การเมืองหลัง Walk in วัคซีนโควิด-19 โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

วิวาทะว่าด้วย Walk in วัคซีนโควิด-19 กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าทางการเมืองขึ้นมาจนถึงวันนี้ยังไม่นิ่งสนิท เหตุจากนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง โฆษกพรรคภูมิใจไทย แสดงความเห็นตรงข้ามกับคำสั่งของหัวหน้ารัฐบาลที่ให้ชะลอไว้ก่อน

เป็นเหตุให้บรรดานั่งร้านในทำเนียบเกิดอารมณ์ร่วมพลุ่งพล่านขึ้นมาตอบโต้ทันควัน ถามหามารยาททางการเมืองในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แต่ก็ไม่กล้าถึงขั้นท้าทายให้พรรคภูมิใจไทยถอนตัว

ตรงกันข้ามกับการพูดจา ท่าทีแสดงออกของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองนายกรัฐมนตรี เที่ยวนี้การ์ดไม่ตก ชี้แจงได้ดี รักษาไมตรีทั้งสองฝ่าย ยังพร้อมที่จะทำงานภายใต้บัญชาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันก็เข้าใจ เห็นใจ จิตใจของโฆษกพรรคมีเจตนาดี ติเพื่อก่อมากกว่า

แถมย้ำอีกว่า ต้องแยกบทบาทให้ชัดระหว่างความเป็นรัฐบาลต้องรับฟังความเห็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กับความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งห่วงใยความเดือดร้อน ทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน อยากให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด

Advertisement

ก่อนตบท้ายว่า ทีลูกพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลรุมยำนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ไม่โหวตลงคะแนนเสียงไว้วางใจให้ตนยังนิ่ง ทนเสียงตำหนิจากลูกพรรคได้ ไม่ว่าอะไรสักคำ

สรุปก็คือ ไม่หักหาญ ขออยู่ร่วมชายคารัฐบาลต่อไป

ครับ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า การเมืองแบบเจ๊าๆ กันไปก็คงดำเนินไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ ฝ่ายเป็นรองก็ต้องอดทนต่อไป ไม่กล้าหักเพราะกลัวยุบสภา ตกงาน เลือกตั้งใหม่เป็นไปภายใต้กติกาเดิม ส.ว.มีอำนาจร่วมโหวตนายกฯ ขืนดึงดันไปถึงอย่างไรก็ยังเป็นรองอยู่ดี ทู่ซี้กันไปแบบนี้แหละได้ประโยชน์กว่า

Advertisement

สิ่งที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ต่อจากนี้ไป เมื่อการประชุมรัฐสภาเปิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 รอเข้า รวมทั้งพระราชกำหนดกู้เงินก้อนใหม่ 7 แสนล้าน แก้สถานการณ์โควิดรอบสามและอัดฉีดเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านจะอาศัยจังหวะเล่นงานตามบทบาท แต่ก็คงผ่านไปได้อีกเช่นเคย

ต่อจากนั้นจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ที่ค้างมาจากการประชุมสภาสมัยที่แล้ว จนถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตราหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือ ยกเลิกมาตรา 272 หยุดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แม้ท่าทีของ ส.ว.แสดงความเห็นด้วยมากขึ้น แต่ถึงเวลาลงคะแนนจริงจะให้ความเห็นชอบถึง 84 เสียงตามกติกาจึงผ่านได้หรือไม่ ยังไม่มีความแน่นอน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนตลอด

ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเที่ยวนี้ประสบความสำเร็จ ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เชื่อว่าการเมืองในสภา และภายในพรรคร่วมรัฐบาลมีโอกาสร้อนอีกแน่นอนหากมีเรื่องกระทบกระทั่งระหองระแหงกันขึ้นใหม่

ความเกรงอกเกรงใจ ยอมกินน้ำใต้ศอกอีกฝ่ายหนึ่งคงจะค่อยเริ่มหมดไป เปลี่ยนเป็นแรงกดดันต่อหัวหน้ารัฐบาล จะตัดสินใจยุบสภาหรือลาออก พรรคร่วมรัฐบาลพร้อมสู้ทั้งสิ้น เพราะอำนาจไม้ค้ำยันถูกเลิกไปแล้ว อาการปากกล้าขาสั่น ไม่ยอมถอนตัวอย่างที่ผ่านๆ มาจะลดลง

เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม้ไว้วางใจครั้งใหม่ มีข้อมูล หลักฐาน อภิปรายหนักแน่นน่าเชื่อถือ เหตุขัดแย้งร้าวฉานในพรรคร่วมรัฐบาลอาจปะทุขึ้นมาอีก กลายเป็นเชื้ออย่างดีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ประกอบกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังนอกสภา กลุ่มราษฎร กลุ่มไทยไม่ทน ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35 ครป. อดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กปปส. และ นปช. แรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจะหนักยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะที่สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ยอมลด ผลกระทบทางเศรษฐกิจทำมาหากินฝืดเคือง ธุรกิจการค้าล่มจม คนตกงาน ฆ่าตัวตายยังเกิดต่อเนื่อง จะยิ่งโถมใส่รัฐบาลให้ง่อนแง่นมากขึ้น

สถานการณ์ที่พัฒนามาตามลำดับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 สร้างกลไกที่มีอำนาจพิเศษเพื่อคอยคุ้มครอง ปกป้องฝ่ายบริหาร ทำให้ผู้นำรัฐบาลรู้สึกว่าตัวเองมีความมั่นคง ถูกโค่นยาก จึงดึงดันไม่ยอมรับเสียงเรียกร้อง ตรงข้ามกลับท้าทายถึงขนาดว่า ไปแก้รัฐธรรมนูญให้ได้เสียก่อน ค่อยมาพูดกัน ยิ่งทำให้การเมืองเกิดความขัดแย้งสูงขึ้น

รัฐบาลบริหารผิดพลาด บกพร่อง ไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลายเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองและการปฏิรูปสำคัญๆ กลไกพิเศษที่สร้างขึ้นไว้ไม่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลง เพราะความเป็นเพื่อน ความเกรงใจ ความมีบุญคุณต่อกัน

รัฐธรรมนูญเพื่อพวกพ้อง การเมืองไร้ความเป็นธรรม จึงสมควรที่จะต้องแก้ไข หรือไม่ก็ยกเลิกไปเสียโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image