เดินหน้าชน : ‘บินไทย’อย่าหาทำ โดย โกนจา

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.ก.พิเศษกู้เงินแก้วิกฤตโควิดสองรอบ คือ 1 ล้านล้านบาท และล่าสุด 7 แสนล้านบาท รวม 1.7 ล้านล้านบาท เท่ากับ 10% ของจีดีพี

รวม 2 ปีการกู้ทั้งหมดของปี 64 และ ปี 65 รวมเกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 20% ของจีดีพี

และรู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้สภาพหนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดการณ์ว่าช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยจะแตะร้อยละ 92 แล้ว เพิ่มขึ้นจากหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2563 สูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 89.3 ของจีดีพี

ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยมีกว่า 14.2 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกิด “กับดักหนี้” ที่ผู้กู้ไม่สามารถหลุดออกจากการเป็นหนี้ได้ เพราะการขยายตัวของหนี้สินมากกว่าความสามารถในการชำระหนี้ เสมือนเป็นระเบิดเวลาของเศรษฐกิจหากเราไม่ได้แก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและรวดเร็ว

Advertisement

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน

ดังนั้นเงินกู้และภาษีที่เก็บจากประชาชนทุกบาททุกสตางค์ต้องใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า

แต่ล่าสุดรัฐบาลกำลังนำเงินภาษีของชาวบ้านไปละเลงกันเล่นอีกแล้ว

Advertisement

เมื่อเจ้าหนี้ยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้ยื่นให้ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้

หนึ่งในแผนฟื้นฟู คือ การระดมทุนเพื่อให้การบินไทยดำเนินธุรกิจต่อได้ในวงเงิน 50,000 ล้านบาท คือ 1.สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือบุคคลใดที่ภาครัฐและผู้บริหารแผนร่วมจัดหา ซึ่งอาจอยู่ในรูปเงินกู้ยืม และหรือการค้ำประกัน และ 2.สินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท ที่ได้รับจากการสนับสนุนจากภาคเอกชน

แผนฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้คือ การนำกลับสู่การเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง

จึงมีเสียงคัดค้านของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่โพสต์เฟซบุ๊กไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลขายหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ส่วนหนึ่งออกไปในเวลานั้น เพื่อให้กระทรวงการคลังถือหุ้นน้อยกว่า 50% อันเป็นการทำให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ สามารถใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามรูปแบบเอกชนได้เต็มที่

แต่แผนฟื้นฟูฉบับนี้ให้กู้โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ซึ่งทำให้การบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ

การปรับโครงสร้างงบการเงินที่อยู่ในแผนฟื้นฟูนี้ แปลกประหลาด ไม่มีที่ไหนทำกัน ไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ ไม่ได้เอาผลประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง สะสมปัญหาไว้โดยไม่แก้ไข อันอาจส่งผลกระทบที่ใหญ่ยิ่งกว่าในอนาคต

โดยปกติเมื่อบริษัทขาดทุนถึงขั้นล้มละลาย มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินล้นพ้นตัว ไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนได้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นกลไกที่จะหาทางออกเพื่อรักษาธุรกิจและการจ้างงานไว้ โดยผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องยอมรับความเจ็บปวด เพื่อปรับโครงสร้างกิจการ ทั้งด้านการดำเนินการและทางการเงิน ให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่ง และเดินหน้าต่อไปได้

ผู้ถือหุ้นเดิม หรือเจ้าหนี้ ต้องยอมเสียคนละส่วน ดีกว่าเสียทุกส่วนปล่อยให้บริษัทล้มละลาย

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลัวกลุ่มทุนธนาคารจะขาดทุน กลัวทุกฝ่ายจะเสียประโยชน์

การอุ้มการบินไทยของรัฐบาลจะทำให้สังคมเห็นว่ารัฐจะเข้าไปช่วยเหลือตลอดเวลาที่เกิดปัญหา เหมือนเด็กไม่รู้จักโต ไม่เกิดความรู้สึกว่าต้องทำกำไร ต้องแข่งขันกับโลก หรือต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีปัญหาก็จะคิดว่ารัฐต้องเข้ามาอุ้มแน่นอน จนไม่เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ และนวัตกรรมในสินค้า หรือบริการของตนเอง

ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ หากมีปัญหาเกิดขึ้นรัฐก็จะต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนเข้าไปโอบอุ้มต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกคนคงอยากเห็นการบินไทยเป็นสายการบินที่คนไทยภูมิใจ ด้วยการเป็นสายการบินที่มีบริการยอดเยี่ยมระดับโลก มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ มีนวัตกรรมที่นำหน้าใคร ไม่ใช่ภูมิใจเพียงเพราะมีรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้น

ผมเห็นว่า 7 ปีผ่านมา “บิ๊กตู่” กลายเป็นคนบกพร่องต่อการรับฟังข้อเสนอแนะดีๆ และมีการตัดสินใจที่ล้มเหลวแทบทุกด้าน จะมากะลาแตกให้คนเห็นชัดก็เรื่องแผนจัดการวัคซีนที่กลายเป็นคนล้มเหลวทางความน่าเชื่อถือ

เช่นเดียวกับ แผนฟื้นฟูการบินไทย ผมจึงขอร้อง “บิ๊กตู่” ว่าอย่าหาทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image