พ.ร.บ.การศึกษา คำตอบสุดท้ายจริงหรือ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รมต.กระทรวงศึกษาชื่อตรีนุช ยอมงอ ไม่ยอมหัก ยอมปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มองค์กรครู ให้เปลี่ยนถ้อยคำ ใบรับรองความเป็นครูเป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เปลี่ยนคำเรียกหัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้บริหารสถานศึกษา และให้เขียนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการไว้ในร่างกฎหมายใหม่นี้ด้วย

สังคมวงการศึกษาไทยมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ครั้งใหญ่ของระบบการศึกษาไทย เพราะมีบทบัญญัติในเรื่องดีๆ ไว้หลายจุดซึ่งฉบับ พ.ศ.2542 ไม่ได้เขียนไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความอิสระในการบริหารจัดการการศึกษากับสถานศึกษา ซึ่งเป็นจุดแตกหักของการปฏิรูปการศึกษา คือ โรงเรียนและห้องเรียน

แต่ผู้สนใจติดตามปัญหาการศึกษาอีกไม่น้อยยังไม่มั่นใจเต็มที่นัก ว่ากฎหมายจะเป็นยาอายุวัฒนะหม้อใหญ่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรค ที่เป็นคอขวดทั้งหลายจะหมดสิ้นไป

Advertisement

กลุ่มหลังนี้มองว่า ปัญหาไม่ใช่อยู่แค่ตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่อยู่ที่การบังคับใช้ การปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นจริง

ตรงนี้ต่างหากเกี่ยวข้องกับคนและองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย ทำหรือไม่ เมื่อไม่ทำ กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้หรือไม่

กฎหมายจะเป็นเครื่องมือในการทำลายกำแพงอำนาจอันแข็งแกร่งได้จริง ก็ต่อเมื่อผู้ใช้กฎหมายมีความกล้าหาญ เด็ดขาด เอาจริงเอาจัง

ที่สำคัญยอมสละอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยมีเคยได้ หันไปมองที่ผลประโยชน์ของนักเรียน และสังคมโดยรวมเป็นตัวตั้ง ก่อนอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเอง

อีกทั้งมีกลไกการติดตาม กำกับ ตรวจสอบ ที่มีความเปิดเผยโปร่งใส มีประสิทธิภาพ

ความเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น นอกจากการจัดระบบโรงเรียนให้มีคุณภาพแล้ว คุณภาพของคนเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน

โดยเฉพาะครูซึ่งใกล้ชิดกับตัวนักเรียนมากที่สุดรองไปจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หากครูไม่เปลี่ยนแปลงความคิด และพฤติกรรมการสอนจากความเคยชินเดิม เน้นสอนให้ท่องจำมากว่าสอนให้คิดและตั้งคำถาม ผิดเป็นครู ถูกเป็นครู

ไม่เปลี่ยนจากครูอำนาจเป็นครูอำนวยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เน้นการปฏิบัติลงมือทำจริงให้มาก ความหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นจริงก็ยังห่างไกลอยู่เช่นเดิม

ครูไม่เปลี่ยน ไม่พัฒนา การศึกษาไทยไปไม่รอด แม้มีกฎหมายใหม่ก็เถอะช่วยได้แค่ส่วนหนึ่ง และจะช่วยได้มากหากกฎหมายใหม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้จริง

นั่นคือระบบการผลิต การใช้และการพัฒนาครู ต้องทำให้เป็นจริง ซึ่งต้องรอติดตามผลการประชุมรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.จะช่วยกันออกแบบระบบครูยุคปฏิรูปใหม่ออกมาอย่างไร จะผลักดันข้อเสนอขององค์กรครูในเรื่องนี้หลอมรวมเข้ากับกฎหมายฉบับของรัฐบาลสำเร็จหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเคลื่อนไหวในระดับรัฐบาลและรัฐสภากำลังดำเนินไป มีความเคลื่อนไหวในระดับหน่วยปฏิบัติ เริ่มขยับตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ต้องรอผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายออกมาเสียก่อนถึงจะเคลื่อนตัว

นั่นคือ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ) มีประชุมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เห็นชอบให้ ก.ค.ศ.จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท) องค์กรครูที่ยังข้องใจในเนื้อหาร่าง กม.การศึกษาใหม่หลายประเด็น

ความร่วมมือดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาและศึกษานิเทศก์

มีบันทึกข้อตกลง เชื่อมโยงแผนการผลิตครูของ ส.ค.ศ.ท.และการใช้ครูของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ดีมานด์และซัพพลายสอดคล้องกัน ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างผลิตจนบัณฑิตครูล้นตลาด ขาดคุณภาพและไม่มีงานทำ

สถาบันผลิตครูจะตอบสนองความต้องการ มีตำแหน่งงานรองรับจาก 3 ส่วน สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร และความต้องการครูของภาคเอกชน ขณะที่ราชบัณฑิตยสภาจะช่วยสนับสนุนงานวิชาการ การทำวิจัยและการบริหารงานบุคคล

ครับ ความเป็นไปนี้ น่าติดตามว่าการปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นไร โดยไม่ต้องรอคณะกรรมการพัฒนาครูระดับชาติที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ในระดับบริหารสามารถดำเนินการได้เองเลย กลไกความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

แต่ผู้บริหารระดับสูงใส่ใจกับเสียงเรียกร้องผลประโยชน์ของครู และความนิยมทางการเมืองของตนเองและรัฐบาลเป็นหลักมากกว่า

การพัฒนาเชิงระบบจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นอย่างที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image