สถานีคิดเลขที่ 12 : เดือนพฤษภา

สถานีคิดเลขที่ 12 : เดือนพฤษภาปกติเรามักคุ้นกับคำว่า “ตุลาอาถรรพ์”

สถานีคิดเลขที่ 12 : เดือนพฤษภา

ปกติเรามักคุ้นกับคำว่า “ตุลาอาถรรพ์” ด้วยในเดือนตุลาคมได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่ในทางการเมืองไทยหลายหน ทั้ง 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งยังมีการรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมืองหลายครั้งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม

แต่ไม่แค่ตุลาคมเท่านั้น

เดือนพฤษภาคม นับเป็นอีกเดือนที่มีเหตุการณ์ระดับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นหลายต่อหลายเหตุการณ์เช่นเดียวกัน

Advertisement

มีทั้งที่ปราบปรามประชาชนล้มตายมากมาย แบบตุลาฯเลือดก็มี ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาคม 2535 หรือพฤษภาคม 2553 ที่ตายถึง 99 ศพ

รวมทั้งการรัฐประหารยึดอำนาจ นั่นคือ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งอำนาจของคณะรัฐประหารชุดนี้ยังคงยืนยาวมาจนถึงวันนี้

กล่าวสำหรับพฤษภาคม 2535 ที่เรียกว่าพฤษภาทมิฬนั้น เป็นการลุกขึ้นมาประท้วงของชนชั้นกลางในเมือง ขับไล่นายกฯที่มาจากทหาร โดยเป็นผู้นำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในนามคณะ รสช.

Advertisement

ต่อมาจัดการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535 แล้วผู้นำรัฐประหารก็เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี อันเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. จึงถูกประชาชนชุมนุมต่อต้าน

รัฐบาลที่มีนายกฯจากกองทัพ จึงส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามการชุมนุม กลายเป็นเหตุนองเลือด มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สุดท้ายต้องลาออก

อีกเหตุนองเลือดเดือนพฤษภาคม คือ เหตุการณ์ 99 ศพ ที่เสื้อแดงชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา เพราะไม่ยอมรับที่มาของรัฐบาล ที่ผ่านการเจรจากันในค่ายทหาร

ลงเอยรัฐบาลอ้างมีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้ายในม็อบ จึงใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง ตายไปเกือบร้อยศพ แต่กลบไม่หมด เพราะจากนั้นมีการทำสำนวนคดี เท่ากับว่าในทางกฎหมายแล้วกระบวนการคดีนี้ยังไม่ยุติ

เหตุการณ์ 99 ศพ เริ่มยิงกันตายตั้งแต่คืนวันที่ 10 เมษายน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม การชุมนุมจึงจบลงด้วยการเอาทหารเข้ายึดพื้นที่การชุมนุมราชประสงค์

ที่น่าสนใจก็คือ ในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 มีการจัดม็อบนกหวีด ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อรัฐบาลยอมถอยด้วยการยุบสภา แกนนำม็อบกลับไม่ยอมรับหนทางตามวิถีประชาธิปไตย อ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทำให้บ้านเมืองเข้าทางตัน เข้าเงื่อนไขเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

แกนนำม็อบนกหวีด ผู้นำทหารที่ออกมายึดอำนาจ 22 พฤษภาคม ล้วนเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจในเหตุการณ์ เมษายน-พฤษภาคม 2553 นั่นเอง

น่าสังเกตว่า ผู้นำรัฐประหารยังอยู่ในอำนาจต่อมาจนถึงปัจจุบัน และยังวางขั้นตอนการอยู่ในอำนาจต่อไปอีกยาวนาน ในขณะที่คดี 99 ศพ ยังมีอายุความเหลืออีก 9 ปี

นี่คือ เรื่องราวในเดือนพฤษภาคม คือ มีทั้งพฤษภาคม 2535, พฤษภาคม 2553 รัฐประหารพฤษภาคม 2557

แต่อีกพฤษภาคมที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ 18 พฤษภาคม 2523 เหตุการณ์สังหารหมู่กวางจู ที่เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนเกาหลีใต้ ต่อต้านรัฐบาลทหาร จนสุดท้ายผลักดันประชาธิปไตยในเกาหลีใต้จนพัฒนาก้าวหน้า เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เสรี ไม่มีทหารเข้าแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป ส่งผลให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศเจริญระดับยักษ์ใหญ่ไปแล้ว

มีการมอบรางวัลกวางจูเพื่อยกย่องนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ โดยรางวัลประจำปีนี้ มอบให้ ทนายอานนท์ นำภา

มอบกันเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เหมือนการบอกเล่าความจริงของการเมืองไทยวันนี้

เพราะคนไทยผู้ได้รับการยกย่องจากกวางจู ยังถูกคุมขังสิ้นอิสรภาพ จนต้องมอบรางวัลผ่านทางออนไลน์ ท่ามกลางสายตาคนเกาหลีและทั่วโลกที่มองดูอยู่

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image