองย่อยๆ ทางตอนกลางของประเทศ… จะสถาปนาเป็น กรุงเนปยีดอ

เนปยีดอ (Naypyidaw บางครั้งสะกดเป็น Nay Pyi Taw) มีความหมายว่า “มหาราชธานี” หรือ “ที่อยู่ของกษัตริย์”

มหานครแห่งนี้ ถูกออกแบบให้เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการบริหารของประเทศพม่า ห่างจากย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าขึ้นไปทางเหนือราว 320 กิโลเมตร

เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลทหารพม่าจะเริ่มสร้างเมืองหลวงใหม่

ผู้เขียนจำได้ดีว่า ข่าวในสื่อของไทยบางสำนัก โจมตีว่า… เงินทั้งหลายที่จะนำมาใช้ก่อสร้าง เป็นเงินที่มาจากการค้ายาเสพติด มีการประโคมข่าวในทางลบติดต่อกันยาวนาน

เน้นการโจมตีผู้นำทางทหารของพม่าว่า “งมงาย” ในไสยศาสตร์

เกิดความขัดแย้งบริเวณชายแดนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน ทางบก รวมทั้งบริเวณที่แม่น้ำเมยไหลผ่าน

ชาวประมงไทย ถูกจับไปขังคุกอินเส่ง ในย่างกุ้งราว 600 คน เกือบทั้งหมด คือ บุกรุกทะเลอาณาเขตพม่า เข้าไปจับกุ้งยักษ์ที่ทำเงินมหาศาล

ที่โกรธกันสุดเหวี่ยง คือ เรื่องที่เอกชนของไทยนำดินไปถมในแม่น้ำเมย เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับฝ่ายไทย ณ บริเวณที่กำลังก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา อ.แม่สอด

สะพานแห่งแรกที่จะเป็น “สายใยมิตรภาพ” พื้นที่ อ.แม่สอด-เมียวดี ฝ่ายไทยออกเงินก่อสร้างไปแล้วกว่า ร้อยละ 70 …เมื่อมีการตรวจพบว่ามีการละเมิดสนธิสัญญาเรื่องเขตแดน พม่าขอให้ไทยระงับการก่อสร้าง (เรื่องนี้มีที่มา-ที่ไปแบบเหลือเชื่อ)

เกิดกระแสข่าว ปั่นป่วน ยั่วยุ ทำให้สังคม “รับรู้” ในด้านเลวร้าย การค้าขายบริเวณชายแดนมูลค่านับพันล้านบาทต่อเดือนหยุดชะงักบ่อยครั้ง

มีเหตุระหองระแหงต่อเนื่อง…ทหารตรึงกำลังกันบ่อยครั้ง

ข่าวการ “ย้ายเมืองหลวงของพม่า” ถูกสื่อไทยและเทศ วิจารณ์หนักว่า… ผู้นำทหารพม่าเชื่อหมอดูที่ทำนายทายทัก …ให้ย้ายเมืองหลวง

บ้างก็เล่นข่าวว่า… ผู้นำทหารพม่าต้องการสร้างป้อมปราการแห่งใหม่ทางเหนือของประเทศ เพื่อมิให้อเมริกามาปิดล้อมย่างกุ้ง เพราะอยู่ใกล้ชิดติดทะเล หมิ่นเหม่ต่อการถูกโจมตี

ผู้เขียนมีโอกาสติดตาม ผู้บังคับบัญชาไปเยี่ยมเยือนกับผู้นำของกองทัพพม่าหลายท่าน หลายโอกาส คือ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย พลเอกอาวุโส หม่อง เอ รวมทั้ง พลเอก ขิ่น ยุนท์ (ต่อมาเป็น นรม.พม่า)

ระหว่างการสนทนา จะมีคำถามจากผู้ใหญ่ของกองทัพแบบนิ่มๆ ว่า ทำไมสื่อมวลชนไทยบางฉบับจึงเสนอข่าวเช่นนั้น… พร้อมเสียงหัวเราะในลำคอ ที่พอจะตีความได้…

ล่ามที่ทำหน้าที่แปลการสนทนา คือ พันเอกทนงศักดิ์ คะนองนึก อดีตเด็กชาวแม่สอดที่ถูกเชิญให้มารับราชการทหาร เชี่ยวชาญภาษา รับราชการในศูนย์รักษาความปลอดภัย แปลภาษาไทย-พม่า ได้ถึงใจพระเดชพระคุณในทุกการสนทนา ทำให้เราเข้าใจทุกความรู้สึกของผู้นำพม่าที่ระบายแบบทหารต่อทหาร การพูดตรงไปตรงมาของผู้นำ คลี่คลายปมปัญหาได้ทุกเรื่อง

(พันเอกทนงศักดิ์ คือ ล่ามแปลภาษาพม่าที่ผู้ใหญ่ของไทยใช้งานตลอด 30 ปี ร่างเล็ก มะขามข้อเดียว ผู้นำพม่าเมตตา เรียกนายทหารคนนี้ว่า คิน หม่อง ซัน ท่านเสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อ พ.ศ.2558)

ครั้งหนึ่ง.. ผู้เขียนได้มีโอกาสได้เดินเข้าไปประชุมตามวงรอบที่กระทรวงกลาโหมเมียนมา ณ กรุงเนปยีดอ และเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกอาวุโส หม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ทรงอำนาจ

ในงานเลี้ยงรับรองแบบค็อกเทลช่วงค่ำ ที่เดินไป-เดินมา

ท่านมีรอยยิ้มพิมพ์ใจ สุภาพ พูดเสียงเบาๆ ในมือถือแก้วเครื่องดื่ม เป็นน้ำผลไม้ …ผู้เขียนเคยพบท่านในหลายโอกาสที่ผ่านมา

ผู้เขียนเดินเข้าไปแสดงความเคารพท่าน แล้วกลั้นใจถามว่า… “ท่านครับ ผมอยากทราบว่า กรุงเนปยีดอที่กำลังก่อสร้างตรงนี้ ท่านตั้งใจจะให้เป็นเมืองแบบไหน ที่ย้ายมาตรงนี้ เพราะหมอดูแนะนำท่านมั้ยครับ…?

ท่านหัวเราะเบาๆ พร้อมยิ้มน้อย ยิ้มใหญ่ …แล้วกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า…

“….อเมริกา มีกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นศูนย์ราชการ เป็นเมืองหลวง ในขณะที่นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการเงิน เป็นศูนย์ธุรกิจของโลกที่แน่นขนัด… ออสเตรเลียมีกรุงแคนเบอร์ร่าเป็นเมืองราชการ ในขณะที่ซิดนีย์ เป็นเมืองที่คึกคักที่สุด

ประเทศมาเลย์เซียมี ‘กัวลาลัมเปอร์’ เป็นเมืองใหญ่ แน่นมาก เลยต้องไปสร้าง ‘ปุตราจายา’ (Putrajaya) เป็นศูนย์ราชการ บริหารประเทศ

ย่างกุ้ง เมืองเก่าของเราแน่นมาก ขยายไม่ออก …ต้องมาสร้างเนปยีดอ… ให้ชนรุ่นหลัง ลูก หลานของเราจะได้ไม่ลำบาก…”

ผู้เขียนจำคำตอบของท่านได้แม่นยำ เพราะประทับใจในคำตอบที่ตรงไป ตรงมา รู้จริง มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ

ผังการก่อสร้างกรุงเนปยีดอ ..ใหญ่โต โอฬาร มีการวางผังเมืองสง่างาม กระทรวงต่างๆ ถูกวางให้กระจายตัวกัน ถนนคอนกรีตบางเส้นขนาด 14-20 เลน คือถนนในอนาคต …สายไฟฟ้าลงใต้ดินทั้งเมือง

ผังเมือง จะถูกแบ่งเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนราชการ (Ministry Zone) โซนโรงแรม (Hotel Zone) โซนอุตสาหกรรม (Industrial Zone) และโซนทหาร (Military Zone) ประชากรที่อาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ปัจจุบัน เนปยีดอ เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศรองจากย่างกุ้งและมัณฑะเลย์

ช่วงแรกของการก่อสร้างในปี 2546 ภาพที่จำติดตาคือ มีคนงานนั่งกลางแดด เรียงหินด้วยมือเป็นกลุ่ม…สอบถามนายทหารพม่าที่นั่งหน้ารถ บอกว่า เป็นพวกนักโทษที่เอาออกมาทำงานก่อสร้าง แทบไม่เห็นเครื่องจักร ถนนสร้างเป็นช่วงๆ สองข้างทาง คือ ท้องนา โล่ง โปร่ง

อาคารสำนักงาน อยู่ตามเนินเขา ที่กระจายกันออกไป ในยุคบุกเบิก..นำต้นไม้มาปลูก ดูเหี่ยวแห้ง เวิ้งว้าง เหงาหงอย

กาลเวลา คือ เครื่องบ่งบอก สำเร็จ หรือ ล้มเหลว

ช่วงหลังที่เดินทางไปราชการที่เนปยีดออีกหลายครั้ง ประจักษ์ด้วยสายตา ต้นไม้ร่มรื่น เขียวขจี มีศูนย์การค้าหลายแห่ง มีโรงเรียน มีอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นสัดส่วน

ลานสวนสนามของกระทรวงกลาโหม พร้อมรูปปั้นของ 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน สง่างาม อลังการ ดูน่าชื่นชม คือ พระเจ้าอโนรธา พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา

พ.ศ.2549 รัฐบาลสร้างถนนทางหลวงหมายเลข 8 แบบมอเตอร์เวย์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงใหม่กับย่างกุ้ง มีโครงการสร้างสถานีรถไฟขึ้นอีก 1 แห่ง ในเนปยีดอ ถัดจากสถานีในปินมานา

ที่ขาดไม่ได้ในเมืองหลวงใหม่ คือ การสร้าง “เจดีย์อุปปาสันติ” (Uppatasanti Pagoda) ซึ่งจำลองแบบจากเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง แต่สร้างเตี้ยกว่า 1 เมตร ชาวพุทธที่มาราชการ มาท่องเที่ยว พลาไม่ได้

27 มีนาคม พ.ศ.2549 คือ วันประวัติศาสตร์ เปิดกรุงเนปยีดอ เป็นทางการ มีพิธีเฉลิมฉลอง ออกข่าวใหญ่โต เป็นเมืองใหม่ที่สุดในอาเซียน

ปัญหาโลกแตก คือ บรรดานักการทูตทั้งหลายที่มีถิ่นที่อยู่ในย่างกุ้ง ไม่ยอมย้ายมาอยู่ ส่วนใหญ่ปัญหาโรงเรียนของลูก ความสะดวกสบาย อาหารการกิน ที่ย่างกุ้งอุดมสมบูรณ์

เนปยีดอ เติบโตไปเป็นขั้นเป็นตอน.. เริ่มนับ 1 แล้วก้าวต่อไปเรื่อยๆ

ถ้ามองจากมุมมองด้านความมั่นคง ภูมิศาสตร์ของเมืองหลวงใหม่ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เนื่องจากตั้งอยู่ตรงใจกลางของประเทศ ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ทิวทัศน์สวยงาม

รัฐสภา ที่โอ่อ่า สง่างาม สนามบินนานาชาติ …สภาพเมืองที่ตอบสนองความต้องการ กลายเป็น “เมืองหลวง” ที่งดงาม ตระการตา

เมืองหลวงใหม่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเติบโต รองรับอนาคต ..ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม…

ชนรุ่นหลัง ลูกหลาน เหลน ในแผ่นดิน… คือ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image