เดินหน้าชน : วัคซีน‘อปท.’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

แล้วทุกอย่างก็คลี่คลายลง ตามที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศ 6 ข้อกำหนดบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อเร่งแผนฉีดวัคซีนให้ประชาชน 50 ล้านคน ตาม “วาระแห่งชาติ” เป็นการปลดล็อกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ ที่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ตัวเอง มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา

โดยขอขีดเส้นใต้เน้นข้อที่ 5 ระบุว่า “โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด”

ก่อนที่บรรทัดต่อมาระบุว่า การดำเนินการของ อปท.นี้ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งก็มีผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤตมีความเป็นธรรมมากที่สุด และเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) พูดได้ชัดเจนมากในเรื่องนี้ และก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว พร้อมจะจัดฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน หรือที่นัดไว้พร้อมกันทั่ว อปท.

Advertisement

“นายกนครยะลา” ระบุว่า ได้สั่งจองโดยตรงไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมกับแผนการดำเนินการของเทศบาลสอดคล้องกับทางจังหวัดยะลาในการจัดฉีดให้ไปพิจารณาแล้วทั้งหมด ยืนยันหนักแน่นว่า การช่วยหาวัคซีนเพื่อฉีดให้ประชาชนต้องการให้เกิดการครอบคลุมมากที่สุด จะทำให้คนสังคมมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติได้ หากทำให้วงจรธุรกิจมีโอกาสขับเคลื่อนได้เหมือนเดิม อปท.ก็จะมีรายได้กลับเข้ามา

เพราะสุดท้ายแล้ว เทศบาลที่มีหลายพันแห่งจึงไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้โดยตรงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เทศบาลพร้อมจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยศักยภาพของตัวเองก่อน

นั่นคือภาพใหญ่ที่ว่าทำไม อปท.ต้องเข้ามามีบทบาทอีกทางหนึ่ง ในขณะที่รัฐบาลก็จัดฉีดให้อยู่แล้ว เพราะปกติคลัสเตอร์ติดเชื้อโควิดที่ระบาดหนักในแต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนหนาแน่นทั้งสิ้น ดังนั้น ถ้าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วก็เท่ากับลดการแพร่เชื้อในชุมชนลงได้

Advertisement

ส่วนความเหลื่อมล้ำของรายได้แต่ละ อปท. โดยเฉพาะสถานะทางการเงินการคลังของเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล อาจมีไม่เท่าเทียมกันนั้น

นายกนครยะลากล่าวว่า การจัดซื้ออาจจะไม่ครบทุกเทศบาลในทันที อยู่ที่ปัจจัยทางการคลัง แนวโน้มการระบาดของโรค ถ้ามองในเชิงพื้นที่เทศบาลตำบล งบประมาณมีไม่มากอยู่แล้ว แต่ต้องดูที่จำนวนประชากรด้วยก็มีน้อยกว่าเทศบาลเมืองและเทศบาลนครแล้ว

ดังนั้น เทศบาลตำบลซึ่งมีรายได้น้อย ต้องขอใช้เงินสะสมออกมาจัดซื้อ

ที่สำคัญ ในฐานะที่นายกนครยะลาเป็นนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ด้วยอีกตำแหน่ง เผยว่า ได้หาช่องทางเพื่อช่วยเหลือเทศบาลที่เป็นสมาชิก ส.ท.ท. โดยจะนำเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการ ส.ท.ท.ให้พิจารณาลดรายจ่ายค่าบำรุงรายปีที่เทศบาลสมาชิกต้องจ่ายทุกปี คาดว่าจะลดลงร้อยละ 30 เพื่อนำไปช่วยเทศบาลในการจัดซื้อวัคซีน

นอกจากนั้นจะดูว่าสันนิบาตเทศบาลระดับภาคได้รับค่าบำรุงรายปีจาก ส.ท.ท.ร้อยละ 60 จะมีแนวทางช่วยเหลือสมาชิกหรือไม่อย่างไร

สำหรับแผนการนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ล็อตแรกจะเข้ามาถึงวันที่ 20-21 มิถุนายนนี้ ประมาณ 1 ล้านโดส ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ตรวจ 2-3 วัน ก่อนจะกระจายออกไป จากนั้นวัคซีนซิโนฟาร์มจะถูกนำส่งเข้ามาตามออเดอร์อยู่ระหว่างไตรมาส 3-4 คาดว่าวัคซีนซิโนฟาร์มจะมาอีกประมาณ 5-6 ล้านโดส

นี่คือความคืบหน้าที่น่าสนใจและติดตามกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image