วิกฤตโควิด19-วิกฤตเศรษฐกิจ สู่วิกฤตทางปัญญา โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ภายหลังประชุมสภาผู้แทนฯ และลงมติรับหลักการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 วงเงินงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท ขั้นตอนหลังจากนี้เป็นหน้าที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกลั่นกรองรายละเอียด ร่างกฎหมายก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระสองเรียงลำดับมาตรา และลงมติโหวตวาระที่สาม ในระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค.2564 จากนั้นส่งไม้ต่อให้ที่ประชุมวุฒิสภาวันที่ 23-24 ส.ค.2564 ก่อนที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขึ้นทูลเกล้าฯถวายวันที่ 7 ก.ย.2564 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

หากมองในมุมเทคนิคทางกฎหมาย กล้าพูดได้ว่าการกำหนดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่น่ามีปัญหา แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เนื่องด้วย “รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์เพื่อพวกเรา” มีทางออกฉุกเฉินในมาตรา 143 ที่บัญญัติชัดเจน ว่า…ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมและร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 105 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าสภาผู้แทนฯเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อ “วุฒิสภา” เพื่อพิจารณา

ในการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วันนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ไม่ได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินั้น

Advertisement

หากจะแปลให้เป็นภาษาไทยง่ายๆ ก็คือ สภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบ 105 วันนับจากวันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564

ดังนั้น ไม่ว่าจะฟ้าผ่าฟ้าร้องอย่างไร ภายในกรอบ 105 วัน สภาผู้แทนราษฎร ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่เสร็จให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยอัตโนมัติทันที

ส่วนวุฒิสภา เมื่อได้รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกรอบ 20 วัน ถ้าพ้นกรอบเวลาที่กำหนดให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบโดยอัตโนมัติเช่นกัน

Advertisement

หากเมื่อพิจารณาตามเนื้อผ้าโจทย์ยากของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ที่ปัญหาเทคนิค ข้อกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ วางค่ายกลทางออกฉุกเฉินหลายแบบ

หากแต่ปัญหาหลักของท่านผู้นำนาทีนี้คือ เรื่องของการกอบกู้ “วิกฤตศรัทธา” ที่คนไทยบางส่วนในสังคมเริ่มไม่เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ถือ “ธง” นำประเทศไทยฝ่าสารพัดวิกฤตรุมเร้า

หากจับสัญญาณการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 3 วันแล้ว ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลออกมารุมถล่มการจัดทำงบประมาณที่ไม่ตรงโจทย์ประเทศ

“พรรคประชาธิปัตย์” อภิปรายพุ่งเป้าไปที่ฐานะการคลังและหนี้สาธารณะ 8.4 ล้านล้านบาท ที่ให้รับเป็นปัญหาใหญ่ ท้ายที่สุดนำไปสู่ภาระที่รัฐบาลก่อหนี้ล้น 60% ต่อจีดีพี เข้าข่ายผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังทันที

“ส.ส.พรรคภูมิใจไทย” อภิปรายพุ่งเป้าโจมตีเรื่องกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหัวหอกแก้ปัญหาโควิด-19 ถูกตัดงบประมาณ 4,308 ล้านบาท พร้อมเตือนการจัดทำงบประมาณรอบนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาล นับจากนี้ไป “การเมืองไทย” จะเดินไปทิศทางใด เชิญชวนแฟนมติชนติดตามชนิดไม่กะพริบตา!!

จากวิกฤตโควิด-19 ของประเทศไทยรอบที่สาม จำนวนผู้ป่วยรายใหม่แม้จะมีแนวโน้มลดลง และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังขึ้นๆ ลงๆ แต่แนวโน้มก็ยังน่าห่วงดังนั้น มาตรการควบคุมป้องกันของภาครัฐ ผนวกกับการ์ดในการป้องกันตัวของประชาชนยังไม่แผ่ว แล้วประชาชนได้รับวัคซีน เชื่อว่าตัวเลขการเจ็บป่วยและเสียชีวิตน่าจะมีแนวโน้มลดลงแต่ถ้า “ผู้นำรัฐบาล” ยังไม่มีสติมั่นคง ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการสื่อสาร ก็น่าเป็นห่วงว่าสถานการณ์จะก่อวิกฤตศรัทธาขึ้นได้ในที่สุด

เมื่อเร็วๆ นี้ จากการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ซวนเซอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ท่านดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับบทบาทของสื่อยุคใหม่เอาไว้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง ซึ่งท่านเลขาฯกล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการสัมมนาว่า “ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยของเราต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่ๆ ทางเศรษฐกิจรวมถึง 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ 1) วิกฤตต้มยำกุ้ง 2) วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และวิกฤตล่าสุดในขณะนี้ซึ่งสาหัสมากๆ ได้แก่ 3) วิกฤตโควิด-19 นั่นเอง ประเด็นสำคัญที่ฝากข้อสังเกตไว้ก็คือ ในวิกฤต 2 ครั้งก่อนหน้านี้ บรรดาข่าวสารข้อมูลด้านเศรษฐกิจจะแพร่หลายสู่ประชาชนผ่าน “สื่อหลัก” เท่าที่มีอยู่ยุคนั้นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ทีวี หรือวิทยุ ก็มักจะมีระบบกลั่นกรองก่อนที่จะเผยแพร่ไป ต่างกับวิกฤตครั้งนี้ซึ่งเป็นยุคของ “โซเชียลมีเดีย” การแพร่กระจายของข้อมูลต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางมาก

ในทางบวกก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ประชาชนเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ขาดการตรวจสอบว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ ทำให้เกิด Fake News แพร่หลายไปด้วย ผลคือ ทำให้การบริหารจัดการ “ด้านเศรษฐกิจ” ยุ่งยากขึ้นกว่าในยุคก่อนๆ เพราะหลายครั้งที่ประชาชนหลงเชื่อข่าวปลอมไปเสียแล้วล่วงหน้า หากทบทวนดูย้อนประวัติศาสตร์ของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจด้วยความจริงอยู่มีมากกว่านั้นอีก

หากวิเคราะห์ดูจะพบว่า “สื่อหลัก” ในอดีตทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุหรือโทรทัศน์ ล้วนมีเวลาที่จะกลั่นกรองวิเคราะห์ตัดสินว่าอะไรเป็นข่าวจริง อะไรเป็นข่าวปลอม อะไรควรเสนอไม่ควรเสนอให้สังคมได้รับรู้ รู้คิด ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการประคองสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับช่วยให้สถานการณ์ดียิ่งขึ้น เช่น ปี พ.ศ.2527-2528 มีข่าวคราวออกมาว่ามีธนาคารแห่งหนึ่งประสบปัญหาสภาพคล่อง มีการเล่าลือกันมาก แต่สื่อหลักก็ไม่ได้นำข่าวลือที่ว่ามาลง หรือรายงานทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปอีก ประกอบกับวันหนึ่ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯในขณะนั้น ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยพูดกับนักข่าวมากนัก กลับเดินไปหากลุ่มผู้สื่อข่าวทำเนียบเสียเอง พร้อมกับกล่าวว่า “กระทรวงการคลังกับแบงก์ชาติ” แจ้งมาแล้วว่าสถานการณ์ของธนาคารแห่งนั้นแข็งแกร่งขึ้น

วันรุ่งขึ้นสื่อหลักทุกฉบับก็ตีหัวแม่ไม้ตัวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งว่า “ป๋าการันตี” ธนาคารดังกล่าวว่ามีสถานการณ์มั่นคง ทำให้วิกฤตของธนาคารแห่งนั้นซึ่งอาจจะบานปลายเป็นวิกฤตการเงินทั้งระบบ ได้กลับสู่ภาวะปกติในที่สุด

ถ้าหวนกับมาดู หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในยุค “โซเชียลมีเดีย” ครองโลกและสื่อหลักถูกลดบทบาทไปอย่างมาก ไม่แน่ใจว่า กระทรวงการคลัง หรือรัฐบาลยุคนั้น ขณะนั้นจะแก้ปัญหาได้อย่างไร

เพราะวันเวลาจากอดีตสู่ยุคศตวรรษที่ 21 โลกเราเปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อระบบการสื่อสาร การกระจายข่าวและการเสพข่าวของมนุษยชาติเปลี่ยนไป ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ก็คงต้องปรับตัว ปรับวิธีการบริหารในการที่จะตั้งรับความรวดเร็วของข่าวสารในยุคนี้ให้ได้อย่างเหมาะสม

“สื่อหลัก” ที่ยังมีบทบาทรับใช้ประชาชนอยู่อย่างมั่นคงน่าจะยังคงเป็น “เสาหลัก” ของบ้านเมืองได้อย่างดี โดยเฉพาะมีระบบ “กลั่นกรองข่าว” แยกแยะเนื้อหาข่าวได้ดีในเชิงสร้างสรรค์ก็จะทรงคุณค่าและ “บ้านเมือง” โดยเฉพาะสร้างให้เกิดความเป็นธรรมาภิบาล ความเป็น “ธรรม” กับสังคมและประเทศชาติได้อย่างดี

ดังนั้น “ผู้ส่งสาร” ไม่ว่าจะสื่อสารด้วยช่องทางใดก็ตาม ต้องมี “สติ สมาธิ ปัญญา” ส่วนผู้รับสารโดยเฉพาะ “ประชาชน” จำนวนมากซึ่งยังมี “สติสัมปชัญญะ” และยังแสวงหา “สื่อ” ที่พวกเขาพวกเราเชื่อถือได้ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็น ทุกวันนี้ที่เรายังมีลมหายใจก็ยังพบว่า “สื่อหลักของเมืองนอก หรือสื่อหลักของเมืองไทย” ที่ยังยืนอยู่ได้ด้วย “จรรยาบรรณ” ก็เพราะเขาถือและเสนอ “ข่าวจริง” เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เสนอให้ผู้รับสารคือ “ประชาชนทั้งประเทศ” ได้อ่านมองเห็นกับตา ฟังได้ยินกับหู เจริญด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ที่ดีแล้วเกิด “ศรัทธา”

ก่อนจบฉบับนี้ขอฝากแง่คิดดีๆ ให้ได้ลองตรึกตรอง

“คิดดี พูดดี ทำดี” นั้น “ดีแน่” และ “ความผูกพัน” ไม่ได้ “สร้างขึ้น ด้วย เวลา” แต่ สร้างขึ้นมาด้วย “ความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกัน” ทุกชีวิตล้วนมี “จุดยืน” ของตัวเอง มีภาระหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ที่ทุกคนมีเหมือนๆ กันคือ “คุณค่าความเป็นคน” กว่าจะมาเป็น “เพื่อนกัน” ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตและยังต้องมี “วาสนา” ต่อกัน ไม่มีใครทำถูกใจใครทุกอย่าง อาจพลั้งเผลอ “อย่าถือสา” จงรักกันใน “ข้อดี” ให้ “อภัย” ใน “ข้อเสีย” ของกันและกัน ถ้าคิด “ลบ” คงจบตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ถ้าคิด “หาร” คงเพิ่มอะไร!ไม่ได้ ถ้าคิด “คูณ” บางทีก็ “มากไป” ถ้าคิด “บวก” ด้วยใจชีวิตก็ “สุข” ได้ทุกๆ วัน อย่าเชื่อในสิ่งที่เรา “ยังไม่เห็น” น้ำใสใช่ว่าจะ “ไม่มีพิษ” คนสนิทใช่ว่าจะ “ไม่หักหลัง” เมื่อใจเย็นเห็นอะไรก็ “สวยงาม” เมื่อใจงามทำอะไรก็ “ล้ำเลิศ” เมื่อใจสูงคิดอะไรก็ “ประเสริฐ” เมื่อใจดีอะไรจะ “เกิด” ก็สบายๆ

คนเราได้มา “พบเจอ” กันมันคือ “วาสนา” ไม่ใช่ “ความบังเอิญ” โปรดดูแลกันให้ดีๆ เพราะบางที “วาสนา” ก็อยู่กับเราได้ไม่นาน ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image