สะพานแห่งกาลเวลา : ราดำที่อินเดีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AP)

วิกฤตโควิด-19 ที่อินเดีย สร้างปัญหาใหญ่โตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด การแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ในอินเดีย ก่อให้เกิดการระบาดของโรคที่ไม่เคยระบาดมาก่อนขึ้น ซ้ำเติมสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่นั่นให้หนักขึ้นไปอีก

โรคที่ว่านั้นคือ โรค “มิวคอร์มัยโคซิส” (mucormycosis) หรือโรคติดเชื้อรามิวคอร์ ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ราดำ” (black fungus)

มิวคอร์มัยโคซิสระบาดหนักในอินเดีย ถึงขนาดที่กระทรวงสาธารณสุขที่นั่น ต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลของแต่ละรัฐ ประกาศให้เป็น “โรคระบาด” ซึ่งต้องแจ้งต่อทางการตามกฎหมายควบคุมโรคระบาด เพื่อให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และบูรณาการวิธีการรักษาให้เป็นหนึ่งเดียวได้

รัฐราชสถาน, คุชราต และเตลังคานา เป็นอย่างน้อย 3 รัฐแล้วที่ประกาศให้โรคติดเชื้อราดำนี้เป็นโรคระบาดไปก่อนหน้า

Advertisement

ในรัฐมหาราษฏระ รัฐใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดีย พบผู้ป่วยด้วยโรคนี้แล้วกว่า 2,000 รายภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่โควิดระบาดระลอกนี้ ทั้งๆ ที่ตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา พบแค่ 6 คนเท่านั้นเอง

ที่รัฐคุชราต รัฐบ้านเกิดของ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ที่กำลังถูกถล่มอย่างหนัก พบมิวคอร์มัยโคซิสราว 1,200 ราย โรงพยาบาลแห่งเมืองอาห์เมดาบัด หนึ่งในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในคุชราต กำลังรักษาผู้ป่วยมิวคอร์มัยโคซิสอยู่ถึง 371 ราย อีกราว 400 รายอยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐในเมืองราชคต

ที่นิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ พบแล้วกว่า 200 ราย จนถึงกับต้องจัดทำ วอร์ดพิเศษ สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ขึ้นใน 3 โรงพยาบาล เพราะคาดว่าจะมีอีกมากที่รอคิว รอเตียงพยาบาลอยู่ในเวลานี้

Advertisement

ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยต่อปีแล้วทั่วประเทศอินเดียพบผู้ป่วยมิวคอร์มัยโคซิสเพียงแค่ไม่ถึง 20 รายเท่านั้น

แต่ตอนนี้ระบาดหนักถึงขนาดทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา “แอมโฟเทอริซิน บี” (Amphotericin B) ยาต้านการติดเชื้อมิวคอร์ ทั้งๆ ที่อินเดียเป็นผู้ผลิตยาชนิดนี้เองนั่นแหละ

โรคราดำที่ว่านี้ เกิดจากเชื้อราสกุลมิวคอร์ หรือมิวคอร์มัยซีตส์ ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการหายใจ หรือเข้าสู่ร่างกายตามบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ บนผิวหนัง

เชื้อราสกุล(จีนัส) มิวคอร์ ที่ว่านี้ พบกันได้ทั่วไป ในดิน ในผลไม้ หรือขนมปังที่เน่าเสีย พบกันได้ในทุกประเทศทั่วโลก แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสามารถไปเติบโตอยู่ในโพรงจมูก หรือทำให้โพรงอากาศด้านหลังหน้าผาก, ในจมูก, โหนกแก้ม, เบ้าตา, ระหว่างดวงตาทั้งสองข้าง และบริเวณฟัน ให้เกิดอาการติดเชื้อขึ้นได้ทั้งในบริเวณโพรงจมูก (ไซนัส) หรือลามไปถึงสมองและลงลึกไปถึงปอดได้

อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ มิวคอร์มัยโคซิส นี้จึงสูงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

นั่นทำให้คุณหมอที่อินเดียต้องตัดสินใจควักตาผู้ป่วยทิ้งกลายเป็นคนพิการ หรือเลาะกรามบนออกจนหมดหล่อ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลามถึงสมองซึ่งจะถึงแก่ชีวิตได้โดยง่ายนั่นเอง

แต่โดยปกติแล้ว ภูมิคุ้มกันทั่วไปในร่างกายของคนเราสามารถจัดการกับเชื้อตัวนี้ได้ไม่ยากนัก ทำให้น้อยครั้งที่จะก่อให้เกิดโรคขึ้น จนจัดเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดได้ยากมากโรคหนึ่ง

ในอินเดีย ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ มิวคอร์มัยโคซิสจะระบาดกับผู้ที่หายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือกำลังจะหายจากโควิด-19 แทบทั้งสิ้น คนที่เป็นเบาหวาน หรือคนที่เพิ่งหายจากโควิด-19 มาราว 12-15 วัน เสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะติดเชื้อนี้ขึ้น

สเตียรอยด์ถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยโควิดเพื่อ “กด” ภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไม่ให้ตอบสนองต่อเชื้อมากจนเกินไป จนเกิดเป็นภาวะ “ไซโตคินสตอร์ม” หรือภูมิคุ้มกันทำลายร่างกายตัวเองจนเสียชีวิต

คนที่เป็นเบาหวาน ภูมิคุ้มกันก็จะอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว ทำให้เชื้อรามิวคอร์ฉวยโอกาสเติบโตในร่างกายก่อให้เกิดอาการอักเสบได้ เช่นเดียวกับคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทำให้แพทย์บางคนถึงได้เรียกเจ้าเชื้อนี้ว่า “เชื้อฉวยโอกาส”

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่อินเดียเชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้มิวคอร์มัยโคซิสนี้แพร่ระบาดในอินเดีย เป็นเพราะแพทย์ที่นั่นให้ยาจำพวกสเตียรอยด์ในการรักษาผู้ป่วย
โควิด-19 พร่ำเพรื่อเกินไป หรือมากเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับเตือนว่า หมอที่อินเดียควรเลิกให้ยาสเตียรอยด์กับผู้ป่วยโควิด-19 แบบไม่เลือกหน้าได้แล้ว

อีกบางคนเชื่อว่า ความสกปรก ไม่ถูกสุขอนามัยและแออัดของโรงพยาบาลในอินเดีย ก็มีส่วนทำให้เกิดการระบาดของโรคราดำครั้งนี้

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคราดำที่อินเดียก็เป็นอุธาหรณ์อีกกรณีหนึ่ง สำหรับเตือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ให้ระวังตัว เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะแพร่ระบาดของเชื้อราดำ

ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากยังปล่อยให้โควิด-19 ระบาดอย่างหนักและต่อเนื่องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image