เขตหนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา

เขตหนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา

เขตหนองจอก ลาดกระบัง และคลองสามวา

เขตสามเขตคือ เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง และเขตคลองสามวา อยู่ทางฝั่งขวาสุดของกรุงเทพมหานคร ถ้ารวมพื้นที่ทั้งสามเขต จะเท่ากับหนึ่งในสาม ของพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด

ในอดีต พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ลุ่ม แม้จะมีทางน้ำมากมายตามลักษณะของที่ราบลุ่มแม่น้ำในภาคกลางของประเทศ แต่จะมีเพียงคลองแสนแสบ ที่ขุดขยายทางน้ำธรรมชาติเดิม ให้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ระหว่างสงครามกับญวนที่กินเวลาถึง 14 ปีเศษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง จึงมีผู้คนสร้างบ้านเรือนริมคลอง ที่เป็นทางสัญจรติดต่อ มีทั้งแขกจาม ที่อพยพมาจากญวน และมุสลิมจากหัวเมืองภาคใต้ ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และลาวที่กวาดต้อนมาเป็นเชลย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองตามแบบแผนการชลประทานสมัยใหม่ ประกอบด้วย คลองหลัก คลองซอย และประตูระบายน้ำ โดยพระราชวงศ์ ขุนนาง คหบดี และชาวตะวันตกร่วมกันถือหุ้น บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้รับพระบรมราชานุญาตขุดคลองเพื่อพัฒนาพื้นที่ สำหรับปลูกข้าว บริเวณทุ่งหลวง ท้องทุ่งกว้างใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านทิศเหนือของพระนคร

Advertisement

สำหรับคลองสายหลัก ที่เริ่มขุดในปี พ.ศ.2433 เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บ้านใหม่ จ.ปทุมธานี กับแม่น้ำนครนายก ต้องใช้เวลานานกว่า 7 ปีจึงจะแล้วเสร็จ ด้วยคลองสายหลักนี้มีความยาวถึง 56 กิโลเมตร และมีความกว้างถึงแปดวา หรือ 16 เมตร ทำให้ผู้คนเรียกขานในตอนแรกว่า คลองแปดวาบ้าง คลองเจ้าสายบ้าง (ตามพระนามของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์) ก่อนจะได้รับพระราชทานนามว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์

นอกจากคลองหลักนี้แล้ว ยังมีการขุดคลองย่อยต่อเนื่องมากมาย โดยขนาดความกว้างของคลองจะแคบลง เหลือเป็นคลองหกวา คลองสามวา และคลองคูนา รวมแล้วเกือบ 60 คลอง ด้วยเหตุนี้ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาทำนา และสร้างบ้านเรือนริมคลองมากขึ้น เพราะนอกจากความสะดวกในการสัญจรแล้ว สภาพดินและมีน้ำพอเพียงในการทำเกษตรกรรม จนเป็นที่รู้จักและเรียกขานบริเวณนี้ว่า ทุ่งรังสิต

เมื่อมีการจัดระบบการปกครองท้องที่ ของสยามประเทศ เป็นมณฑล ในปี พ.ศ.2440 นั้น

Advertisement

มีประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้เป็น อำเภอหนองจอก อยู่ในพื้นที่การปกครองของมณฑลกรุงเทพฯ มีที่ว่าการอยู่ที่ปากบึงหนองจอก ฝั่งใต้ของคลองแสนแสบ

ต่อมาในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2445 มีแจ้งความของกระทรวงนครบาลในราชกิจจานุเบกษาว่า “…พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวมท้องที่อำเภอคลองสามวา อำเภอแสนแสบ อำเภอจีระดับ และอำเภอหนองจอก 4 อำเภอในทุ่งแสนแสบ ยกขึ้นเป็นเมืองตั้งใหม่ ณ ตำบลสามแยกคลองสามวากับคลองแสนแสบ อยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า เมืองมีนบุรี…” ต่อมา เมื่อมีการยกเลิกมณฑลกรุงเทพฯ ในปี 2458 เมืองมีนบุรีจึงเปลี่ยนมาเป็น จังหวัดมีนบุรี

ในสมัยรัชกาลที่ 7 ครั้นเมื่อการคมนาคมสะดวกมากขึ้น และเพื่อประหยัดรายจ่ายของแผ่นดิน จึงมีการยุบรวมมณฑลและบางจังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดมีนบุรีจึงถูกยุบไปรวมกับจังหวัดพระนคร ยกเว้นอำเภอหนองจอก ไปขึ้นอยู่กับจังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475

แต่ด้วยความไม่สะดวกในการเดินทางและการติดต่อ สภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอพระราชบัญญัติโอนการปกครองอำเภอหนองจอกมาขึ้นกับจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2475 (นับอย่างสากลคือ พ.ศ.2476)

สำหรับ เขตลาดกระบัง เดิมคือ อำเภอแสนแสบ อยู่ในพื้นที่การปกครองของเมืองมีนบุรี มณฑลกรุงเทพฯเช่นกัน ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2470 กระทรวงมหาดไทยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่ออำเภอแสนแสบ เป็น อำเภอลาดกระบัง ด้วยเหตุผลว่า ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลลาดกระบัง คลองประเวศบุรีรมย์ ก็มิได้อยู่ในตำบลแสนแสบ จึงสมควรเปลี่ยนชื่ออำเภอให้ตรงกับที่ตั้งว่าการอำเภอ

เมื่อมีการยุบจังหวัดมีนบุรี ในปี พ.ศ.2475 อำเภอลาดกระบัง จึงมารวมอยู่ในจังหวัดพระนคร และถูกลดเป็นกิ่งอำเภอลาดกระบัง ขึ้นกับอำเภอมีนบุรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2481

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 มีพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอลาดกระบัง ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าเริ่มมีประชากรมากขึ้น ท้องที่เจริญขึ้น และต่อมาในปี พ.ศ.2504 มีการโอนตำบลแสนแสบ ไปขึ้นกับอำเภอมีนบุรี

การรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดฝั่งธนบุรีเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เมื่อ ปี พ.ศ.2515 และเปลี่ยนเป็นเขตการปกครองพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงเปลี่ยนมาเป็นเขตหนองจอก และเขตลาดกระบังใน พ.ศ.2516

สำหรับชุมชนสองฝั่งคลองที่มีขนาดสามวา จึงเรียกขาน คลองสามวา บ้านสามวาฝั่งตะวันตก และบ้านสามวาฝั่งตะวันออก จนเป็นที่มาของตำบลสามวา และอำเภอคลองสามวา ในเวลาต่อมา

เมื่อมีการตั้งเมืองมีนบุรีขึ้นนั้น อำเภอคลองสามวากลายเป็นอำเภอเมือง จังหวัดมีนบุรี แต่เมื่อมีการยุบจังหวัดมีนบุรี ไปรวมอยู่ในจังหวัดพระนคร และเป็นเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา

จนกระทั่งใน วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2540 กระทรวงมหาดไทยประกาศแยกพื้นที่ 5 แขวง ทางด้านเหนือของเขตมีนบุรี ได้แก่ แขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก แขวงบางชัน แขวงทรายกองดิน และแขวงทรายกองดินใต้ ตั้งเป็นเขตใหม่ และให้ชื่อว่า คลองสามวา ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์

ปัจจุบัน เขตหนองจอก เป็นเขตที่มีพื้นที่มากที่สุดของกรุงเทพมหานคร คือมีพื้นที่มากถึง 236.261 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดอำเภอลำลูกกา ปทุมธานี   ทิศตะวันออกติดอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา ทิศใต้ติดเขตลาดกระบัง และทิศตะวันตกติดเขตมีนบุรี และเขตคลองสามวา ประกอบด้วย 8 แขวง ได้แก่ กระทุ่มราย หนองจอก คลองสิบ คลองสิบสอง โคกแฝก คู้ฝั่งเหนือ ลำผักชี และลำต้อยติ่ง

ทุกวันนี้ในพื้นที่เขตหนองจอกยังมีผู้คนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวและพืชผักของกรุงเทพฯ มีผู้นับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 75 ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงเป็นที่ตั้งของสำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร

เขตลาดกระบัง มีพื้นที่ 123.859 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับเขตมีนบุรีและเขตหนองจอก ทิศตะวันออกติดกับอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ทิศใต้ติดกับ อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง และอำเภอบางพลี สมุทรปราการ ทิศตะวันตกติดกับ เขตประเวศและเขตสะพานสูง ประกอบด้วย 6 แขวง ได้แก่ ลาดกระบัง คลองสองต้นนุ่น คลองสามประเวศ ลำปลาทิว ทับยาว และขุมทอง

เขตคลองสามวามีพื้นที่ 110.686 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดกับอำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี ทิศตะวันออกติดกับเขตหนองจอก ทิศใต้ติดกับเขตมีนบุรี ทิศตะวันตกติดกับเขตคันนายาว เขตบางเขน เขตสายไหม ประกอบด้วย 5 แขวง ได้แก่ สามวาตะวันตก สามวาตะวันออก บางชัน  ทรายกองดิน และทรายกองดินใต้

หนองจอกหมายถึง แอ่งน้ำที่มีจอก พืชน้ำชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นดอก ลาด หมายถึงเทต่ำ หรือเอียงอย่างช้าๆ กระบัง ไม่ปรากฏในพจนานุกรม มีแต่คำว่า กะบัง ที่มีความหมายว่า เครื่องกั้น เครื่องรับ และหมายถึงเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนแหรูปกรวยแหลม วางกั้นทางน้ำให้ปลาเข้าไปติด

และคลองสามวาเป็นชื่อคลองที่มีลักษณะความกว้างสามวา

นามเขตทั้งสามเกี่ยวเนื่องกับน้ำตามสภาพพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ในวันวาน ก่อนที่จะแปรเปลี่ยนสภาพเป็นเมือง ในวันนี้

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image