บทนำ : ต่อยอดความล้ำค่า

บทนำ : ต่อยอดความล้ำค่า นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร

บทนำ : ต่อยอดความล้ำค่า

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยความคืบหน้ากรณีสหรัฐเตรียมส่งมอบ “ทับหลังปราสาทเขาโล้น” จังหวัดสระแก้ว และ “ทับหลังปราสาทหนองหงส์” จังหวัดบุรีรัมย์ คืนรัฐบาลไทยว่า วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม หน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส จะทำพิธีส่งมอบทับหลัง จากนั้นบริษัทเอกชนที่กรมศิลปากรว่าจ้างจะจัดการเรื่องการขนส่ง โดยวันพุธ 26 พฤษภาคม ขนส่งทางสายการบินโคเรียนแอร์ แวะที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เกาหลีใต้ แล้วเดินทางต่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันศุกร์ 28 พฤษภาคม เวลาราว 18.30 น. คาดว่าจะมีการจัดส่งมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร กรุงเทพฯ ในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม

สำหรับการทวงคืนทับหลังปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว เกิดขึ้นจากความพยายามทวงคืนพระโพธิสัตว์ประโคนชัย เมื่อต้นปี 2559 โดยกลุ่ม “สำนึก 300 องค์” นำโดย นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี นายดำรง ลีลานุรักษ์ อดีตรองอธิการบดี ม.แม่โจ้, นายโชติวัฒน์ รุญเจริญ บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายยอดชาย อ้ายเจริญ ประชาชนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งค้นข้อมูลเกี่ยวกับประติมากรรมโพธิสัตว์ประโคนชัย ที่มาจากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แต่ปัจจุบันไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ นำไปสู่การค้นพบโบราณวัตถุไทยชิ้นอื่นๆ จนถึงทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้ ซึ่งถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ในนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

ข้อมูลการค้นพบที่มาของโบราณวัตถุดังกล่าวทำให้เกิดกระแสในจังหวัดบุรีรัมย์และสระแก้ว เคลื่อนไหวเพื่อทวงคืน ผลักดันให้ทางการเคลื่อนไหว เพื่อขอโบราณวัตถุดังกล่าวคืนกลับแผ่นดินไทย ซึ่งกระบวนการทวงคืนต้องผ่านการพิสูจน์กรรมสิทธิ์ แล้วในที่สุดข้อมูลหลักฐานที่ค้นคว้าและปรากฏ ยืนยันว่าทับหลังทั้ง 2 ชิ้น เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย จึงได้นำทับหลังทั้ง 2 ชิ้น ออกจากห้องจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไปจัดเก็บในห้องคลัง เพื่อรอขั้นตอนทางกฎหมาย และสุดท้ายกระบวนการทวงคืนทับหลังทั้ง 2 ชิ้นก็ประสบความสำเร็จ ในเดือนพฤษภาคมนี้ ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นจะเดินทางมาถึงไทย

Advertisement

การได้ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นคืนกลับมายังประเทศไทย ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มเคลื่อนไหวชาวไทยที่ประสานงานกัน และผลักดันให้โบราณวัตถุล้ำค่านี้กลับมายังประเทศผู้มีกรรมสิทธิ์อีกครั้ง หลังจากที่ยุคหนึ่งโบราณวัตถุอันล้ำค่าต่างๆ ถูกขนออกไปนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยประสบความสำเร็จในการทวงคืนวัตถุอันล้ำค่ากลับมาแล้ว คงจะต้องมีแนวทางในการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว กล่าวคือไม่ปล่อยให้วัตถุอันล้ำค่านี้กลายเป็นวัตถุไม่ล้ำค่าเมื่อถูกนำมาวางไว้เฉยๆ โดยไม่ก่อเกิดประโยชน์ทั้งด้านองค์ความรู้ทางวิชาการ การปลุกสำนึกของคนไทยในด้านวัฒนธรรม รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่า เพราะอาจจะกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของการได้ทับหลังทั้ง 2 ชิ้นคืนมา เกิดขึ้นจากภาคประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ อีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยมีภาครัฐสานฝันของภาคประชาชนให้เป็นจริง ดังนั้นการต่อยอดให้โบราณวัตถุดังกล่าวให้มีคุณค่าต่อไป จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของภาครัฐผู้รับผิดชอบที่จะต้องทำให้สำเร็จ ทำให้ประเทศมีองค์ความรู้มากขึ้น ทำให้ประชาชนรู้สึกคุ้มค่าที่ได้ร่วมทวงคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image