ผลทดสอบทางการศึกษา คุณภาพโรงเรียน และเศรษฐกิจจังหวัด

ผลทดสอบทางการศึกษา คุณภาพโรงเรียน และเศรษฐกิจจังหวัด

ผลทดสอบทางการศึกษา คุณภาพโรงเรียน
และเศรษฐกิจจังหวัด

1

เด็กไทยทุกคนต้องเข้ารับการทดสอบทางการศึกษา ในปัจจุบันมีเด็กเข้ารับการทดสอบเกือบสองล้านคน มากที่สุดคือระดับ ป.6 การสอบเป็นเรื่องของ “เด็ก” แต่ความจริงก็เป็นเรื่องของ “ผู้ใหญ่” ด้วย คือ ผู้ปกครอง โรงเรียน จังหวัด กระทรวง ล้วนมีบทบาทเกี่ยวข้อง ในโอกาสนี้ขอนำผลทดสอบทางการศึกษา ป.6 ในปี 2562 มาวิเคราะห์เพื่อสะท้อนความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจังหวัด (จน-ปานกลาง-ราย) โดยปริยาย

2

Advertisement

ก่อนอื่นขอแสดงความขอบคุณสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติที่จัดการทดสอบ มีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายจัดทำการทดสอบและเป็นเรื่องดี (เป็นหลักปฏิบัติสากลเมื่อจัดการศึกษาแล้วต้องประเมินผล) เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนหรือประกอบการกำหนดนนโยบาย (ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน ระหว่างจังหวัด) ผลพลอยได้คือการได้มีบิ๊กดาต้า (เป็นรายบุคคล รายโรงเรียน) ส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยหลายมิติ ในที่นี้ให้ความสำคัญเรื่องความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มโรงเรียน (ร.ร.สาธิต ร.ร.เอกชน สพฐ. ท้องถิ่น เป็นต้น) และระหว่างจังหวัด

ฐานข้อมูลที่นำมาคำนวณในที่นี้ ประกอบด้วยเด็ก 787,204 คน สังกัดในโรงเรียน 30,805 แห่ง นำมาใส่รหัสจังหวัดและภูมิภาค รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจายของโรงเรียนที่มีเด็กเข้ารับการทดสอบ (ป.6) กระจายตามหน่วยงานและภูมิภาค ตัวเลขสะท้อนจำนวน ซึ่งชัดเจนว่าสังกัดสำนักงานการศึกษาพื้นฐานมากที่สุดและกระจายในภาคอีสานมากที่สุด ลำดับรองลงมาคือ ร.ร.เอกชน และ ร.ร.สังกัดท้องถิ่น ร.ร.สาธิตมี 42 แห่งเท่านั้นมิได้กระจายทั่วทุกจังหวัดผลทดสอบทางการศึกษา คุณภาพโรงเรียน และเศรษฐกิจจังหวัด

Advertisement

นักวิจัยนำคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนมาจัดจำแนกกลุ่มทำนองเดียวกับนักชีววิทยา กลุ่ม 1 คะแนนน้อยที่สุด กลุ่ม 2 ค่อนข้างน้อย กลุ่ม 3 ปานกลาง กลุ่ม 4 ดี และ กลุ่ม 5 ดีมาก ดังแสดงใน ตารางที่ 1 กลุ่มแรกคะแนนเฉลี่ย 110.2 (ค่าพิสัยระหว่าง 47.5 ถึง 118.6) กลุ่มที่สองเริ่มจาก 118.6 ถึง 128.1

3

ลำดับต่อไปเราวิจัยมิติพื้นที่ (จังหวัด/ภาค) เป้าหมายคืออยากรู้ความจริงว่า คุณภาพการศึกษาในจังหวัดแตกต่างกันเพียงไร โดยสันนิษฐานว่า สภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมีส่วนกำหนดคุณภาพการศึกษา เช่น จังหวัดรวยหรือเจริญมี ร.ร.สาธิต ร.ร.เอกชน สพฐ. และท้องถิ่น คุณภาพครูดีกว่ามีครูชำนาญการครบสาระวิชา มีอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการดีกว่าและอื่นๆ ได้ทดลองแบบเล่นๆ สุ่มตัวอย่างจังหวัด 2 แห่ง คือ ชัยภูมิและภูเก็ต รูปภาพที่ 2 แสดงการกระจายของโรงเรียนใน จ.ชัยภูมิ การจัดการโรงเรียนในจังหวัดนี้ ดำเนินการโดย สพฐ.เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้ 185 แห่งอยู่ในกลุ่มที่หนึ่ง 152 แห่งในกลุ่มที่สอง (ผลการเรียนต่ำหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย) ขณะที่ ร.ร.ในสังกัดท้องถิ่นมีเพียง 9 แห่งคะแนนเฉลี่ยปานกลางถึงต่ำมาก และไม่มี ร.ร.สาธิตภายในจังหวัดชัยภูมิ

 

รูปภาพที่ 3 จ.ภูเก็ต การจัดการส่วนใหญ่ยังดำเนินการโดย สพฐ. ผลสอบส่วนใหญ่ในลำดับ 1-3 (ยังไม่น่าพอใจ) แต่มีข้อสังเกตว่า 7 แห่งจัดในกลุ่มที่ห้า (ดีมาก) และ 9 แห่งกลุ่มที่สี่ (ดี) มี ร.ร.เอกชน 14 แห่งในจำนวนนี้ 11 แห่งอยู่ในกลุ่ม 5 (ดีมาก) ร.ร.ของท้องถิ่น 13 แห่ง อยู่ในลำดับดีมากถึง 8 แห่ง (ทีมวิจัยของเราจะหาโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการ รอให้โรคไวรัสระบาดซาลง) และ ร.ร.สาธิตเพียงแห่งเดียว

ทีมวิจัยของเราไม่ใช่นักการศึกษา ส่วนใหญ่ผ่านการอบรมในสาขาเศรษฐศาสตร์การจัดการหรือรัฐประศาสนศาสตร์ ดังนั้นสนใจการจัดสรรทรัพยากรและระบบบริหารจัดการภาครัฐ หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น-เราได้ข้อคิดเห็นเพื่อเสนอประชาคมช่วยวิจารณ์ติชม ประการแรก มีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะขยาย ร.ร.สาธิต ให้ทั่วถึงทุกจังหวัดเป็นการขยายโอกาส ในแต่ละจังหวัดเชื่อว่ามีผู้ปกครองฐานะดีหรือปานกลางสามารถสนับสนุนให้เด็กได้เรียนดีแม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น? อุปสงค์มีแน่นอน ประการที่สอง ร.ร.สาธิตส่วนใหญ่ดำเนินการโดยสถาบันอุดมศึกษา ถ้าหากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสนใจพัฒนา ร.ร.สาธิต ก็ไม่น่าจะผิดกติกาอันใด คนท้องถิ่นสามารถขอคำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยที่จัดการ ร.ร.สาธิตมาเป็นเวลายาวนาน อบจ. เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง มีทรัพยากรพอสมควร คือ พื้นที่ งบประมาณ เครื่องใช้ไม้สอย และสำคัญบุคลากรรุ่นใหม่ที่มองการณ์ไกลเป็นนักจัดการ อยากจะขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ ถ้าหากลงมาจัดการ ร.ร.สาธิตให้มีคุณภาพและราคาย่อมเยา เพราะว่าท้องถิ่นไม่มุ่งเน้นแสวงหากำไร

พอให้คุ้มทุนหรือขาดทุนเล็กน้อยแต่ว่าสังคมได้กำไรมาก ตามหลักเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นผลดีต่อสวัสดิการสังคม

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
สุวิมล เฮงพัฒนา
เมรดี อินอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image