รัฐสภายุโรปลงมติ‘แช่แข็ง’ ข้อตกลงการลงทุนจีนกับสหภาพยุโรป

รัฐสภายุโรปลงมติ‘แช่แข็ง’ ข้อตกลงการลงทุนจีนกับสหภาพยุโรป

รัฐสภายุโรปลงมติ‘แช่แข็ง’
ข้อตกลงการลงทุนจีนกับสหภาพยุโรป

รัฐสภายุโรปได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ระงับการพิจารณา “ข้อตกลงการลงทุนระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปแบบครอบคลุม” (CAI) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021
(CAI=China-EU Comprehensive Agreement on Investment)

ทั้งนี้ เนื่องจากจีนได้ตอบโต้การคว่ำบาตรองค์กรสหภาพยุโรปเกี่ยวกับปัญหาซินเจียง

อันเนื่องจากสหภาพยุโรปได้กล่าวหาว่าจีนกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ด้วยการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นระบบ จึงทำการคว่ำบาตรจีน

Advertisement

จีนทำการตอบโต้โดยพลัน ด้วยการคว่ำบาตรเช่นกัน เสมือน “แลกหมัด” กัน

เด่นชัดยิ่งว่า ความเป็นปรปักษ์ของรัฐสภายุโรปที่มีต่อจีนนั้นลุ่มลึก

ท่ามกลางภาวะที่ปราศจากความจำกัดนั้น เกิดเหตุการณ์ “แช่แข็ง” ข้อตกลงในครั้งนี้

Advertisement

จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย

เหตุการณ์แช่แข็งข้อตก CAI ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพยุโรป หากเป็นการกระทบทางการค้าในเชิงสัญลักษณ์

ในความเป็นจริง ข้อตกลงดังกล่าวมีผลประโยชน์ต่อสหภาพยุโรปมากกว่าจีน ถ้าหากข้อตกลงล้มเหลว จีนเพียงแต่ “เสียหน้า” แต่สหภาพยุโรปต้อง “เสียผลประโยชน์”

การประชุมเกี่ยวกับ CAI ได้ใช้เวลาถึง 7 ปี รวม 35 ครั้ง

ผู้แทนจีนและสหภาพยุโรปได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความสำเร็จการเจรจาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2020 และกำหนดไว้ว่าจะทำการลงนามภายในสิ้นปี 2021

การที่สหภาพยุโรปอนุมัติข้อตกลงจะต้องผ่านการรับรอง 2 ขั้นตอนคือ สมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ และรัฐสภายุโรป แต่เนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคม ก่อนการพิจารณาประเด็นดังกล่าว สหภาพยุโรปได้ร่วมกับสหรัฐ สหราชอาณาจักรและแคนาดา ร่วมการคว่ำบาตรองค์กรของจีนในประเด็นซินเจียง จีนจึงตอบโต้โดยการคว่ำบาตรชาวยุโรป 10 คน

ในจำนวนนี้รวมทั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและสมาชิกรัฐสภายุโรป 5 คน

จึงเป็นเหตุให้รัฐสภายุโรปงดการการพิจารณาวาระ CAI อย่างกะทันหัน

การระงับการพิจารณาวาระดังกล่าว จีนไม่สะทกสะท้าน

ในทางตรรกะ CAI เสมือนสัญญาต่างตอบแทน ปักกิ่งให้น้ำหนักในด้านการเมืองภูมิภาค ส่วนสหภาพยุโรปให้ความสำคัญในด้านผลประโยชน์

ตัดกลับไปที่โต๊ะการเจรจาเมื่อปลายปีที่แล้ว เนื่องจากสหภาพยุโรปได้เล็งเห็นการเจรจาทางการค้าเบื้องต้นระหว่างจีนกับสหรัฐมีความก้าวหน้าตามลำดับ และมีความกังวลเกี่ยวกับความพ่ายแพ้แก่สหรัฐในตลาดการค้าจีน ในที่สุดจึงได้บรรลุข้อตกลงกับจีน

ฉะนั้น การที่ CAI ได้ถูกรัฐสภายุโรปงดพิจารณาวาระดังกล่าวนั้น

สำหรับปักกิ่ง ถือเป็นการประเมินผิดพลาดเกี่ยวกับการเมืองภูมิภาคเท่านั้น

ส่วนสหภาพยุโรปย่อมต้องถือว่าเป็นการสูญเสียโอกาสอันยิ่งใหญ่ในตลาดการค้าจีน

ดังนั้น ไม่ว่ารัฐสภายุโรป ไม่ว่าคณะกรรมการสหภาพยุโรป ใช้เพียงคำว่า “แช่แข็ง” หรือ “ระงับ” เท่านั้น แต่ยังไม่ปรากฏมีอักษรตัวใดระบุว่า “ยุติหรือยกเลิก”

จึงดูเหมือน เป็นการสำรอง “ช่องว่าง” เอาไว้

การที่รัฐสภายุโรปอาศัย CAI เป็นเครื่องมือทำการกดดันจีนในประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องเปลืองแรง เพราะกรณีเป็นการคุกคามอธิปไตยของจีน
ประเด็นมีอยู่ว่า จีนจะเช็กบิลเฉพาะการเมืองภูมิภาคเท่านั้น หากมิใช่เศรษฐกิจ

สหภาพยุโรปเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การจะแก้ไขปัญหาซินเจียงโดยการยกเลิกข้อตกลงการร่วมลงทุนนั้น ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

หากพินิจในด้านตรรกะ CAI เกิดประโยชน์ต่อเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีมากกว่าประเทศเล็กซึ่งได้ประโยชน์จากการนั้นไม่มาก

แม้สหรัฐเข้าร่วมธุรกรรม และสมมุติว่ารัฐสภายุโรปลงมติรับรอง ก็มิใช่จะบรรลุการรับรองข้อตกลงได้สำเร็จ เหตุผลคือ ภาคีสมาชิกสหภาพยุโรปเช่นรัฐบอลติกและประเทศเช็กเกียซึ่งมีความขุ่นข้องหมองใจกับประเทศจีนมากอยู่ คงไม่ยอมร่วมกิจกรรม

หากพินิจถึงความเป็นไปได้ของข้อตกลง CAI ท่ามกลางอุณหภูมิอันสูงยิ่งระหว่างความสัมพันธ์จีนกับยุโรป การที่จะให้รัฐสภายุโรปอนุมัติภายในปีนี้ คงเป็นไปได้ยาก

อันข้อตกลง CAI เป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงถึงความสัมพันธ์จีน-ยุโรปเท่านั้น ส่วนปัญหาซินเจียงคือธุรกรรมที่สหรัฐเดินสายให้สหภาพยุโรปร่วมมือกัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการคว่ำบาตรจีน โดยมิได้ประเมินว่าจะได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากจีน

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐยังมีบารมีมากพอที่จะโน้มน้าวชาวยุโรป

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปักกิ่งถึงขั้น “เรียมเหลือทน”

จากการสำรวจล่าสุด ปี 2020 การค้าสองฝ่ายระหว่างจีนกับยุโรป ยอดรวมคือ 5.860 แสนล้านยูโรดอลลาร์ ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนนำหน้าสหรัฐ กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป ส่วนสหภาพยุโรปคือคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 2 ของจีน

ดังนั้น แม้ไม่มี CAI การค้าระหว่างจีนกับยุโรปก็สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

และแม้ประเด็นสิทธิมนุษยชน สหรัฐและยุโรปมีจุดยืนเดียวกัน แต่ก็มิได้หมายความว่า ทุกประเด็นที่เกี่ยวกับจีนนั้นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ เนื่องจาก “อังเกลา แมร์เคิล” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นผู้ที่สนับสนุน CAI อย่างเสมอต้นเสมอปลาย อีกทั้งเน้นย้ำว่า ข้อตกลงดังกล่าวคือคำมั่นที่สำคัญที่สุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับจีน ไม่ควรพิจารณาเฉพาะสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมเท่านั้น หากต้องคำนึงถึงผลดีทางเศรษฐกิจและภาวการณ์ด้านตลาดด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะ CAI ถูกแช่แข็ง “อังเกลา แมร์เคิล” และ “เอ็มมานูแอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็ยังร่วมประชุมสุดยอดภูมิอากาศกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

นอกจากนี้ “สี จิ้นผิง” ยังได้ร่วมประชุม Global Health Summit ซึ่งมีอิตาลีและสหภาพยุโรปเป็นเจ้าภาพ อีกทั้งได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ทางวีดิทัศน์อีกด้วย

กรณีเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การระงับ CAI มิใช่เป็นการแช่แข็งร้อยเปอร์เซ็นต์ ความสัมพันธ์จีนกับยุโรป จีนกับฝรั่งเศส เยอรมนีและอิตาลี ตลอดจนสหภาพยุโรปนั้น

แนวโน้มการปรับความสัมพันธ์ต้องมีแน่

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image