สะพานแห่งกาลเวลา : ถึงยุคเที่ยว‘อวกาศ’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Blue Origin)

ตั้งแต่ เดนนิส ติโต เศรษฐีอเมริกันใช้เงิน 20 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 623 ล้านบาท ไปเพื่อเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็น “นักท่องเที่ยวอวกาศ” รายแรกของโลก ไปเมื่อปี 2001 ข่าวคราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในห้วงอวกาศก็ดูซาๆ ลงไป

เงินกว่า 600 ล้านบาท ถูก เดนนิส ใช้ไปเพื่อซื้อ “ที่นั่ง” บนยานโซยูซ ของรัสเซียแล้วขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) นาน 8 วัน

เจ้าตัวบอกว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่คุ้มค่า คุ้มเวลาและไม่มีอะไรเปรียบปานได้
หลังจากนั้น มีผู้ที่เจริญรอยตาม เดนนิส ติโต อีกเพียง 6 คน ที่ลงทุนซื้อตั๋วเดินทางในสนนราคาระหว่าง 20 ล้านถึง 25 ล้านดอลลาร์ไปกับ 7 เที่ยวบินอวกาศเท่านั้น

6 คนไปท่องไอเอสเอส 7 เที่ยว นั่นหมายความว่ามี 1 รายที่ “ติดใจ” ไปถึง 2 ครั้ง

Advertisement

คนนั้นคือ ชาร์ลส์ ซิมอนยี ชาวอเมริกันเชื้อสายฮังกาเรียน ที่เป็นเศรษฐีจากธุรกิจซอฟต์แวร์ เดินทางครั้งแรกในเดือนเมษายนปี 2007 อยู่นาน 10 วัน อีกครั้งในเดือนเมษายน ปี 2009 อีก 14 วัน

คนสุดท้ายที่เป็นนักท่องเที่ยวอวกาศ ได้ขึ้นไปอยู่บนไอเอสเอส 12 วัน คือมหาเศรษฐีชาวแคนาดา ชื่อ กีย์ ลาลิแบร์เต ผู้ก่อตั้ง เซิร์ค ดู โซเลล์ บริษัทด้านกิจการบันเทิง ที่โลกรู้จักชื่อจากคณะกายกรรมชื่อเดียวกัน ที่เพิ่งยื่นล้มละลายจากพิษโควิดไปเมื่อปีที่แล้วนั่นแหละครับ

ลาลิแบร์เต ขึ้นไปใช้ชีวิตในห้วงอวกาศในเดือนกันยายนปี 2009 โดยใช้บริการของยานโซยูซ ของรัสเซียเช่นเดียวกัน จากนั้นมาจนถึงตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวอวกาศเกิดขึ้นอีกเลย

Advertisement

แต่หลังจาก “บ่มเพาะ” มาระยะหนึ่ง ถึงตอนนี้ ว่ากันว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอวกาศกำลังจะเบ่งบาน ภายในปีนี้ เราอาจได้เห็นนักท่องเที่ยวอวกาศเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว เมื่อบริษัทอวกาศเอกชนอเมริกันเริ่มต้นให้บริการ

“บลูออริจิน” กิจการอวกาศของ เจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีอเมริกัน เพิ่งเริ่มกระบวนการ “ประมูล” ที่นั่ง “สุดท้าย” บนยานในเที่ยวบินแรกที่จะขึ้นไปท่องอวกาศ ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นในราวกรกฎาคมปีนี้

การประมูลแบบปกปิดผ่านระบบออนไลน์ เริ่มเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้เวลายื่นซอง 2 สัปดาห์ ก่อนเปิดซองออกดูกันในวันที่ 19 พฤษภาคม
ผมเข้าใจเอาเองว่า นั่นเป็นกระบวนการ “คัดกรอง” คนที่มีสภาพร่างกายเหมาะสมสำหรับขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นด่านแรก เพราะกระบวนการประมูลจะสิ้นสุดจริงๆ เมื่อมีการเปิดประมูลสดๆ ออนไลน์ กันในวันที่ 12 มิถุนายน

เพราะอย่างน้อยที่สุด “นักท่องเที่ยวอวกาศ” รายนี้คงจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่ทนทานต่อแรงกดดันระดับ 3 จี (หรือ 3 เท่าของน้ำหนักตัว) เมื่อยานพุ่งเข้าสู่ห้วงอวกาศ และระดับ 5.5 จี เมื่อมันตกกลับสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ครับ

ใครให้ราคาสูงสุด ก็จะได้ที่นั่งหมายเลข 6 ที่เหลืออยู่เป็นที่สุดท้ายนอกจาก 5 คนที่เป็นนักบินและวิศวกรของบลูออริจินไป

ได้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศในห้วงอวกาศที่ความสูงระดับ คาร์มันไลน์ (ราว 100 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล) แบบไร้น้ำหนัก อยู่ระหว่าง 5-10 นาที ในเที่ยวบินที่กินเวลาทั้งสิ้น 30 นาที

เงินที่ได้ บลูออริจิน จะนำไปมอบให้กับ “คลับ ฟอร์ เดอะ ฟิวเจอร์” ที่เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อสนับสนุนการศึกษาวิทยาศาสตร์ทุกแขนงของ เบซอส

ถัดมา ในราวเดือนกันยายน จาเรด ไอแซคแมน มหาเศรษฐีพันล้านชาวอเมริกัน “เหมา” 4 ที่นั่งบนเที่ยวบิน “อินสไปเรชัน4” ด้วยยาน “ครูว์ ดรากอน” ของ สเปซเอ็กซ์
เพื่อนำตัวเองกับพวก ที่มีทั้งครู, นักกิจกรรมเพื่อเด็กที่รอดชีวิตมาจากมะเร็งไขกระดูกและวิศวกรข้อมูล ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

หนึ่งในจำนวนที่นั่งทั้งหมด จาเรด นำออกประมูล เพื่อนำเงินไปช่วยองค์กรการกุศลช่วยเหลือเด็กๆ ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ในแผนกวิจัยของโรงพยาบาลเด็กเซนต์จูด อีกหนึ่งที่นั่งได้เงินจากการระดมทุน

ครูว์ ดรากอน จะใช้เวลาอยู่ในห้วงอวกาศนาน 3 วันครับ

สุดท้ายยังมี “เวอร์จิน กาแลคติค” บริษัทสัญชาติอังกฤษของเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ที่กำลังเปิดขายที่นั่งบน “สเปซชิป2” เริ่มต้นที่ราคาแค่ 250,000 ดอลลาร์หรือราว 7.8 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ว่ากันว่า ใครซื้อทีหลังอาจมีการปรับราคาเพิ่มจากนั้นได้อีก ตอนนี้ยังไม่มีการกำหนดราคาใหม่ขึ้นมา

ดูเหมือนยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศจะมาถึงแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเท่าใดนักนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image