เดินหน้าชน : วาระซ่อนเร้น‘เยอะ’ โดย โกนจา

การแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผิดพลาดและล้มเหลวโดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้า ส่งผลร้ายต่อประชาชนและทำลายเศรษฐกิจของประเทศอย่างย่อยยับ

ความล่าช้าจัดหาวัคซีน นับตั้งแต่หลังสงกรานต์ที่มีการระบาดของโควิดระลอก 3 มีคนเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 10-20 คนต่อวัน เวลาผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน ผู้คนต้องสังเวยชีวิตจากการไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลนับร้อยคนแล้ว

หลายคนกำลังหาเหตุผลของความล่าช้า อาทิ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ ระบุว่า ภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามาช่วยในการจัดหาวัคซีนจำนวนมากกว่า 10-15 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนรวมทั้งเพื่อเปิดทางเลือกให้ประชาชน สามารถเลือกฉีดวัคซีนได้นั้น เป็นเรื่องที่ดี เมื่อรัฐล้มเหลวในการจัดการวัคซีน การที่เอกชนยื่นมือมาช่วยรัฐควรจะดีใจ แต่รัฐเลือกปฏิเสธเพราะอะไร หรือมีอะไรแอบแฝงในการจัดหาวัคซีนของรัฐ

เหตุผลที่รัฐบาลอ้างฟังไม่ขึ้นหรือรัฐบาลมีอะไรซ่อนเร้นจึงไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นนำเข้ามา การผูกขาดวัคซีนของรัฐบาลจะเป็นตัวฉุดรั้งความเชื่อมั่นของประเทศให้เสื่อมถอยลงไปอีก

Advertisement

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงผูกขาด 2 ยี่ห้อนี้ (ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า) มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ รัฐบาลกลัวอะไรกับการที่เอกชนจะจัดหาวัคซีน

ในขณะที่ระบบสาธารณสุขกำลังต่อสู้กับความเป็นความตายของคนป่วยที่ติดเชื้อโควิด โดยเฉพาะความต้องการเครื่อง oxygen high flow หรือเครื่องช่วยหายใจของโรงพยาบาลต่างๆ ตอนนี้หลายคนหลายองค์กรกำลังระดมบริจาคจัดหาให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก

ก็ปรากฏว่า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เพจชมรมแพทย์ชนบท ออกมาแฉถึงความไม่ชอบมาพากลการจัดซื้อเครื่องออกซิเจนอัตราการไหลสูง (oxygen high flow) โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีการสำรวจเป็นการด่วนว่าโรงพยาบาลใดต้องการเครื่อง oxygen high flow หรือเครื่องช่วยหายใจ โดยจะจัดซื้อด้วยงบเหลือจ่าย

Advertisement

โดยจะมอบหมายให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่งจัดซื้อให้กับทุกจังหวัด จริงหรือไม่?

การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดซื้อครุภัณฑ์การแพทย์เพื่อสู้ภัยโควิดนั้น มีความล่าช้าอย่างมาก ทำให้การใช้งบก้อนนี้ไม่ทันการณ์ต่อการเอามาใช้ดูแลผู้ป่วย

ทราบว่างบก้อนแรกสำหรับซื้อเครื่องช่วยหายใจ (ventilator) จำนวนกว่า 1,000 เครื่อง ทั้งเครื่องช่วยหายใจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่นั้น งบเพิ่งจะลงมา ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอน e-bidding แล้ว เพราะส่วนใหญ่ไม่กล้าจัดซื้อโดยวิธีเจาะจง เร่งด่วน เพราะกลัวการตรวจสอบของ สตง.ในภายหลัง หลายแห่งยังอยู่ในขั้นตอนทำสเปก บางแห่งประกาศเชิญชวน บางแห่งเรียกทำสัญญา ระบบแบบนี้ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาฉุกเฉินเอาเสียเลย

แต่ที่แย่คืองบที่จัดสรรไว้ก้อนที่ 2 ที่ให้โรงพยาบาลต่างๆ ซื้อเครื่อง oxygen high flow หรืเครื่องวัดสัญญาณชีพต่างๆ เครื่องมือส่องหลอดลมใส่ท่อช่วยหายใจ เครื่องมือช่วยชีวิตฉุกเฉิน เครื่องมือควบคุมการให้น้ำเกลือ การฉีดยา รวมทั้งรถพยาบาลส่งต่อผู้ป่วย ที่จะมีแต่การอนุมัติรายการจัดสรร แต่ไม่ได้มีการโอนเงินงบประมาณ (เงินกู้) มาให้ ทำให้โรงพยาบาลทั้งประเทศไม่สามารถทำสัญญากับผู้รับจ้างได้

แต่แล้วอยู่ดีๆ ก็ทราบว่า ผู้บริหารของกระทรวงมีงบเหลือจ่าย จะนำมาซื้อเครื่อง oxygen high flow แจกโรงพยาบาลต่างๆ และแว่วๆ มาว่าจะมอบหมายให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ 1 แห่งจัดซื้อกลางให้กับทุกโรงพยาบาล ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับ
โรงพยาบาลต่างๆ อย่างมาก

ที่ไม่สบายใจเพราะการจัดซื้อกลางนั้นเป็นระบบแบบเก่าที่ไม่ควรจะมีให้เห็นอีกในยุคนี้จะได้ของจากบริษัทเดียว

ประสบการณ์ของเราคือเครื่องมือแพทย์ต้องการการบำรุงรักษาและการบริการหลังการขายที่มีคุณภาพด้วย และทุกครั้งที่มีการจัดซื้อจากส่วนกลาง บริการหลังการขายมักจะแย่มากๆ เสมอมา ใครจะไป service ทั่วประเทศได้ทัน

ข่าวซุบซิบเรื่องความโปร่งใส ได้บริษัทมาก็ยากที่จะ service ทั่วถึง

โอนงบมาให้แต่ละโรงพยาบาลจัดซื้อแบบเร่งด่วน กำหนดเงื่อนเวลาให้ชัดรัดกุม ทุกโรงพยาบาลสามารถทำได้ และอาจได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคากลางที่กระทรวงกำหนดด้วย อีกทั้งเราจะได้บริษัทที่มี good service ได้เครื่องที่โรงพยาบาลคุ้นชิน

ในภาวะวิกฤตประเทศขนาดนี้ รัฐบาลนี้ก็ยังมีวาระซ่อนเร้นให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image