ห้วงโควิดและเข้าพรรษามาทบทวนเรื่องการเมืองกันดีกว่าไหม โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สัปดาห์หน้า วันพุธที่ 26 พฤษภาคม เป็นวันวิสาขบูชา หรือวันพระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีนี้ มีเดือน 8 สองหน กรกฎาคม วันที่ 10 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8-8 วันวิสาขบูชา จึงเลื่อนจากวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 26 เดือนเมษายนมาเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เดือนพฤษภาคม คือเดือนนี้ ส่วนวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 24 เดือนกรกฎาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8-8

วันเข้าพรรษาตรงกับวันที่ 25 กรกฎาคม แรม 1 ค่ำ เดือน 8-8 เป็นวันอาทิตย์ ระหว่างนี้ เข้าสู่ฤดูฝนมีเวลากว่า 2 เดือนจึงเข้าพรรษา แม้จะเข้าสู่ฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศไว้ก็ตาม

การเข้าสู่ฤดูฝน หรือเข้าพรรษาน่าจะเป็นห้วงเวลาที่กุลบุตรทั้งหลายได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บวชเรียนเป็นศิษย์ตถาคต เพื่อเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเวลา 3 เดือน หรือ 1 พรรษา ต้องเตรียมพร้อมลาบวชจากหน่วยงาน เตรียมตัวเข้าหาวัด อุปัชฌาย์ และพระพี่เลี้ยงเพื่อท่องบทขออุปสมบท ต้องเตรียมตัวซ้อมท่องจำ กระทั่งถึงวันอุปสมบทในอีกไม่นานนี้ ก่อนเข้าพรรษา

เมื่อเข้าอุปสมบทแล้ว ถึงเวลาเข้าพรรษา ต้องอยู่จำวัดไปอีก 3 เดือน กว่าจะถึงวันออกพรรษา โน่น 21 ตุลาคม เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หากลาสิกขาวันนั้น หรือหลังจากนั้นวันหนึ่ง จะมีวันหยุดติดต่อ กัน 3 วัน คือ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช ต่อเนื่องเสาร์อาทิตย์ และหยุดชดเชยวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม อีก 1 วัน จึงกลับไปทำงานวันอังคารที่ 26

Advertisement

สัปดาห์หน้า รัฐสภาเปิดประชุมเป็นสมัยที่ 2 ตามปกติ แม้ว่าสถานการณ์โควิดยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ระหว่างนี้ ใครสนใจเคลื่อนไหวทางการเมืองยังทำอะไรไม่ได้เต็มที่ หรือพูดอะไรไม่ได้เต็มปากเต็มคำ

ด้วยเป็นขณะที่บิดามารดายินดีและต้องการให้กุลบุตรมีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ต่างต้องการเห็นลูกชายหลานชายตัวเองเตรียมตัวท่องบ่นบทขออุปสมบท ไปวัดไปวาตามกำหนด

โดยเฉพาะกับวัดที่เจ้าอาวาสซึ่งครอบครัวให้ความเคารพนับถือ ไม่ว่ามหานิกาย หรือธรรมยุต คงต้องการให้ลูกหลานผ่านพิธีการท่องบทขออุปสมบทไม่ติดขัด

Advertisement

การที่กุลบุตรอายุถึงบวชแล้วได้บวชเรียนตามกำหนด บิดามารดาปู่ย่าตายาย และญาติผู้ใหญ่ย่อมปลื้มปีติที่จะได้มีโอกาสเกาะผ้าเหลืองเสวยผลบุญตามที่หวังตั้งใจ โดยเฉพาะ “แม่” มารดาผู้เป็นบุพการีคลอดลูกชายออกมาก็หวังได้เห็นบุตรชายของตนมีโอกาสเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เฉกเดียวกับบุตรครอบครัวอื่น

แม้ระหว่างห้วงเวลาที่ผ่านมาลูกชายของตนจะออกไปเย้วๆ ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมือง

แม้จะไม่ยินดีในการเรียกร้องนั้น แต่ด้วยเป็นลูกชายตนเองซึ่งวันนี้มีเพียงลูกชายคนเดียวก็หวังจะได้ “เกาะชายผ้าเหลือง” ให้ได้รับผลบุญที่มีโอกาสจัดการบวชเรียนลูกชายคนเดียวของตัวเองให้จงได้ตามความตั้งใจไว้ตั้งแต่ลูกชายแรกเกิดจนถึงวันนี้ วันที่ส่งเสียให้ร่ำเรียนจนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ก่อนจะแต่งงานมีครอบครัว

ส่วนเรื่องการบ้านการเมืองที่ลูกชายลูกสาวพูดคุยในครอบครัว ทั้งมีเพื่อนฝูงมาร่วมพูดคุยก่อนหน้าพ่อแม่มิได้รังเกียจ กลับเห็นด้วยที่ลูกมีแนวทางความคิดมุ่งไปสู่วิถีประชาธิปไตย ทั้งสนับสนุนและให้ชักชวนเพื่อนมากินข้าวพูดคุยกันที่บ้านเพื่อความปลอดภัยและจะได้รับฟังความคิดเห็นของลูกกับเพื่อนลูกคนรุ่นใหม่

เว้นแต่ว่า วิถีความคิดจะเบี่ยงเบนออกนอกแนวทาง ที่ดูเหมือนว่าจะขัดกับระบอบประชาธิปไตยของเมืองไทยจะให้เหตุผลด้วยความเป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านชีวิตและวิถีบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยมานาน จึงให้เหตุผลในทางที่ถูกที่ควรเสียทีหนึ่ง แต่มิได้ขัดแย้งหรือขัดขวางมิให้เห็นเป็นเช่นนั้น

ยังดี ที่ทั้งลูกและเพื่อนของลูกที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันค่อนข้างเห็นด้วยและรับฟังมากกว่าจะใช้อารมณ์ขัดแย้ง หรือมีความเห็นไปในทางสุดโต่ง

แล้วฝ่ายพ่อเห็นว่า ในห้วงแห่งการเข้าพรรษา และลูกชายจะมีโอกาสบวชเรียน จึงขอให้ทุกคนใช้ห้วงเวลานี้ 4-5 เดือนไปมาหาสู่กันพร้อมทบทวนแนวทางความคิดเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในแนวทางสงบ มากกว่าจะเป็นไปในแนวทางรุนแรงเหมือนที่เคยต้องการ ดีกว่าไหมลูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image