การจดทะเบียนธุรกิจ ในฐานะตัวชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจ

การจดทะเบียนธุรกิจ ในฐานะตัวชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจ

การจดทะเบียนธุรกิจ
ในฐานะตัวชี้วัดสถานการณ์เศรษฐกิจ

หนึ่งในความก้าวหน้าของระบบข้อมูลสนเทศที่น่าชมเชย คือ การที่หน่วยราชการไทย ซึ่งมีหน้าที่บันทึกข้อมูลขนาดใหญ่นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอนำสถิติการจดทะเบียนธุรกิจโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งรับจดทะเบียนธุรกิจ ทั้งจดใหม่ ปิดกิจการ และทุนจดทะเบียน ช่วยให้เราเข้าใจพลวัตของเศรษฐกิจจังหวัดและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการสะท้อน “มิติพื้นที่” (จังหวัด) สะท้อนความแตกต่าง-เหมือน-หรือหลากหลาย นำมาวิเคราะห์ทดสอบข้อสงสัยว่า เศรษฐกิจไทยกระจุกตัว หรือกระจายตัวอย่างไร?

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดิมชื่อว่ากรมทะเบียนการค้า จัดตั้งในรัชกาลที่ 6 ใน ปี พ.ศ.2466 มีหน้าที่รักษามาตราชั่งตวงวัด และจดทะเบียนการค้า ต่อมาปรับเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2545 กรมได้บันทึกข้อมูลสถิติที่น่าสนใจหลายประเภท เช่น จำนวนจดทะเบียนธุรกิจใหม่ จำนวนปิดกิจการ ทุนจดทะเบียน นำมาประมวลเป็นข้อมูลรายเดือน-รายจังหวัด ก่อนอื่นขอฉายภาพรวมทั้งประเทศ ทุนจดทะเบียนธุรกิจรวมกันเท่ากับ 19 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ใกล้เคียงกับมูลค่าจีดีพีของประเทศ (GDP=gross domestic products) จำนวนกว่า 7 แสนรายทั่วประเทศ ตารางที่ 1 แสดงการ
กระจายค่าสถิติเป็นรายภาค โดยมีข้อสังเกตว่า กระจุกตัวสูงมากในกรุงเทพและปริมณฑล ลดหลั่นกันคือ จำนวนรายและจำนวนทุนจดทะเบียนในภาคตะวันออกและภาคใต้ (ดูตารางที่ 1)

Advertisement

สถิติข้างต้นชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงกระจุกตัวสูงมากในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งจำนวนรายและจำนวนเงิน ความจริงหลายรัฐบาลได้แถลงนโยบายกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจตลอดเวลา แต่เข้าใจว่ายังไม่สัมฤทธิผล ต้องพยายามกันต่อไป เราสันนิษฐานว่า การกระจายตัวของสถาบันอุดมศึกษาในทุกภาคน่าจะเพิ่มโอกาสเยาวชนได้รับความรู้ทักษะ และประสบการณ์ทำงาน ในโลกเศรษฐกิจไร้พรมแดนการทำธุรกิจออนไลน์ การประมูลโครงการของรัฐผ่านระบบออนไลน์ จึงควรส่งเสริมให้จดทะเบียนในจังหวัดบ้านเกิด ล่าสุดกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ผลักดันให้มหาวิทยาลัยลงพื้นที่ตำบล/อำเภอ ภายใต้โครงการย่อว่า U2T เป้าหมายจ้างงาน-กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ประกอบกิจการในจังหวัดบ้านเกิด ควรจะนำสถิติจดทะเบียนธุรกิจในแต่ละจังหวัดมาเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีวัดสัมฤทธิผลของโครงการ

สถิติธุรกิจใหม่ (หรือปิดกิจการ) สะท้อนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ จังหวัดภูเก็ตถูกเลือกเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นที่ทราบดีว่า โรคไวรัสโควิดระบาดส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเดินทางท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดชั้นนำของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการและการท่องเที่ยว จึงนำสถิติมาแสดงเป็นรูปภาพ 1-2-3 พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์

จากสถิติข้างต้น แสดงแนวโน้มจดทะเบียนธุรกิจใหม่ลดลงในขณะที่จำนวนแจ้งปิดกิจการเพิ่มขึ้น สะท้อนการเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่น ลดลง

ภาพที่ 3 วัดขนาดทุนจดทะเบียน (หน่วยล้านบาท) ว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น (ค่าบวก) หรือลดลง (ค่าลบ) โดยสรุปคือ ช่วงเวลาที่ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาติดลบ สะท้อนความจริงที่ว่าผู้ประกอบการพยายามรักษากิจการเอาไว้ถึงแม้ว่าขาดทุนหรือ “เจ็บตัว” — แต่ต้องอึดไว้ก่อนด้วยเหตุผลหลายประการ เลี้ยงลูกน้อง รอวันเวลากิจการฟื้นตัว การเลิกง่ายแต่สร้างใหม่เป็นเรื่องยาก ความผูกพัน หรือชื่อเสียงกิจการเป็นที่รู้จักกว้างขวาง กิจการเริ่มมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่น่าสืบทอดต่อไป ฯลฯ เป็นประเด็นที่จะสืบค้นต่อด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพ

จากสถิติเหล่านี้พอได้ข้อคิดว่า ผู้ประกอบการไทยมีความอึดและอดทน น่าชมเชย ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ หากรัฐบาลจะออกมาตรการ หรือนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการดำรงอยู่ได้ในยามยากเช่นนี้ ก็น่ายินดี รอวันเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
ภคพร วัฒนดำรงค์
ภาวิณี สตาร์เจล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image