กม.การศึกษา…เรื่องควรทำกลับไม่ทำ

กม.การศึกษา...เรื่องควรทำกลับไม่ทำ

 

กม.การศึกษา…เรื่องควรทำกลับไม่ทำ

ที่ประชุม ครม.ยอมงอไม่ยอมหัก รับข้อเรียกร้องของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ รวม 3 ประเด็นใหญ่

1.คงหลักการให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง 2.เปลี่ยนใบรับรองความเป็นครูเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอย่างเดิมและเปลี่ยนคำเรียกหัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา 3 ให้กำหนดโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้เลย

Advertisement

เมื่อปรับเสร็จจะเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับของรัฐบาล ส่งเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป หลังการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2565 และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตราหลายฉบับ เสร็จสิ้น จะเข้าทันก่อนปิดสมัยประชุม หรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดชนิดวันต่อวันเลยทีเดียว

เพราะความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ บวกกับโควิด-19 ยังพุ่งต่อเนื่อง ร่างกฎหมายสำคัญทางการศึกษาจะต้องใช้เวลารออีกนานแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้

กล่าวเฉพาะร่างกฎหมายนี้นอกจากของรัฐบาลแล้วยังมีที่ส่งเข้าไปประกบอีกอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับแรกของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่สองของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ค.ค.ท.) แต่ละฉบับมีหลักการและรายละเอียดแตกต่างกันไป

เมื่อรัฐบาลยอมปรับร่างของตัวเอง เท่ากับข้อเรียกร้องต้องการของเครือข่ายองค์กรครูประสบผลสำเร็จไประดับหนึ่ง ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพครู กับผลประโยชน์ของครูเป็นหลัก

น่าเสียดายที่รัฐบาลตอบรับหลักการเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ขณะที่อีกเรื่องซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางการศึกษา ด้วยการปรับระบบการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ ไม่ยืนยันและปรับใส่ในร่างเสียเลยในคราวเดียวกัน

นั่นคือหลักการตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 16 ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู

กลับไปเน้นเรื่องโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะพบว่า เขียนไว้ในมาตรา 106 ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการให้สอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ โดยจะต้องดำเนินการให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภายในทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เป็นไปอย่างมีเอกภาพและสามารถบูรณาการระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานภายในกระทรวงและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การจัดการการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ข้อความในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ของรัฐบาลส่งสัญญาณชัดว่า จะต้องปรับโครงสร้างการบริหารกระทรวงศึกษาธิการตามหลักการบริหารแบบ ซิงเกิล คอมมานด์ อำนาจการบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทุกแท่งต้องชงเรื่องผ่านปลัดเพื่อเสนอรัฐมนตรี

ตรงประเด็นนี้แหละครับ ทั้งผู้บริหารระดับสูง ซี 11 เท่ากัน 4 แท่ง ปลัดกระทรวง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา

ผู้บริหารระดับรองๆ ลงมา ไปจนถึงหัวหน้าหน่วยงานในแต่ละสังกัด กระทั่งผู้บริหารสภานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในทุกสังกัด ยอมรับกันได้ไหมกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกครั่้งใหญ่ในห้วงเวลาสองปีต่อจากนี้

การเขียนกฎหมายให้คนในกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเอง นึกภาพแล้วน่าวิตกว่าใครจะยอมตัดทอดอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง นอกจากมีองค์คณะภายนอก ไม่มีประโยชน์ได้เสีย มีความเป็นกลางเป็นผู้ดำเนินการ โดยรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้รับผลพวงของการบริหารการศึกษาโดยตรง

เฉพาะแค่ปัญหาช่องว่างระหว่าง ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) กรรมการการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งยังดำรงอยู่เพราะอยู่คนละสังกัด ยังไม่สามารถหาจุดลงตัวและปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน

ปรับโครงสร้างใหญ่ ทั้งกระทรวง จะส่งผลกระทบต่อการบริหารสถานศึกษา บริหารการศึกษา การจัดการเรียนการสอน อีกครั้งหรือไม่ ต้องตอบคำถามสำคัญคือ เด็กนักเรียนได้อะไร ให้ชัดก่อน

ถ้าตอบไม่ได้ชัดเจน เขียนกฎหมายออกมาแล้วมีปัญหาทางปฏิบัติ สู้ทำเรื่องที่เกิดผลมากกว่าก่อน คือ ยกเครื่องเรื่องครูทั้งหมด ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่ามา ดีกว่า ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image