นิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทย (Rule of Law and Legal State in The Thai society)

นิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทย (Rule of Law and Legal State in The Thai society)

นิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทย
(Rule of Law and Legal State in The Thai society)

ความนำ
เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมตั้งแต่บรรพกาลที่เป็นเผ่า เป็นรัฐ และขยายมาสู่การเป็นประเทศนั้น จำเป็นต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์กำหนดให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข สิ่งนั้นคือ กฎหมาย ซึ่งประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมายเรียกว่า นิติรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเป็นธรรมด้วยเรียกว่า นิติธรรม
นิติรัฐและนิติธรรมเป็นคำซึ่งสังคมไทยกล่าวถึงและยกขึ้นมาอ้างอิงกันอย่างกว้างขวางในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ และโดยส่วนมากมักใช้คำทั้งสองควบคู่กันไป แต่โดยรวมแล้วเป็นลักษณะที่ต้องการสื่อสารไปถึงการปกครอง โดยกฎหมายเป็นใหญ่ และการปกครองที่มีความเป็นธรรมสำหรับคนทุกคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ในสังคมยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการหรือสารัตถะว่าด้วยเรื่องดังกล่าวที่แตกต่างกันออกไป แม้มีงานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจำนวนไม่น้อย แต่การทำความเข้าใจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้คนทั่วไปในสังคม
นิติรัฐและนิติธรรมมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกันจึงเป็นเรื่องน่าสนใจในการทำความเข้าใจคำทั้งสองนี้ เพื่อนำมาประยุกต์กับสังคมไทยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเมืองการปกครองในปัจจุบันและอนาคต

ความหมาย

นิติรัฐ (Legal State)
เริ่มใช้คำนี้ในประเทศเยอรมนีว่า Rechtsstaat ซึ่งมาจากคำว่า Recht แปลว่ากฎหมาย และคำว่า Staat แปลว่ารัฐ หมายถึง รัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การปกครองด้วยตัวบุคคลที่มีอำนาจบารมี และใช้อำนาจตามอำเภอใจ นิติรัฐยอมรับกฎหมายเป็นใหญ่ คนบังคับใช้กฎหมายเป็นรอง สำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีประเด็นสำคัญในการอุดช่องว่างของกฎหมาย เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ฝ่ายปกครองจะกระทำมิได้

Advertisement

นิติธรรม (Rule of Law)
ความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง หลักพื้นฐานแห่งกฎหมายที่บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน

นิติรัฐและนิติธรรมในสังคมไทย

นิติรัฐในสังคมไทย
คือการมีกฎหมายเป็นพื้นฐานในสังคมไทย ซึ่งทำให้เกิดบทบาทของกฎหมายในการลำดับชั้นของกฎหมายและการแบ่งประเภทของศาลไทย ดังต่อไปนี้

Advertisement

1.ลำดับชั้นของกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบการใช้กฎหมาย ได้แก่
(1) รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายในลำดับสูงสุดยิ่งกว่ากฎหมายหรือกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม
(2) กฎมณเฑียรบาล คือระเบียบการปกครองในราชสำนัก และประกาศคณะปฏิวัติ มีความเห็นทางวิชาการได้สองนัยโดยมีฐานะเท่ากับรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเพียงพระราชบัญญัติ
(3) พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และประมวลกฎหมาย
(3.1) พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายที่ผ่านกระบวนการพิจารณาโดย รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ พระราชบัญญัติเป็นกฎหมายหลักที่ใช้อย่างกว้างขวาง รวมถึงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ครอบคลุมการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นด้วย
(3.2) พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกในภาวะเร่งด่วน ซึ่งต้องผ่านความเห็นจากรัฐสภาเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติ
(3.3) ประมวลกฎหมาย คือกฎหมายที่รวบรวมสาระหรือเรื่องต่างๆ ให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน เมื่อใช้บังคับให้ตราเป็นพระราชบัญญัติให้ใช้ เช่น พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญา เป็นต้น และมีลำดับเท่ากับพระราชบัญญัติ
(4) พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ออกโดยอำนาจของพระราชบัญญัติต่างๆ
(5) กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับกิจการของกระทรวงนั้นๆ โดยรัฐมนตรีว่าการแต่ละกระทรวงมีอำนาจในการออกกฎกระทรวงนี้
(6) กฎหมายที่เป็นข้อบังคับของท้องถิ่น ได้แก่ ข้อบังคับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบัญญัติ ข้อบังคับองค์การบริหารส่วนตำบล และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

2.ประเภทศาล นิติรัฐแบ่งศาลเป็น 4 ประเภท ได้แก่
(1) ศาลยุติธรรม พิจารณาคดีแพ่ง และคดีอาญาทั่วไป รวมถึงศาลพิเศษคือศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย กับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
(2) ศาลปกครอง พิจารณาคดีที่พิพาทระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ
(3) ศาลทหาร พิจารณาคดีที่พิพาทหรือการกระทำความผิดของทหาร
(4) ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันแยกเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ศาลทุกประเภทมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาความของศาลกำกับให้เป็นมาตรฐานตามกฎหมาย

นิติธรรมในสังคมไทย
นิติรัฐจากกฎเกณฑ์เป็นกฎหมายให้เป็นกรอบหรือมาตรฐานในสังคม ส่วนนิติธรรมมุ่งการนำกฎหมายมาบังคับใช้ให้เป็นธรรม ซึ่งสังคมไทยมีลักษณะโดดเด่น 3 ประการ ได้แก่ ศาสนาพุทธ หลักคิดพระราชา และหลักธรรมาภิบาล ดังนี้

1.ศาสนาพุทธ ซึ่งคนไทยส่วนมากนับถือนั้นใช้หลักเหตุผลหรือธรรมชาติปัจจัยสำคัญคือ หลักพุทธธรรม ซึ่งนำพุทธบัญญัติในพระไตรปิฎกมาประยุกต์กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เช่น หิริโอตตัปปะ ความละอายและเกรงตัวต่อบาปนำมาพิจารณาในการใช้บังคับกฎหมายให้เป็นธรรมหรือนิติธรรมได้ เป็นต้น ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์
ปยุตฺโต) ให้ความเห็นว่างานของรัฐหรืองานของแผ่นดินรวมถึงการใช้กฎหมายจะเกิดผลดีได้ต้องนำหลักพุทธธรรมมาเป็นรากฐาน

2.หลักคิดพระราชา จากพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สอบไล่ได้วิชาความรู้ชั้นเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 33 ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2524 ความว่า กฎหมายนั้นไม่ใช่ตัวความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง สำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรมไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทของกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินก็มิได้มีวงแคบอยู่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปให้ถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุและผลตามความเป็นจริงด้วย

3.หลักธรรมาภิบาล (good governance) หรือหลักการบริหารงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ธรรมาภิบาลในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มีหลักพื้นฐาน 6 ประการ หลักสำคัญประการหนึ่ง คือ หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้องเป็นธรรม การบังคับใช้กฎหมาย การกำหนด กฎ กติกา และการปฏิบัติตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมเป็นหลัก
หลักนิติธรรมในประเด็นของธรรมาภิบาลนี้ ได้นำไปปรับใช้กับหน่วยงานและองค์ต่างๆ ซึ่งช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งให้เกิดความเป็นธรรมด้วย

กล่าวโดยสรุป

นิติรัฐและนิติธรรมเป็นคำที่เริ่มใช้ในวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การบริหารองค์กรต่างๆ คำทั้งสองเป็นความสำคัญกับการเมืองการปกครองโดยนักคิดตั้งแต่สมัยเพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) และเป็นแนวคิดพื้นฐานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อรัฐและประเทศทั้งหลายปกครองด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดนิติรัฐและนิติธรรมขยายแนวคิดมาถึงปัจจุบันนี้ ความสัมพันธ์ของนิติรัฐและนิติธรรมมีลักษณะความเหมือนบนความแตกต่าง กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับกฎหมายเป็นหลักการเมืองการปกครองเช่นเดียวกัน โดยนิติรัฐเป็นรูปแบบของกฎหมาย และนิติธรรมเป็นการบังคับใช้กฎหมาย จุดร่วมคือความเป็นธรรม ทั้งนิติรัฐและนิติธรรมมีเป้าประสงค์เดียวกันคือความเป็นธรรม โดยการบัญญัติกฎหมายของนิติรัฐต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม

และการใช้กฎหมายในวาระ ต่างๆ ต้องมีความยุติธรรมด้วย

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image