พ.ร.บ.การศึกษา ภาคประชาชน(3) โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

กรรมาธิการสามัญกิจการสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนกังวลภัยไวรัสโควิด-19 พยายามเรียกร้องขอให้รัฐสภาเลื่อนเปิดประชุมสมัยสามัญที่จะมีขึ้นวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ออกไป แต่คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันตามเดิม เพราะมีกฎหมายสำคัญรอเข้าสู่การประชุมหลายฉบับ และขอให้ทุกคนระมัดระวังทำตามมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น

เมื่อแนวโน้มเป็นไปเช่นนี้ ร่างกฎหมายสำคัญที่กำลังรอการพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ จึงต้องเดินหน้าต่อไป ทั้งฉบับของรัฐบาลและภาคประชาชนในนามสมัชชา
เครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (สคคท.)

จุดเด่น จุดด้อย จุดเหมือน จุดต่าง ของร่างสองฉบับมีอย่างไร ผมหยิบยกบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังไปบ้างแล้วยังไม่จบ เพราะพบว่าองค์กรครูและผู้บริหารจะเน้นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิประโยชน์เป็นหลัก

ไม่ว่าเรื่องการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนกลับไปเป็นครูใหญ่ ซึ่งสุดท้ายมาลงตัวที่คำว่าหัวหน้าสถานศึกษา การเปลี่ยนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเป็นใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น

Advertisement

ขณะที่เรื่องดีๆ ของ พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับกลับไม่ค่อยได้ตอกย้ำ ทวงถามเท่าไหร่ โดยเฉพาะประเด็นความจริงในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นหรือไม่ ภายใต้ระบบราชการรวมศูนย์ และวัฒนธรรมอำนาจที่ยังแข็งแกร่ง

จุดเด่นของร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่กล่าวถึงแนวทางการสร้างความอิสระและความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษา สนามรบที่แท้จริงของการปฏิรูปการศึกษา นั่นไง เรื่องนี้ต่างหากต้องช่วยกันเรียกร้อง กดดันให้เป็นจริง

สาระสำคัญปรากฏในมาตรา 14 ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาหลายข้อ บัญญัติไว้ว่า การจัดการศึกษาของสถานศึกษาต้องอยู่บนพื้นฐานดังต่อไปนี้

Advertisement

1 มีความเป็นอิสระในการบริหารสถานศึกษาและการกำหนดวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 และเป้าหมายตามมาตรา 8 โดยต้องอยู่ในความรับผิดชอบและบังคับบัญชาของหัวหน้าสถานศึกษา

2 วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่กำหนดตาม (1) ต้องกำหนดให้เหมาะสมกับสภาพของผู้เรียนในสถานศึกษานั้น วิถีชีวิตของสังคม และพัฒนาการของเทคโนโลยีและของโลกและต้องจัดให้มีระบบการดูแล ติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาได้เต็มศักยภาพ

3 แนวทางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนและศักยภาพที่ไม่เท่ากันของผู้เรียนและสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันกับแนวทางใหม่

4 ในแต่ละสถานศึกษาต้องจัดให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนการบริหารจัดการ และดำเนินงานอื่นที่ไม่ใช่การจัดกระบวนการเรียนรู้ ตามจำนวนที่จำเป็นและเหมาะสม ในกรณีที่สถานศึกษาตั้งอยู่ใกล้เคียงกันจะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวร่วมกันทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้

5 ในการบริหารจัดการสถานศึกษาในแต่ละแห่ง ให้หัวหน้าสถานศึกษารับฟังความคิดเห็นของครูทั้งหมดของสถานศึกษานั้นด้วย

6 สถานศึกษาต้องมีทรัพยากรการเรียนรู้ อันได้แก่ อุปกรณ์ที่จำเป็น ครู และกำลังคนที่ครบถ้วน ในกรณีจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ร่วมกันได้

7 ต้องจัดให้มีระบบการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มเติมสำหรับครูซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานศึกษาห่างไกล ทุรกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย หรือการปฏิบัติงานที่ยากลำบาก สำหรับครูหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนตาม (4) บรรดาที่มีภาระเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการใช้กำลังคนร่วมกันตาม (6) หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้เรียนเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากการจัดกระบวนการเรียนรู้

ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องการจัดหาพัสดุ อุปกรณ์เพื่อการศึกษา และอัตราครู โรงเรียนทุกขนาดถูกกำหนดมาตรฐานและราคากลางเดียวกันทั่วประเทศ ทำให้โรงเรียนขนาดกลาง ขนาดเล็ก โรงเรียนห่างไกล ทุรกันดาร ประสบปัญหาเพราะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า โดยเฉพาะค่าขนส่ง ทำให้ไม่สามารถจัดหาพัสดุได้เพียงพอ ต้องดิ้นรนแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก มูลนิธิ องค์กรการกุศล บริษัทเอกชน และบุคคลผู้มีจิตศรัทธาก็ตาม ทำให้ครูแทนที่จะทำหน้าที่สอนและอยู่กับเด็กเป็นหลักกลับต้องมาแบกรับภาระ

กฎหมายใหม่จึงกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ในหมวด 2 สถานศึกษา

มาตรา 30 ในกรณีจำเป็นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การจัดกระบวนการเรียนรู้และแก่ผู้เรียนในสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คณะกรรมการนโยบายจะจัดให้มีระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่ใช้จากรายได้ของสถานศึกษาตามมาตรา 27 ขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับสถานศึกษาก็ได้ โดยระเบียบดังกล่าวต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว โปร่งใส และก่อให้เกิดความเป็นอิสระแก่สถานศึกษา และอาจกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละประเภทและแต่ละพื้นที่มีระเบียบที่แตกต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็น หรือให้มีความแตกต่างกันระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างจากรายได้ก็ได้

ครับ ที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลจากการต้องปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์เดียวใช้เหมาโหลทั่วทุกแห่ง (one size fits all) ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ การพัสดุ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาก็ตาม ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการรวบอำนาจจากส่วนกลาง ไม่ไว้วางใจพื้นที่และสถานศึกษา แต่ดูแลไม่ทั่วถึง จึงทำให้เกิดปัญหาทั่วไปหมด

ข้อกำหนดใหม่จึงต้องเปลี่ยนไปตามหลักการแนวคิด แยกแยะให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง (tailored made) ของเด็ก ของครู ของโรงเรียน

สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อเขียนไว้ในกฎหมายแล้วต้องมีสภาพบังคับเกิดการปฏิบัติจริง

ฉะนั้น จึงต้องแก้ทั้งกฎหมายระเบียบ ระบบ และพฤติกรรมของคนซึ่งสั่งสมกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม ความเคยชิน

ประการหลังนี้แก้ยาก เพราะเป็นเรื่องของสำนึก ความรับผิดชอบชั่วดีของตัวบุคคลโดยแท้ แต่ถ้าทำระบบให้เข้มแข็ง เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็จะควบคุมพฤติกรรมเบี่ยงเบนทั้งหลายให้ลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image