เดินหน้าชน : ถลุงอีก5แสนล. โดย โกนจา

แม้ภาพเบื้องหน้าเสถียรภาพรัฐบาลดูเปราะบาง แต่เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลยังเกาะเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ที่ลงตัว จึงรับประกันได้ว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่เข้าสภาคงผ่านไปด้วยเสียงท่วมท้น เหมือนงบ 65 ที่ผ่านวาระแรกที่บรรดา ส.ส.รัฐบาล “อภิปรายดั่งราชสีห์ แต่โหวตอย่างหนู”

ผลพ่วงที่เป็นรูปธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เคยออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจไทยยังคงทรุดหนัก กำลังเดินเข้าสู่เมรุเผาศพในไม่ช้า

แผนงานที่ใช้เยียวยา 550,000 ล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท และสาธารณสุข 45,000 ล้านบาท ตัวเลขทางเศรษฐกิจยังย่ำติดดิน ที่น่าหดหู่ใจ คือ การตั้งงบสาธารณสุขไว้ถึง 45,000 บาท แต่ไม่มีวัคซีนเพียงพอที่จะกระจายให้ประชาชนได้ฉีด ไม่สามารถเลือกยี่ห้อได้ ขนาดเรื่องจัดการวัคซีนซึ่งเป็นเรื่องที่ง่ายๆ ยังบริหารได้อย่างล้มเหลวเละเทะ

ดังนั้นอย่าคาดหวังว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ยุ่งยากและซับซ้อน รัฐบาลจะเอาสติปัญญาที่ไหนมาแก้ไขให้ลุล่วง

Advertisement

พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท เขียนไว้กว้างๆ ด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท เยียวยา 3 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.7 แสนล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง

ผมเห็น พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ตั้ง 10 คำถามคาใจเงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ไว้อย่าน่าสนใจ

1.การออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน จะผิดวินัยการเงินการคลังและผิดกฏหมายหรือไม่ เพราะทำให้หนี้สาธารณะของไทยพุ่งทะลุเกินเพดาน 60% ของจีดีพี

Advertisement

2.การออก พ.ร.ก.เงินกู้อีก 5 แสนล้านนี้จะยิ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลจะกู้เงินมาใช้มากกว่าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นไปอีกใช่หรือไม่ เพราะในงบประมาณปี 65 มีการกู้ 7 แสนล้านบาท แต่ลงทุนเพียง 6.24 แสนล้านบาท การกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกู้มาใช้เกือบทั้งหมด ยิ่งจะตอกย้ำสิ่งที่นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ได้เตือนไว้แล้วว่าจะเสี่ยงล้มกันทั้งประเทศ

3.เงินกู้ก้อนนี้จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นอีก 1.5%-2.5% ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อคราวที่แล้วใช้ไป 1 ล้านล้านบาท ยังช่วยได้เพียง 2% เท่านั้น แสดงถึงความล้มเหลวซ้ำซ้อนของรัฐบาลใช่หรือไม่

4.ตอนแรกตั้งใจกู้ 7 แสนล้านบาทตามที่ ครม.ได้อนุมัติแล้ว สุดท้ายกู้ 5 แสนล้านบาท อยากทราบว่าได้ตัดการใช้จ่ายเรื่องใดออกไปบ้าง และทำไมถึงตัด หรือไม่ได้มีแผนงานแต่แรกแต่กู้ไว้ก่อนแล้วค่อยมาคิด จึงสามารถลดได้ตามชอบใจใช่หรือไม่

5.มีงบของกระทรวงกลาโหมแอบซุกอีกหรือไม่

6.จะมีการกำหนดกรอบการใช้ให้ชัดเจนได้หรือไม่ เพื่อให้ใช้เงินที่กู้มาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อป้องกันการทุจริต ไม่ใช่เป็นการตีเช็คเปล่าเหมือนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อีกทั้งจะมีแนวทางในการตรวจสอบทุจริตได้อย่างไร

7.การใช้จ่ายสาธารณสุข 30,000 ล้านบาท จะมีการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนอย่างเพียงพอและทั่วถึงหรือไม่ มีวัคซีนให้เลือกหรือไม่ ซึ่งต้องฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เชื่อได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

8.แผนงานเยียวยา 3 แสนล้าน จะเยียวยาอย่างไร ที่ผ่านมาก็แจกแบบกระจัดกระจาย เหตุใดไม่รวมกับเงินที่เหลือ 3.8 แสนล้านบาทในครั้งแรก แล้วจ่ายเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือนตั้งแต่แรก หรือเพราะไม่ได้มีการคิดวางแผนกันไว้ก่อนล่วงหน้าเลย คิดแต่จะแจกสะเปะสะปะเท่านั้นใช่หรือไม่

9.การกระตุ้นเศรษฐกิจ 170,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ในด้านใดบ้าง จะทำตามแบบเดิมในการกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ล้มเหลวหรือไม่ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซึ่งกรอบคิดเล็กเกินไปที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้

และ 10.รัฐบาลมีแนวทางในการใช้หนี้ หรือลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้อย่างไร หรือคิดแต่จะกู้ไปเรื่อยๆ จนหนี้ท่วมประเทศใช่หรือไม่

ถือเป็น 10 คำถามที่เชื่อว่า “พิชัยและชาวบ้าน” ก็คงไม่ต้องการคำตอบ เพราะ 7 ปีที่ผ่านมา พวกเราต่างรู้ซึ้งถึงฝีไม้ลายมือของคนชื่อ “บิ๊กตู่” ดีอยู่แล้ว …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image